เปิดปฏิบัติการ‘ไฟลต์บินพิเศษ’ สู้รบเมียนมาลาม 3 จว.ไทย

เปิดปฏิบัติการ‘ไฟลต์บินพิเศษ’  สู้รบเมียนมาลาม 3 จว.ไทย

การสู้รบระหว่าง "ทหารเมียนมา-กลุ่มต่อต้าน"กำลังดุเดือดเลือดพล่านหวังแย่งชิงเมืองเมียวดี ส่วน "ไทย"รับบทหนักกับภัยคุกคามรอบด้าน ท่ามกลางสายบังคับบัญชาด้านความมั่นคง ส่อเกิดปัญหา

KEY POINTS :

  • ไทยตกอยู่ในความเสี่ยงต้องรับมือคลื่นอพยพมหาศาล 
  • ปฏิบัติไอโอโจมตีไทยหวังให้เลือกข้าง ดูแลผู้อพยพจากการสู้รบตามหลักมนุษยธรรม

งานด้าน“ความมั่นคง” ยังเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน วัดจากการเตรียมพร้อมรับมือการสู้รบในเมียนมาที่ส่งผลกระทบประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมกับปัญหาความสัมพันธ์ของคนในรัฐบาลและกองทัพ

ทันทีที่เมียวดี ประเทศเมียนมา ตกอยู่ภายใต้การควบคุมกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมา พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ลงพื้นที่ด่วน เน้นย้ำการปฏิบัติงานของ"กองกำลังสุรสีห์

เพราะพื้นที่ต่อไปของชายแดนด้านตะวันตกที่จะได้รับผลกระทบต่อจาก จ.ตาก คือชายแดนไทย-เมียนมา จ.ราชบุรี และ จ.เพชรบุรี ระยะทาง 193 กิโลเมตร รวมถึงพื้นที่ 5 อำเภอ จ.กาญจนบุรี ระยะทาง 371 กิโลเมตร คือ อ.สังขละบุรี  อ.ทองผาภูมิ อ.ไทรโยค อ.เมืองกาญจนบุรี อ.ด่านมะขามเตี้ย

โดย พล.อ.เจริญชัย รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์และแผนปฏิบัติงานที่สำคัญของหน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ กรมทหารราบที่ 9 กรมทหารพรานที่ 14 และกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 137 ณ ฐานปฏิบัติการตะโกปิดทอง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่งหน่วยได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ทุกมิติ ตามพันธกิจการป้องกันประเทศของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก 

ส่วนพื้นที่ "กองกำลังนเรศวร" รับผิดชอบพื้นที่ตั้งแต่ จ. แม่ฮ่องสอน จ.ตาก ระยะทาง 500 กิโลเมตร ยังต้องเกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด "ค่ายผาซอง" ฐานทหารเมียนมา ตั้งอยู่ในตัวเมืองเมียวดี ห่างจากแนวชายแดนไทย ประมาณ 5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งของ บก.พัน.ร.275 กองพันปืนใหญ่ที่ 310 และ บก.พล.ร.เบา 44 ส่วนหน้า เหลือเพียงหนึ่งเดียวยังไม่ถูกกลุ่มต่อต้านบุกยึด

ประเทศไทยตกอยู่ในความเสี่ยงต้องรับมือคลื่นอพยพมหาศาล ประเดประดังเข้ามาตามชายแดนตลอดแนวชายแดนด้านตะวันตก ซึ่งประเมินกันแล้วว่า สถานที่ปลอดภัยเตรียมไว้กว่า 100 จุด รองรับได้ 1 แสนคนอาจไม่เพียงพอ 

เมืองเมียวดี พื้นที่หมายปองชนกลุ่มน้อยอย่างต่ำ 4 กลุ่ม ต้องการแย่งชิงควบคุมให้ได้เบ็ดเสร็จ เพราะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ศูนย์กลางการค้าสำคัญสร้างผลประโยชน์มหาศาล ที่รัฐบาลเมียนมาพยายามปกป้อง ด้วยปฏิบัติการอากาศยานโจมตีทางอากาศ ส่งเครื่องบินหลากหลายชนิด รวมถึงเครื่องบิน MIG 29 ออกปฏิบัติการ

ปัจจุบัน กองทัพบก โดยกองกำลังนเศวร ยังคงต้องรับบทหนักใช้กลไกที่มีอยู่ประสานไปยังฝ่ายเมียนมา ผ่านกลไก คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค ไทย – เมียนมา หรือ RBC และ คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น TBC ไทย-เมียนมา รวมถึงกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย  หวังลดผลกระทบตามแนวชายแดน 

