'พริษฐ์' ร่วมเสวนา ขรก.กองทัพ 'เลิกเกณฑ์ทหาร' ชี้ไม่กระทบความมั่นคง

'พริษฐ์' ร่วมเสวนา ขรก.กองทัพ 'เลิกเกณฑ์ทหาร' ชี้ไม่กระทบความมั่นคง

'ไอติม พริษฐ์' ร่วมวงเสวนากับข้าราชการกองทัพ แลกเปลี่ยนนโยบาย 'ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร' ชี้ปกป้องเสรีภาพประชาชน ไม่กระทบความมั่นคงประเทศ ย้ำรับฟังความเห็นกำลังพล ร่วมกันหาทางออก

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2567 ที่อาคารรัฐสภา มีการจัดงานสัมมนา “พลทหารปลอดภัย” โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนราษฎร มีข้าราชการกองทัพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมวงสัมมนาครั้งนี้จำนวนมาก เริ่มจากในช่วงเช้ามีการเสวนา “บทบาทของคณะกรรมาธิการทหารกับการพัฒนากองทัพ” โดย ร.ท.ธนเดช เพ็งสุข สส.กทม. เขต 13 พรรคก้าวไกล และนายเอกราช อุดมอำนวย สส.กทม. เขต 10 พรรคก้าวไกล นำวงพูดคุยแลกเปลี่ยนในหลายประเด็น เช่น ความปลอดภัยและมาตรฐานในกระบวนการฝึกทหาร สวัสดิภาพและสิทธิของพลทหาร การยกเลิกเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นต้น

ต่อมาช่วงบ่าย มีการบรรยายพิเศษหัวข้อ “กองทัพไทยกับภารกิจการเกณฑ์ทหาร” โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เมื่อพูดถึงข้อเสนอยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารของพรรคก้าวไกล มักมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนบางประการ ซึ่งตนขอชี้แจงว่าพรรคก้าวไกลไม่เคยเสนอให้ไม่มีทหาร หรือเสนอให้ยกเลิกกองทัพ เพียงแต่เสนอให้มีการยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร ให้ประกอบด้วยคนที่สมัครใจเข้ามาเป็นทหาร 100% และที่สำคัญที่สุดคือพรรคก้าวไกลไม่ได้เสนอข้อเสนอที่เป็นปฏิปักษ์กับกองทัพ แต่เป็นข้อเสนอเพื่อปฏิรูปกองทัพให้สามารถทำภารกิจรักษาความมั่นคงประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นที่เชื่อมั่นและไว้วางใจของประชาชนมากขึ้น

\'พริษฐ์\' ร่วมเสวนา ขรก.กองทัพ \'เลิกเกณฑ์ทหาร\' ชี้ไม่กระทบความมั่นคง

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ สามเหตุผลหลักที่พรรคก้าวไกลเสนอยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ คือ

1) การบังคับคนที่ไม่อยากเป็นทหารใหเมาเป็นทหารมีราคาที่ต้องจ่าย ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลที่อาจต้องสูญเสียงานและรายได้ที่ได้อยู่ สูญเสียช่วงเวลาที่จะได้ใช้กับครอบครัว รวมทั้งราคาที่ประเทศต้องจ่าย ก็คือการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจากการดึงทรัพยากรแรงงานออกจากระบบ โดยเฉพาะในยามที่ประเทศกำลังเข้าสู่วิกฤติสังคมสูงวัย สัดส่วนประชากรวัยทำงานลดน้อยลงมาก 

2) การบังคับเกณฑ์ทหารไม่จำเป็นต่อการรักษาความมั่นคง หากเราร่วมมือกันในการลดยอดพลทหารที่กองทัพขอ แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคง (เช่น พลทหารรับใช้) หรือไม่จำเป็นต่อการรักษาความมั่นคงในบริบทของภัยความคุกคามรูปแบบใหม่ (เช่น งานที่ทดแทนได้โดยเทคโนโลยี) คู่ขนานกับการเพิ่มจำนวนคนที่อยากสมัครเป็นทหาร ผ่านการยกระดับคุณภาพชีวิตพลทหารให้มีรายได้-สวัสดิการที่มั่นคง มีหลักประกันเรื่องความปลอดภัย และมีเส้นทาวความก้าวหน้าทางอาชีพมากขึ้น

