'ชยพล' เสียดายตัดงบ ทร.ซื้อเรือฟริเกต ชี้คุ้มค่าไม่เหมือนซื้อเรือดำน้ำ

'ชยพล' เสียดายตัดงบ ทร.ซื้อเรือฟริเกต ชี้คุ้มค่าไม่เหมือนซื้อเรือดำน้ำ

'ชยพล' ตั้งคำถามปม กมธ.งบฯ 67 ตัดงบประมาณ 'กองทัพเรือ' ซื้อ 'เรือฟริเกต' ทั้งที่สร้างผลประโยชน์ทางความมั่นคงทางทะเล ช่วยด้านเศรษฐกิจต่อยอดอุตสาหกรรมต่อเรือ ชี้คุ้มค่าไม่เหมือนซื้อ 'เรือดำน้ำ' แต่เสียดาย กมธ.สัดส่วนพรรคอื่น โหวตคว่ำ

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล นายชยพล สท้อนดี สส.กทม. พรรคก้าวไกล ร่วมกันแถลงข่าว Policy Wach ในหัวข้อ "รวบตึงงบฯ 67 จากห้อง กมธ. โดยกล่าวตอนหนึ่งถึงข้อสังเกตต่อการตัดงบประมาณจัดซื้อเรือฟริเกตโดยกองทัพเรือ (ทร.) ว่า ในงบประมาณปี 2567 นี้ กองทัพเรือได้มีการตั้งงบประมาณจำนวน 1.7 พันล้านบาท หรือ 10% ของวงเงินโครงการ 1.7 หมื่นล้านบาท เพื่อขอซื้อเรือฟริเกตลำใหม่ ซึ่งที่ผ่านมากองทัพเรือยังไม่เคยได้สื่อสารในรายละเอียดเชิงลึกของโครงการ จนกระทั่งได้เข้ามาถึงห้องอนุกรรมาธิการงบประมาณด้านความมั่นคง จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่กองทัพเรือนำเอกสารมาชี้แจงถึงความจำเป็นของการจัดหาเรือในครั้งนี้

นายชยพล กล่าวว่า โดยตามการประเมินของกองทัพเรือ ได้ประเมินไว้ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีเรือฟริเกตทั้งหมด 8 ลำเพื่อปกป้องน่านน้ำไทย โดยแบ่งพื้นที่เป็นฝั่งอันดามัน 4 ลำและฝั่งอ่าวไทย 4 ลำ แต่ในปัจจุบันกองทัพเรือมีเรือฟริเกตใช้งานเพียง 4 ลำเท่านั้น แต่ละลำก็มีอายุถึง 29-38 ปี ยกเว้นเรือหลวงภูมิพลที่มีอายุ 5 ปี ทั้งที่เรือฟริเกตควรใช้อยู่ที่ 30 ปีเท่านั้น แต่เนื่องจากว่ากองทัพเรือไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณให้ซื้อเรือฟริเกตลำใหม่ จึงจำเป็นต้องซ่อมบำรุงเรือและยืดอายุการใช้งานยาวไปจนถึง 40 ปีจึงค่อยเริ่มปลดระวาง ทำให้ประเทศไทยกำลังจะอยู่ในสถานการณ์ที่เหลือเรือฟริเกตใช้งานเพียง 3 ลำเท่านั้น จากความต้องการขั้นพื้นฐานในการดูแลน่านน้ำไทยทั้งหมด 8 ลำ 

นายชยพล กล่าวอีกว่า การซื้อเรือฟริเกตปกติจะใช้เวลาในการต่อเรือ 4-5 ปี ซึ่งเพียงแค่สถานการณ์ในตอนนี้ การดำเนินงานของกองทัพเรือในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเลก็ยากที่จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว และเป็นไปได้ว่ากว่าจะได้รับอนุมัติงบประมาณอีกครั้งอาจจะเป็นปีงบประมาณ 2569 เลย แปลว่าเราจะมีเรือฟริเกตในการป้องกันประเทศเพียง 3 ลำต่อไปถึงอีก 4 ปี เป็นความเสี่ยงทางความมั่นคงอย่างยิ่ง

นายชยพล กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากเหตุผลด้านความมั่นคงแล้ว ประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะการจัดหาเรือฟริเกตครั้งนี้กองทัพเรือได้ชี้แจงในห้องอนุกรรมาธิการว่ามีความตั้งใจจะให้เรือลำนี้ต่อในไทยโดยให้บริษัทต่อเรือในไทยทำสัญญาความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อรับองค์ความรู้ในการต่อเรือครั้งนี้ไปใช้ในการต่อยอดอุตสาหกรรมภายในประเทศ จะมีการเพิ่มองค์ความรู้ในการต่อเรือ เกิดการจ้างงาน เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ เพิ่มโอกาสการลงทุนและสนับสนุนการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ พัฒนาอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ พัฒนาความสามารถของอู่ต่อเรือในไทย เป็นเจ้าขององค์ความรู้เทคโนโลยีป้องกันประเทศที่สามารถต่อยอดได้ สร้างเสริมอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

"การจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ไม่เหมือนกับการจัดซื้อจัดจ้างครั้งก่อนของกองทัพเรือ เช่นการซื้อเรือดำน้ำที่เป็นการเอาเงินไปแลกเรือเปล่าๆ และไร้ซึ่งองค์ความรู้อื่นนอกจากการใช้งาน พรรคก้าวไกลจึงมองเห็นความสำคัญของโครงการนี้ ถ้ากองทัพเรือทำตามที่ตัวเองวางไว้ได้ครบทั้งหมด ก็สมควรแก่การสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริงโดยเร็ว" นายชยพล กล่าว

นายชยพล กล่าวว่า โดยกรรมาธิการสัดส่วนของพรรคก้าวไกลเองก็ได้ศึกษาข้อมูลทั้งหมดพร้อมตั้งคำถามให้กับกองทัพเรือจนกระทั่งเข้าใจถึงประโยชน์ของโครงการ แต่ก็น่าเสียดายที่กรรมาธิการสัดส่วนอื่นๆ กลับไม่ได้มีความคิดเห็นในทางเดียวกัน โดยเห็นว่าไม่จำเป็นไม่เร่งด่วน รอบรรจุในงบประมาณปีถัดไปได้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่น่าตั้งคำถามจริงๆ ว่าได้ฟังที่กองทัพเรือชี้แจงมาบ้างหรือไม่ ว่าไม่มีเรือฟริเกตเหลือแล้ว

เหตุผลต่อมา คือเรื่องของทีโออาร์กับ offset policy ไม่ชัด ทั้งที่กองทัพเรือได้เตรียมเอกสารมาชี้แจงเรียบร้อยแล้ว แต่น่าเสียดายที่คนที่เข้าไปศึกษาตัวเอกสารทั้งหมดมีอยู่แค่กรรมาธิการในสัดส่วนพรรคก้าวไกลเท่านั้น ซึ่งก็คือตนและ ธนเดช เพ็งสุข สส.กรุงเทพฯ เขต 13 พรรคก้าวไกล จนกระทั่งเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความตั้งใจและแนวคิดเบื้องหลัง รวมถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาของบริษัทที่จะเข้ามาร่วมทุนกับบริษัทภายในไทย ทำให้ตนคิดเป็นอื่นไม่ได้นอกจากว่ากรรมาธิการคนอื่นไม่ได้อ่านเอกสารเหล่านี้เลย แต่มีการตั้งธงมาแล้วว่าจะต้องมีการตัดเท่านั้น 

สส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า หลังจากที่พรรคก้าวไกลได้ออกมาสื่อสารถึงข้อดีต่างๆ ของโครงการจัดหาเรือฟริเกตในครั้งนี้ ก็มีหลายคนจากฝั่งรัฐบาลออกมาให้ความคิดเห็นต่อท่าทีของพรรคก้าวไกลในทางลบ ทั้งที่ความคิดเห็นทั้งหมดที่มีต่อโครงการนี้ผ่านการศึกษาดูข้อมูลแล้ว มีการซักถามจนเข้าใจเห็นภาพใหญ่ของตัวโครงการแล้ว 

นอกจากนี้ ที่น่าสังเกตคือมีมติ ครม. วันที่ 5 ตุลาคม 2566 ออกความคิดเห็นว่าเห็นด้วยกับตัวโครงการนี้ โดยผู้ที่ได้รับทราบประกอบด้วยกระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน โดยที่ ครม. ได้ประชุมปรึกษากันเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ลงมติอนุมัติความเห็นและให้กระทรวงกลาโหมรับความคิดเห็นไปดำเนินการต่อแล้ว 

“คือทุกคนก็เห็นด้วยหมดแล้ว ถามจริงคือได้คุยกันเองก่อนไหม ก่อนที่จะออกมาค้านที่เราสนับสนุนโครงการนี้ เพราะว่ามันก็คือ ครม. ของรัฐบาลเองไม่ใช่หรือที่สนับสนุน แล้วก็กลายเป็น สส. ของรัฐบาลเอง กลายเป็นกรรมาธิการของรัฐบาลเองที่ออกมาค้าน ผมแนะนำให้ทุกคนไปคุยกันเองก่อนดีกว่า ไม่ใช่อนุมัติมาอย่างนี้เสร็จแล้วก็มาตีตกทีหลัง จะไม่รับผิดชอบอะไร แล้วก็ปล่อยประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบางและสูญเสียโอกาสทางการทางเศรษฐกิจในระดับนี้ได้” นายชยพล กล่าว

ทั้งนี้พรรคก้าวไกลไม่ได้มีจุดยืนต่อต้านการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ แต่ต้องมีการซื้อยุทโธปกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ความจำเป็นทางด้านความมั่นคง ที่มีหลักฐานประกอบอย่างแท้จริง นั่นคือเหตุผลที่พรรคก้าวไกลไม่ได้ตั้งเป้าในการตัดงบ พรรคก้าวไกลเพียงต้องการให้กองทัพเป็นกองทัพที่มีประสิทธิภาพ กะทัดรัด และสมเหตุสมผล สามารถทำงานทุกอย่างอย่างคุ้มค่าต่องบประมาณให้เหมาะสม