เปิดใจธนาธร! ซื้อบ้านอองโตนี ไม่ได้ผูกขาด 2475

เปิดใจธนาธร!  ซื้อบ้านอองโตนี ไม่ได้ผูกขาด 2475

ธนาธรแจงเหตุผลซื้อบ้านอองโตนี ประเทศฝรั่งเศส ถิ่นพำนักสุดท้ายปรีดี พนมยงค์ ต้องการผลักดันความตระหนักรู้ทางประวัติศาสตร์ ไม่คิดทำให้เป็นเรื่องส่วนตัว ช่อ พรรณิการ์ เผย อยากบูรณะให้มีชีวิตชีวา เป็นศูนย์รวมการพูดคุยเหมือนสมัยปรีดียังอยู่

 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นำตัวแทนคณะก้าวหน้าเข้าพบสื่อมวลชนเนชั่นกรุ๊ป รณรงค์ประชาชนตระหนักรู้ความสำคัญของ ส.ว. พร้อมถือโอกาสตอบคำถามผู้สื่อข่าวเรื่องการซื้อบ้านอองโตนีในประเทศฝรั่งเศส ที่นายปรีดี พนมยงค์เคยพำนักก่อนเสียชีวิต กล่าวว่า บ้านเพิ่งซื้อมาได้เดือนเดียวยังคิดไม่เสร็จว่าจะทำอย่างไรต่อไป อ.ปรีดีอยู่บ้านนี้มา 13 ปี ระหว่างนั้นบ้านอองโตนีเคยเป็นสถานที่รองรับคนไทยระดับสำคัญ มากินๆ นอนๆ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันในยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต

เมื่ออาจารย์ปรีดีเสียชีวิต ครอบครัวพนมยงค์ขายบ้านให้กับครอบครัวเวียดนามโดยมีข้อตกลงกันว่า ถ้าต่อไปจะขายก็ขอให้ขายคนไทยก่อน 

"ผมได้ยินเรื่องนี้มาเป็นสิบปีแล้ว เราก็ไม่คิดว่าโดยส่วนตัวต้องเป็นคนที่เข้าไปซื้อ จริงๆ ผู้ซื้อที่เหมาะสมที่สุดคือรัฐบาลไทย แต่รัฐบาลไม่มีวันเข้าไปซื้อ  พอถึงวันที่เขาจะขายแน่ๆ ยังหาคนไทยไม่ได้ อาจารย์ปิยะบุตรก็บอกว่า คุณนี่แหละชอยส์สุดท้าย ถ้าไม่ซื้อก็ไม่ใครซื้อ ผมก็... อ่ะ ซื้อก็ซื้อ ก็เริ่มไปคุยปีที่แล้ว ทำธุรกรรมเสร็จเมื่อเดือนผ่านมา ก็ตั้งใจว่าจะใช้เวลาเดือนสองเดือนนี้ทำแผนให้เสร็จแล้วจะแถลงกับประชาชนในเดือน พ.ค.หรือ มิ.ย." 

ธนาธรยืนยันว่า ณ จุดนี้ยังไม่มีความพร้อมที่จะแถลงว่าจะพัฒนาบ้านอองโตนีไปในรูปแบบใด เนื่องจากยังคิดไม่เสร็จ ตอนนี้แค่ซื้อไว้ก่อน 

 

  • ซื้อบ้านอาจโดนโจมตีเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม เกิดคำถามว่า การซื้อบ้านที่นายปรีดีเคยพำนัก อาจทำให้นายธนาธรตกเป็นเป้าโจมตีเพิ่มเติมอีกหรือไม่ 

