ด่วน ! มติศาล รธน. 6 : 3 รับคำร้องชี้ขาด 'เศรษฐา' ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

ด่วน ! มติศาล รธน. 6 : 3 รับคำร้องชี้ขาด 'เศรษฐา' ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

ด่วน ! มติศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมาก 6 : 3 รับคำร้อง ชี้ขาดคุณสมบัตินายกฯ"เศรษฐา" แต่เสียงข้างมากเฉียดฉิว 5 : 4 ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาใน 15 วัน มติ 8 : 1 ไม่รับคำร้อง "พิชิต" เหตุชิงลาออกไปแล้ว

เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2567 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่น่าสนใจ เรื่องพิจารณาที่ 17/2567 กรณีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้ร่วมกันเข้าชื่อถึงประธานวุฒิสภา เพื่อส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ให้วินิจฉัยสถานะตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของนายเศรษฐา ทวีสิน และตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของนายพิชิต ชื่นบาน

โดยกล่าวหาว่า มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ประเด็นว่าด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา และศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเข้าระบบธุรการเมื่อ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา

ด่วน ! มติศาล รธน. 6 : 3 รับคำร้องชี้ขาด \'เศรษฐา\' ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

โดยสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 40 คน ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา(ผู้ร้อง) ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 2) เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่รู้ หรือควรรู้อยู่แล้วว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

เนื่องจากผู้ถูกร้องที่ 2 เคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลาหกเดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริตและมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสองสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ ผู้ร้องจึงส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82

ด่วน ! มติศาล รธน. 6 : 3 รับคำร้องชี้ขาด \'เศรษฐา\' ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (9) 

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ เสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง มีคำสั่งรับคำร้องผู้ถูกร้องที่ 1 ไว้พิจารณา และให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 54 โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย คือ

  • นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์
  • นายอุดม รัฐอมฤต
  • นายสุเมธ รอยกุลเจริญ 

สำหรับกรณีของผู้ถูกร้องที่ 2 ได้มีคำร้องของผู้ถูกร้องที่ 2 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 แจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (2) กรณีไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยคดีต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 51 

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ เสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง มีคำสั่งไม่รับคำร้องเฉพาะส่วนของผู้ถูกร้องที่ 2 ไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยคือ

  • นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีขอให้ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 82 วรรคสอง แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง

ในชั้นนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ เสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง ไม่สั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่ แจ้งให้คู่กรณีทราบ โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย คือ

  • นายปัญญา อุดชาชน
  • นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม
  • นายวิรุฬห์ แสงเทียน
  • นายจิรนิติ หะวานนท์