\'พริษฐ์\' ร่วมเสวนา ขรก.กองทัพ \'เลิกเกณฑ์ทหาร\' ชี้ไม่กระทบความมั่นคง

3) การยกเลิกกลไกการบังคับเกณฑ์ทหาร จะเพิ่มแรงจูงใจให้กองทัพปฏิรูปตนเองและแก้ปัญหาความรุนแรงในค่าย ในเชิงเศรษฐศาสตร์หากมีองค์กรหนึ่งสามารถบังคับคนให้มาทำงานตามจำนวนที่ตัวเองต้องการได้ จะมีความเสี่ยงที่ผู้บริหารขององค์กรดังกล่าวจะปล่อยประละเลยคุณภาพชีวิตของคนทำงาน เพราะแม้ไม่มีใครอยากสมัครมาทำงานในองค์กรนั้น องค์กรก็บังคับคนมาทำงานได้ แต่หากมีการยกเลิกกฎหมายนั้นไป และคุณภาพชีวิตพนักงานไม่ดีจนคนแห่ลาออกหรือสมัครน้อย ผู้บริหารองค์กรก็จะต้องปรับปรุงองค์กรเพื่อให้มีแรงจูงใจให้คนสมัครเข้ามาทำงานได้ตามจำนวนที่ต้องการ ในลักษณะเดียวกัน การยกเลิกการบังคับการเกณฑ์ทหารจึงอาจเป็นวิธีหนึ่งในการกระตุ้นให้ผู้บริหารและผู้บังคับบัญชาทุกคนทั่วประเทศในกองทัพต้องจริงจังกับการปฏิรูปกองทัพมากขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตพลทหารและทำให้คนสมัครมามากขึ้น

นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมามีคนถูกบังคับเป็นทหารทั้งหมดประมาณ 47,000 คน ลดลง 18% จากปีก่อน เนื่องจากยอดพลทหารที่กองทัพขอลดลง 9% ในขณะที่ยอดคนสมัครเพิ่มขึ้นประมาณ 7% ซึ่งนับว่าเป็นทิศทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงมี 47,000 ชีวิตที่ต้องไปทำอาชีพที่ไม่ได้อยากทำและมีราคาที่ต้องจ่าย

\'พริษฐ์\' ร่วมเสวนา ขรก.กองทัพ \'เลิกเกณฑ์ทหาร\' ชี้ไม่กระทบความมั่นคง

ภายใต้บริบทเช่นนี้ ได้มีหลายภาคส่วนเสนอทางเลือกหลักมาทั้งสามทาง คือ

1) การไม่ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่ใช้การลดจำนวนคนที่ถูกบังคับเกณฑ์ทหาร

2) พยายามยกเลิกการเกณฑ์ทหาร โดยการทำให้ยอดสมัครแต่ละปี สูงกว่ายอดกำลังพลที่กองทัพขอ จนทำให้ไม่มีใครต้องถูกบังคับเกณฑ์ในทางปฏิบัติ แม้กฎหมายมีการบังคับเกณฑ์ยังมี

3) ซึ่งเป็นทางเลือกที่พรรคก้าวไกลเสนอ คือการเสนอแก้กฎหมาย พ.ร.บ.รับราชการทหาร 2497 เพื่อยกเลิกอำนาจกองทัพในการบังคับคนมาเป็นทหารในยามที่ไม่มีภัยสงคราม ซึ่งโดยสรุปแล้วมีเนื้อหาหลัก คือยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารในยามปกติ, ยกระดับคุณภาพชีวิตของพลทหาร, ห้ามการนำทหารไปทำงานรับใช้ส่วนตัวหรือเป็น “พลทหารรับใช้”, รับประกันความปลอดภัยของพลทหาร จากการถูกละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, ทบทวนรายได้ สวัสดิการ และ สิทธิประโยชน์ของพลทหารให้เหมาะสมขึ้น, เปิดให้บุคคลทุกเพศสามารถสมัครเป็นทหารได้, และการออกแบบขั้นตอนธุรการให้ทันสมัยขึ้น เป็นต้น

นายพริษฐ์ยังได้ชักชวนกำลังพลกว่า 200 นายที่เข้าร่วมการสัมมนาในวันนี้ ให้ร่วมทำแบบสำรวจความเห็นด้วยต่อรายละเอียดในร่างกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหารทั้ง 8 ประเด็น วัดผลความเห็นด้วยเป็นคะแนนตั้งแต่ระดับ 1 ไปถึง 10 โดยผลสำรวจออกมาพบว่ามีส่วนที่เห็นด้วยคือ

1) ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารในยามปกติ 5.1 คะแนน

2) เปิดให้บุคคลทุกเพศสมัครเป็นทหารกองประจำการได้ 5.3 คะแนน

3) ห้ามมีพลทหารรับใช้ 8.2 คะแนน

4) กำหนดให้หลักสูตรฝึกวิชาทหารส่งเสริมความรู้ด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน 8.2 คะแนน

5) รับประกันความปลอดภัยของพลทหารจากการถูกละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 9 คะแนน

6) ทบทวนรายได้ สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการของพลทหารให้เหมาะสมขึ้น 9.1 คะแนน

7) ปรับระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่ของพลทหารให้ยืดหยุ่นขึ้นโดยคำนึงถึงความก้าวหน้าทางอาชีพ 7.5 คะแนน

8 ) ให้รายละเอียดและขั้นตอนธุรการถูกกำหนดโดยกฎกระทรวงแทนที่กฎหมายระดับ พ.ร.บ. อย่างในปัจจุบัน เพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง 7.7 คะแนน