ป.ป.ช.มติเอกฉันท์ตีตกคดี ‘ประพล-พันธ์เลิศ’ ปิดตำนานสินบน บ.เหล้าข้ามชาติ

ป.ป.ช.มติเอกฉันท์ตีตกคดี ‘ประพล-พันธ์เลิศ’ ปิดตำนานสินบน บ.เหล้าข้ามชาติ

รูดม่านปิดตำนาน 12 ปี คดีสินบนบริษัทเหล้าข้ามชาติหนีภาษี! ที่ประชุม ป.ป.ช.มติเอกฉันท์ยกคำร้องกล่าวหา ‘ประพล มิลินทจินดา-พันธ์เลิศ ใบหยก’ พร้อมพวกรวม 4 คน ปมเรียกรับทรัพย์สินช่วยเหลือ ‘ดิอาจิโอ’ เลี่ยงภาษีสรรพสามิต-ศุลกากร

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. คดีดำที่ 03-3-046/2555 คดีแดงที่ 0193-3-00/2567 ยกคำร้องกล่าวหา คดีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา กรณีรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในการหลีกเลี่ยงภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากร หรือที่รู้จักกันในชื่อ “คดีสินบนบริษัทเหล้าข้ามชาติ” โดยคดีนี้ ป.ป.ช.รับเรื่องกล่าวหามาตั้งแต่ปี 2555 และมายกคำร้องปี 2567 รวมระยะเวลากว่า 12 ปี
    
สำหรับรายชื่อผู้ถูกกล่าวหามี 4 คน ได้แก่ 

  • นายประพล มิลินทจินดา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  • นายพันธ์เลิศ ใบหยก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
  • นายชัยยันต์ โปษยานนท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพสามิต
  • นายวัฒนา ยูถะสุนทร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร และผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรมศุลกากร

โดยพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิด ระบุว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา กรณีรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อช่วยเหลือบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในการหลีกเลี่ยงภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากร ใน 3 ข้อกล่าวหา ดังนี้
    

  • ข้อกล่าวหาที่ 1 เพื่อช่วยเหลือบริษัท ดิอาจิโอฯ กรณีถูกดำเนินคดีฐานสำแดงราคานำเข้าสุราอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ให้มีการระงับคดีโดยเสียค่าปรับในอัตราต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด
  • ข้อกล่าวหาที่ 2 เพื่อให้มีการแก้ไขสูตรการคำนวณภาษีสรรพสามิตสุรา เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ดิอาจิโอฯ
  • ข้อกล่าวหาที่ 3 เพื่อไม่ให้มีการออกกฎหมายเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตสุรา เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ดิอาจิโอฯ

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ในทางไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 ราย มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเปรียบเทียบปรับงดการฟ้องร้องคดีของกรมศุลกากร การแก้ไขสูตรการคำนวณภาษีสุรา และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในชั้นพิจารณาของรัฐสภา แต่อย่างใด และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินจากบริษัท ดิอาจิโอฯ เพื่อไปวิ่งเต้นคดีช่วยเหลือบริษัท ดิอาจิโอฯ กรณีถูกดำเนินคดีฐานสำแดงราคานำเข้าสุราอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ให้มีการระงับคดีโดยเสียค่าปรับในอัตราต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด นอกจากนี้ ทางการไต่สวนปรากฎข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า กรณีการเปรียบเทียบปรับงดการฟ้องร้องในคดีของบริษัท ดิอาจิโอฯ เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่า การเปรียบเทียบปรับงดการฟ้องร้องคดีในกรณีดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ชอบในขั้นตอนใด ทั้งในการพิจารณาค่าปรับก็เป็นไปตามระเบียบกฎหมายโดยไม่ได้พิจารณาลดค่าปรับนอกเหนือจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามที่มีการกล่าวหา

ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 5 เสียง ว่า จากการไต่สวน พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่า นายประพล มิลินทจินดา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายพันธ์เลิศ ใบหยก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และนายวัฒนา ยูถะสุนทร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

สำหรับนายชัยยันต์ โปษยานนท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้ถึงแก่ความตายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 39 (1) และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจดำเนินการไต่สวนเพื่อดำเนินคดีอาญาหรือดำเนินการทางวินัยต่อไปได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 57 จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