“การผลักดันความตระหนักรู้ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมสำคัญไม่แพ้กับการเมืองในสภา นี่คือการต่อสู้ระหว่างการลบเลือนกับความทรงจำ อนุสาวรีย์ปราบกบฏหายไปทั้งอนุสาวรีย์ หมุดคณะราษฎรอยู่ๆ ก็หายไป ไอเดียคือ เขาต้องการให้ประชาชนลืม หน้าที่ของเราคือทำให้ประชาชนจำในเรื่องเหล่านี้ ผมว่านั่นคือหัวใจของการตัดสินใจของผมว่าทำไมถึงเข้าไปซื้อ” ธนาธรอธิบายซึ่งชวนให้คิดว่านี่คืออีกหนึ่งจังหวะก้าวในการต่อสู้ทางวัฒนธรรมหลังจากที่พ่ายแพ้ในมิติการเมืองมาจะได้หรือไม่ เจ้าตัวกล่าวว่าจะมองเช่นนั้นก็ได้ แต่การซื้อบ้านตนมองในเชิงการเมืองน้อยมาก

“ผมคิดว่าคนอย่างปรีดีถ้าอยู่ต่างประเทศคงจะมีอนุสาวรีย์ที่เป็นรูปเป็นร่าง” ธนาธรกล่าว ขณะที่ “ช่อ” พรรณิการ์ วาณิช กล่าวเสริม ไม่เข้าใจว่าเรื่องการซื้อบ้านอองโตนีจะถูกทำให้เป็นการเมืองมากขนาดนี้ เหมือนอย่างการไปเที่ยวต่างประเทศใครๆ ก็ไปเที่ยวบ้านแอนน์ แฟรงค์ บ้านโมเนต์ บ้านออกุสต์ กองต์หรือบ้านบุคคลสำคัญอื่นๆ 

“บ้านปรีดีก็เช่นเดียวกัน เป็นที่ที่เราจะทำ House Museum ธรรมดา เล็กๆ เป็นความทรงจำ สมัยนั้นฝรั่งเศสเป็นที่ที่อีลีทไทยเคยมาทุกคนก็เคยมาเยี่ยมบ้านหลังนี้ แน่นอนว่าการรักษาประวัติศาสตร์ 2475 เป็นเรื่องสำคัญ แต่ในอีกทางหนึ่งก็ไม่ได้สำคัญเป็นพิเศษ คำถามคือคนที่ทำให้มันสำคัญเป็นพิเศษจนแตะต้องไม่ได้ไม่ใช่เรานะ คืออีกฝั่งนึง คือคุณจะเป็นอะไรนักหนากับการพูดถึงหมุดหมายสำคัญอันหนึ่งในหลายอันของประวัติศาสตร์ไทย” พรรณิการ์กล่าว ขณะที่ธนาธรย้ำว่า การซื้อบ้านอองโตนี ไม่ใช่การทำให้ 2475 เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่แค่เป็น “บ้านธนาธร” 

“ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ถ้าคุณเศรษฐาหรือรัฐบาลไทยอยากมาซื้อผมยินดีขาย ไม่เอากำไรสักบาท ที่เราต้องมาทำเพราะในภาคการเมืองไม่มีคนพูดเรื่องนี้ มากที่สุดก็แค่วันที่ 11 พฤษภาฯ ไปงานวันปรีดีที่ธรรมศาสตร์ ไปมอบดอกไม้แล้วก็กลับ แต่เราต้องเห็นคุณค่าของ 24 มิ.ย. ถ้าไม่มี 24 มิ.ย.ก็ยังต้องเป็นไพร่กันอยู่ ไม่มีเสรีภาพ  ครั้งหนึ่ง 24 มิ.ย.เคยเป็นวันชาติ เราเคยเฉลิมฉลองวันชาติของเรา” ธนาธรกล่าว ก่อนที่พรรณิการ์จะสรุปว่า ต้องการฟื้นฟูบ้านอองโตนีให้มีชีวิตชีวาเหมือนสมัยที่ อ.ปรีดียังอยู่  อยากให้สวนหลังบ้านเป็นสถานที่ทุกคนสามารถมาพูดคุยปรัชญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขณะนี้ทีมงานกำลังหารือกับทายาทตระกูลพนมยงค์ทั้ง อ.สุดาและ อ.ดุษฎี ถึงข้อมูลประวัติศาสตร์ช่วงที่ครอบครัวพนมยงค์ยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้