ฝุ่นตลบแผนรบสู้ ‘ยุบพรรค’ หลังม่าน ‘ก้าวไกล‘ ประเมิน 2 ฉากทัศน์

ฝุ่นตลบแผนรบสู้ ‘ยุบพรรค’ หลังม่าน ‘ก้าวไกล‘ ประเมิน 2 ฉากทัศน์

“บิ๊กเนมสีส้ม” ประเมินสถานการณ์กันมาสักระยะหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องยุบพรรค โดยเชื่อว่าจะไม่มีการยุบพรรคเกิดขึ้นอีก เพราะอาจทำให้ “สุมไฟ” ความขัดแย้งเพิ่มเติม โดยเฉพาะกับ “คนรุ่นใหม่” สร้างความลำบากให้กับ “ฝ่ายอนุรักษนิยม” ที่พยายาม “รีแบรนด์” ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้

KEY

POINTS

  • "ก้าวไกล" วางแผนฉากทัศน์การเมืองใหม่ เซตเกมรบสู้คดี "ยุบพรรค"
  • ส่วนหนึ่งประเมินถ้ารอดพ้นบ่วง ปรับโครงสร้างใหม่เข้าสู่โหมดรบเต็มรูปแบบในเดือน เม.ย. คาด "พิธา" คัมแบ็กนำพรรค
  • แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้น เตรียม "ยานพาหนะ" ไว้ไปต่อเรียบร้อย คาดแกนนำแถว 2-3 ขึ้นมานำพรรคต่อ
  • แต่ยังเหลือคดีใหญ่ตัดกำลัง 44 สส.ก้าวไกล ขึ้นเขียง ป.ป.ช.คดีผิดจริยธรรมร้ายแรง ปมเสนอแก้ ม.112 ลุ้นลิ่วหรือร่วง

“บิ๊กเนมสีส้ม” ประเมินสถานการณ์กันมาสักระยะหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องยุบพรรค โดยเชื่อว่าจะไม่มีการยุบพรรคเกิดขึ้นอีก เพราะอาจทำให้ “สุมไฟ” ความขัดแย้งเพิ่มเติม โดยเฉพาะกับ “คนรุ่นใหม่” สร้างความลำบากให้กับ “ฝ่ายอนุรักษนิยม” ที่พยายาม “รีแบรนด์” ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้

เข้าสู่เดือนที่ 3 ของปี 2567 อุณหภูมิทางการเมืองไทยสูงพอๆ กับภายนอก โดยเฉพาะ “ก้าวไกล”ยังไม่พ้นวิบากกรรม ประเด็น “ล้มล้างการปกครอง” ที่ตามมาหลอกหลอน 

ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเป็น “เอกฉันท์” ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย “ยุบพรรคก้าวไกล" จากผลพวงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีชี้ว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์-พรรคก้าวไกล” มีพฤติการณ์เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง จากนโยบายหาเสียงเลือกตั้งแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และบรรดา 44 สส.ก้าวไกล ยื่นเสนอแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 ด้วย

นับเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 4 ปี ที่ “พลพรรคสีส้ม” ต้องเผชิญสถานการณ์ “ยุบพรรค” 

โดยครั้งแรกคือ กรณีร้องเรียนให้ยุบ “พรรคอนาคตใหม่” จาก “คดีอิลลูมินาติ” แต่คดีไม่มีมูล ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องไป ต่อมาคือกรณี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคขณะนั้น ปล่อยกู้เงินให้พรรคโดยผิดกฎหมายเลือกตั้ง ส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย “ยุบพรรค” กระทั่งคำร้องล่าสุดคือ กรณีพรรคก้าวไกล มีพฤติการณ์เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ในครั้งนี้

อย่างไรก็ดีการแก้ไขมาตรา 112 นับเป็น “ม็อตโต้” สำคัญของ “ก้าวไกล” มาตั้งแต่ยุค “อนาคตใหม่” เมื่อครั้ง “ปิยบุตร แสงกนกกุล” กุมบังเหียน “แม่บ้านพรรค” ต่อมาแม้ “อนาคตใหม่” ถูกยุบจากปมเงินกู้ของ “ธนาธร” แต่เจตนารมณ์เรื่องนี้ยังถูกถ่ายทอด “ดีเอ็นเอ” มาถึง “ก้าวไกล” ด้วย

