'ไพบูลย์' ยื่นผู้ตรวจฯชงศาล รธน.คว่ำ MOU 2544 ปกป้องทรัพยากรทะเล 20 ล้านล.

'ไพบูลย์' ยื่นผู้ตรวจฯชงศาล รธน.คว่ำ MOU 2544 ปกป้องทรัพยากรทะเล 20 ล้านล.

'ไพบูลย์' ยื่นผู้ตรวจฯ ชงศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด 'MOU 2544' ทำขัดรัฐธรรมนูญ ใช้บังคับไม่ได้ เป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่แรก ยันต้องปกป้องอธิปไตยทะเลไทยกว่า 16 ล้านไร่ ผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติกว่า 20 ล้านล้านบาท

เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2567 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นนักกฏหมาย ยื่นคำร้องในฐานะบุคคลหนึ่งของปวงชนชาวไทยที่มีสิทธิในเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยและผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติของไทยในทะเลอ่าวไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 25 และ มาตรา 43 (2) ซึ่งผู้ร้องได้ถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญโดยตรงและอาจจะได้รับความเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการถูกละเมิดสิทธิ และการถูกละเมิดสิทธินั้นยังคงมีอยู่จากการกระทำของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ผู้ถูกร้องที่ 1 และ กระทรวงการต่างประเทศ ผู้ถูกร้องที่ 2 ในการนำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน

ต่อไปในคำร้องเรียกว่า “MOU 2544” ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้เป็นเครื่องมือมาดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยในพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร (16 ล้านไร่) และแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติในทะเลของไทยมูลค่า 20 ล้านล้านบาทให้แก่กัมพูชา ทั้งที่ พื้นที่ตาม “MOU 2544” เป็นเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลและผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติของไทยในทะเลทั้งหมดตามแผนที่แนวเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทยแนบท้ายประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทยที่กำหนดแนวเขตขึ้นตรงตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982

ผู้ร้องได้พบข้อกฎหมายว่า “MOU 2544” มีสถานะเป็นหนังสือสัญญามีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ตามบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2542 , คำวินิจฉัยที่ 33/2543 และคำวินิจฉัยที่ 6-7/2551 และปรากฎหลักฐานว่าผู้ถูกร้องทั้งสองได้ยอมรับว่า “MOU 2544” มีสถานะเป็นหนังสือสัญญาหรือสนธิสัญญา ที่ต้องเสนอรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ

แต่ปรากฎว่า “MOU 2544” ได้กระทำขึ้นโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาไทย จึงมีผลให้“MOU 2544” เป็นบทบัญญัติใดหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 5  และมีผลให้ “MOU 2544” ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรก (void ab intio) และมีผลในทางกฎหมายไม่ผูกพันรัฐภาคีทั้งสอง ตามหลักการเรื่อง “ความไม่สมบูรณ์แห่งสนธิสัญญา” (Invalidity of Treaties) ซึ่งบัญญัติไว้ในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฏหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969

\'ไพบูลย์\' ยื่นผู้ตรวจฯชงศาล รธน.คว่ำ MOU 2544 ปกป้องทรัพยากรทะเล 20 ล้านล.

ทั้งนี้ ผู้ร้องเห็นว่าหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า “MOU 2544” เป็นหนังสือสัญญาที่กระทำการโดยไม่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา จึงเป็นบทบัญญัติใดหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรก และไม่ผูกพันไทย จะเป็นประโยชน์ต่อไทย หากมีข้อพิพาทเรื่อง     เขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยไปสู่ศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ เพราะทำให้ฝ่ายกัมพูชาไม่อาจกล่าวอ้าง “MOU 2544” เป็นหลักฐานว่าไทยยอมรับว่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา 

และจะทำให้เขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร (16 ล้านไร่) และผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติ มูลค่า 20 ล้านล้านบาทของไทยในทะเลอ่าวไทยเป็นของไทยทั้งหมดตามกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นต้นว่า อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 หากฝ่ายกัมพูชาโต้แย้งเป็นข้อพิพาทในเรื่องเขตอธิปไตยทางทะเลของไทย ผู้ร้องเห็นว่าเพื่อให้ได้ข้อยุติระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีและรวดเร็ว และจะเป็นประโยชน์กับไทยมากกว่า

ผู้ร้องเห็นว่าไทยควรเป็นฝ่ายนำคดีข้อพิพาทในเขตอธิปไตยทางทะเลฟ้องต่อศาลกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ (International Tribunal for the Law of the Sea: ITLOS) ตั้งอยู่ที่นครฮัมบรูกส์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งเป็นกลไกตุลาการอิสระของสหประชาชาติ มีอำนาจตัดสินข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 ประกอบด้วยผู้พิพากษาจากประเทศต่าง ๆ ทั้งหมด 21 ท่าน ซึ่งปัจจุบันมีผู้พิพากษาที่เป็นชาวไทย 1 ท่าน

อาศัยเหตุดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผู้ร้องยื่นคำร้องนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 213 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของ  ศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง มาตรา 47 และ มาตรา 48  และขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาส่งคำร้องของผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า “MOU 2544”  มีสถานะเป็นหนังสือสัญญา เมื่อกระทำการโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาไทย “MOU 2544” จึงเป็นบทบัญญัติหรือการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มีผลตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรกไม่ผูกพันไทยแต่ประการใด แต่ผู้ถูกร้องทั้ง 2 กลับนำมาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลและผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติในทะเลของไทยให้แก่กัมพูชา 

การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองจึงเป็นการกระทำละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของผู้ร้อง จึงขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดวินิจฉัยและมีคำสั่งให้บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) หรือ MOU 2544 เป็นหนังสือสัญญาที่กระทำการโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบของรัฐสภา จึงเป็นบทบัญญัติใดหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรก และ ขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำในการนำ “MOU 2544” มาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยและแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติทางทะเลของไทยให้แก่กัมพูชา

ผู้ร้องขอเรียนว่า หากผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วมีมติยื่นคำร้องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ  ผู้ร้องขอเป็นผู้ร้องที่ 2 ร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อผู้ร้องจะมีสิทธิในฐานะคู่ความนำเสนอพยานหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติไม่ยื่นคำร้องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ยื่นคำร้องนี้ภายในเวลา 60 วันนับแต่วันที่รับคำร้อง ผู้ร้องขอใช้สิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 48 วรรคสอง