'ธนาธร' เล่าประสบการณ์ดับไฟป่า อุปกรณ์ขาดแคลนเพียบ รัฐควรจัดสรรมากกว่านี้

'ธนาธร' เล่าประสบการณ์ดับไฟป่า อุปกรณ์ขาดแคลนเพียบ รัฐควรจัดสรรมากกว่านี้

'ธนาธร' เล่าประสบการณ์ร่วมกระจกเงาดับไฟป่า ขอบคุณที่ให้โอกาสเรียนรู้จากหน้างานจริง เผยได้คุยเจ้าหน้าที่-อาสาอุทยาน พบขาดแคลนอุปกรณ์ทำงานทุกอย่าง มองรัฐควรจัดสรรงบประมาณได้ดีกว่านี้

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2567 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานมูลนิธิคณะก้าวหน้า ถ่ายทอดประสบการณ์การร่วมภารกิจดับไฟป่ากับมูลนิธิกระจกเงาและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 7-8 เม.ย.2567 พร้อมสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นหน้างาน โดยเฉพาะจากเจ้าหน้าที่ในส่วนราชการที่ขาดการสนับสนุน

นายธนาธร ระบุว่า วัตถุประสงค์ในการร่วมภารกิจดับไฟป่าครั้งนี้ ตนต้องการประสบการณ์มือหนึ่งที่จะทำให้เข้าใจว่าหน้างานเป็นอย่างไร เจ้าหน้าที่และอาสาต้องเหนื่อยแค่ไหน ต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง และหากได้มีโอกาสเสนอแนะนโยบายกับหน่วยราชการจะได้เสนอได้อย่างถูกต้อง และเมื่อวันหนึ่งที่มีอำนาจจะได้แก้ไข จัดสรรงบประมาณ จัดสรรทรัพยากรกำลังคน ออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาได้ถูกต้องตรงจุด

นายธนาธร ระบุอีกว่า จากการได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ทำให้ตนได้รู้ว่าการจัดสรรทรัพยากรให้เจ้าหน้าที่หน้างานนั้นไม่เพียงพอและไม่ตรงความต้องการ เช่น มอเตอร์ไซค์ที่ต้องใช้ในการดับไฟต้องเป็นประเภทวิบาก แต่การจัดซื้อภาครัฐไม่สามารถซื้อมอเตอร์ไซค์ประเภทนี้ได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเสียเงินตัวเองไปดัดแปลงมอเตอร์ไซค์ หรือการที่ขอโดรนความร้อนไปทุกปีแต่ส่วนกลางกลับตัดรายการนี้ออก ทั้งที่โดรนมีประโยชน์มหาศาล แม้ราคาจะตกอยู่ที่ตัวละประมาณ 2 แสนบาท แต่ใช้งานได้นาน ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่มีความปลอดภัย ปัญหานี้สะท้อนชัดเจนมากว่าคนที่อยู่หน้างานรู้ว่าต้องการอะไรในการสู้ไฟ แต่คนที่ตัดสินใจใช้งบประมาณกลับไม่มีความเข้าใจกันและไม่เคยมาดูหน้างาน

\'ธนาธร\' เล่าประสบการณ์ดับไฟป่า อุปกรณ์ขาดแคลนเพียบ รัฐควรจัดสรรมากกว่านี้

นายธนาธร ระบุด้วยว่า นอกจากนี้ ตนยังมีโอกาสได้พูดคุยกับอาสาสมัครอุทยานระดับปฏิบัติการด้วย พบว่าอาสาสมัครที่ได้รับผลตอบแทนเพียง 300 บาทต่อวันต่างต้องทำงานอย่างหนัก แบกอุปกรณ์ขึ้นเขาสูงชัน เผชิญไฟที่อันตราย โดยที่อุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเป่า ทีมสื่อสาร โดรน หรืออุปกรณ์รักษาความปลอดภัย กลับไม่เพียงพอ เป็นที่พิสูจน์ว่าสิ่งที่ตนได้ทราบมาก่อนหน้านี้ว่าภาครัฐไม่มีการเตรียมทรัพยากรในการต่อสู้กับไฟป่าอย่างเพียงพอนั้นเป็นเรื่องจริง และทำให้ภาระต้องตกไปอยู่กับประชาชน

“เหมือนส่งคนไปรบแต่ไม่ติดอาวุธให้ ในขณะที่ทีมกระจกเงาพร้อมกว่าอย่างเห็นได้ชัด ทั้งด้านจำนวนคน อุปกรณ์ครบครัน เครื่องมือทันสมัยกว่า มาตรฐานการทำงานที่รัดกุมมากกว่า ผมเห็นใจเจ้าหน้าที่อุทยานที่อยู่ด่านหน้าอย่างมากที่ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอและขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกคน” นายธนาธร ระบุ

\'ธนาธร\' เล่าประสบการณ์ดับไฟป่า อุปกรณ์ขาดแคลนเพียบ รัฐควรจัดสรรมากกว่านี้

ประธานคณะก้าวหน้า ระบุว่า สิ่งที่ชัดที่สุดที่ตนได้มาเรียนรู้จากการทำภารกิจร่วมกันในครั้งนี้ คือการจัดทีม ความสำคัญของการวางแผน ระบบลำเลียงทรัพยากร ระบบความปลอดภัย ระบบปฐมพยาบาล ที่ทำให้ตนเห็นว่าการจัดสรรงบประมาณและบุคลากรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพเป็นไปได้ ซึ่งสิ่งนี้ไม่ควรเป็นงานของเอกชน แต่ควรเป็นการบริหารจัดการของภาครัฐ โดยจะนำความรู้เหล่านี้มาเสนอแนะแก่ข้าราชการ เจ้ากรม และเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้องที่ส่วนกลางที่อาจขาดความเข้าใจในปัญหาหน้างานและความลำบากของผู้ปฏิบัติงานจริง จนทำให้นโยบายและการจัดสรรงบประมาณไม่สอดคล้องกับการแก้ปัญหา และหากวันหนึ่งมีอำนาจในการจัดการจะนำความรู้ที่ได้รับในสองวันนี้ มาใช้ในการออกนโยบายและจัดสรรงบประมาณอย่างดีที่สุด

“ผมคิดว่าทีมกระจกเงาเป็นทีมที่มีความมุ่งมั่นสูง เป็นทีมที่มีระบบการบริหารจัดการที่ดีเยี่ยม เป็นทีมที่เอาจริงเอาจัง ดังนั้นก็มีแต่คำขอบคุณสำหรับความรู้และประสบการณ์ ในตลอดสองวันที่อยู่ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา ถ้าวันไหนมีโอกาสมีอำนาจมีงบประมาณ ก็จะเอาความรู้และประสบการณ์ที่ได้มาในสองวันนี้ ไปทำให้ระบบการบริหารจัดการไฟป่าดีกว่านี้” ประธานคณะก้าวหน้า ระบุ