ท่ามกลางปฏิบัติการด้านข่าวสาร(ไอโอ) หวังเรียกร้องให้ไทยเลือกข้าง ดูแลผู้อพยพจากการสู้รบตามหลักมนุษยธรรม ด้วยการสร้างภาพความรุนแรงของทหารเมียนมา ผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ ทำให้เกิดความกวาดกลัวต่อประชาชนทั้งสองฝั่ง ให้เกิดการอพยพกระจายไปในพื้นที่ต่างๆเป็นวงกว้าง  อีกทั้งยังต้องการดึงองค์กรระหว่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วม

เช่นเดียวกับ ไฟลต์บินเร่งด่วนของรัฐบาลเมียนมาลงจอดที่ท่าอากาศนานาชาติแม่สอดคืนวันอาทิตย์ที่ 7 เม.ย. ช่วงหยุดยาว3วันของไทย เพื่อขออพยพข้าราชการเมืองเมียวดี ได้แก่ ตม. ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทำงานในศาลากลางและส่วนราชการอื่นๆ หลัง 2 ฐานทหารเมียนมาถูกกลุ่มต่อต้านบุกยึดได้สำเร็จ

รัฐบาลเมียมา สั่งการผู้ช่วยทูตทหารเมียนมา ประจำประเทศไทยให้ประสานกับไทย โดยตามขั้นตอนต้องใช้ผ่านกลไกคณะกรรมการชายแดนระดับพื้นที่ ส่งเรื่องให้กองทัพภาคที่ 3  พิจารณาผลกระทบ หากเป็นเรื่องใหญ่ส่งต่อมายังส่วนกลางคือ กองทัพบก เพื่อรายงาน ผบ.ทบ. ก่อนนำเรื่องเรียน รมว.กลาโหม เพื่อเสนอรัฐบาลต่อไป

ผู้ช่วยทูตทหารเมียนมา ประสานกับคนใน "กองทัพไทย" พร้อมได้รับคำแนะนำใช้ช่องทางกระทรวงต่างประเทศ โดยไม่ผ่านขั้นตอนต่างๆของกองทัพ พร้อมนำเสนอไปยัง "นายกฯไทย"โดยตรง ก่อนจะเป็นที่มาของการอนุมัติ ท่ามกลางปฏิบัติการไอโอ ไทยเปิดสนามบินแม่สอดให้รัฐบาลเมียนมา ขนเงิน อาวุธ และทหารกลับประเทศ

มีรายงานข่าวว่า คนในกองทัพบกฟาดคนในกองทัพไทยกับปฏิบัติการลำเส้น  ซึ่งส่งผลกระทบโดยรวมต่องานด้านความมั่นคงตามแนวชายแดน รวมถึงจุดยืนความเป็นกลางของไทย การเปิดสนามบินนานาชาติแม่สอด โดยไม่ขอความเห็นจากกองทัพบก ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง

เช้าก่อนประชุม ครม. นายกฯ เรียกประชุมด่วนกรณีเครื่องบินพาณิชย์เมียนมาลงจอด ที่สนามบินนานาชาติแม่สอด จังหวัดตาก โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมทั้ง ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ จักรพงษ์ แสงมณี รมช.ต่างประเทศ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขานุการ รมว.กลาโหม พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทสส. พล.อ.เจริญชัย​ หินเธาว์​ ผบ.ทบ. ฉัตรชัย​ บางชวด รองเลขาฯ สมช.  แต่ปรากฎว่าไม่มี "สุทิน คลังแสง" รมว.กลาโหม 

"สุทิน" ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุม ครม.ด้วยสีหน้าไม่สู้ดีนัก พร้อมออกตัวสาเหตุที่เป็นเพียงคนเดียว ที่คุมงานด้านความมั่นคง แต่ไม่ได้ร่วมวงหารือ เพราะนายกฯ เน้นผู้ปฏิบัติงาน ก่อนย้ำว่า ได้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดและยังไม่ถึงขั้นยกระดับความเข้มข้นชายแดนไทย-เมียนมา

ปัจจุบันการสู้รบระหว่างทหารเมียนมากับกลุ่มต่อต้านกำลังดุเดือดเลือดพล่านเป้าหมายหวังแย่งชิงเมืองเมียวดีให้ได้ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน ขณะที่ไทยก็ยังต้องรับบทหนักเตรียมรับภัยคุกคามรอบด้าน ท่ามกลางสายการบังคับบัญชาด้านความมั่นคง ส่อเกิดปัญหา