สำหรับพฤติการณ์ “ล้มล้างการปกครอง” ล่าสุด แบ่งแยกย่อยได้ 3 ประเด็น 1.คดีล้มล้างการปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยออกมาแล้วว่า พรรคก้าวไกล และพิธา มีพฤติการณ์เข้าข่ายล้มล้างการปกครองจริง 2.คดียุบพรรค กกต.มีมติเอกฉันท์ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ 

3.คดีผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงของ 44 สส.ก้าวไกล ที่เข้าชื่อยื่นเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมากในชั้นการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยตามกรอบกฎหมายมีระยะเวลาอย่างน้อย 180 วัน ถึงจะชงที่ประชุมชุดใหญ่ว่า คดีมีมูลพอตั้งไต่สวนได้หรือไม่

เกม “ยุบพรรค” ครั้งนี้ เหมือนยิงปืน ได้นก 2 ตัว คือ 1.ตัดพรรคการเมืองสำคัญของ “ฝ่ายก้าวหน้า” มิให้เติบโต หรือมีบทบาทไปมากกว่านี้ในสภาฯ 2.สกัดขาบรรดา “บ้านใหญ่” ที่ไปขอเกาะ “กระแสสีส้ม” ชิงเก้าอี้นายก อบจ.ที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งต้นปี 2568

แน่นอนว่า “บิ๊กเนมสีส้ม” ก็ประเมินสถานการณ์กันมาสักระยะหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องยุบพรรค โดยส่วนหนึ่งเชื่อว่าจะไม่มีการยุบพรรคเกิดขึ้นอีก เพราะอาจทำให้ “สุมไฟ” ความขัดแย้งเพิ่มเติม โดยเฉพาะกับ “คนรุ่นใหม่” สร้างความลำบากให้กับ “ฝ่ายอนุรักษนิยม” ที่พยายาม “รีแบรนด์” ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้

แต่ “ก้าวไกล” ก็ไม่ประมาท โดยมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพรรคตั้งแต่ช่วงปี 2563 โดยกรรมการบริหารพรรคชุดนี้ คือชุดเดียวกับที่ปรากฎในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง 

สังเกตได้ว่า หากไม่นับ “พิธา” กับ “ชัยธวัช” ที่ “จำเป็น” ต้องก้าวขึ้นมานำพรรคในเชิง“สัญลักษณ์”ให้พรรคไปต่อได้ บรรดากรรมการบริหารพรรคที่เหลือ ล้วนเป็น“ชุดเก่า”ที่โดนสารพัดคดีความจากยุค“อนาคตใหม่” แทบทั้งนั้น

ส่วนรองหัวหน้าพรรค รองเลขาธิการพรรค ที่ตามข้อบังคับของพรรคก้าวไกล ไม่ได้ระบุว่าให้เป็นกรรมการบริหารพรรค ล้วนเต็มไปด้วย “แกนนำแถว 2” หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง จะสามารถก้าวขึ้นมาทดแทนได้ หากสุดท้ายพรรคถูกยุบจริง คนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง คือกรรมการบริหารพรรคชุดปี 2563 ที่ส่วนใหญ่ “เว้นวรรคการเมือง” ไปเกือบทั้งหมดแล้ว เช่น พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาท อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล เป็นต้น

อย่างไรก็ดี กระแสข่าวใบสั่ง “ยุบพรรค” สร้างความอึดอัดใจไม่น้อยกับ “สส.นกแล” ที่อาศัยเกาะกระแสสีส้มเข้าสภาฯ อยากเล่นการเมืองต่อ ทำให้เกิดเสียงซุบซิบกันหนาหูว่า บรรดา สส.นกแลเหล่านี้ เริ่มต่อสายดีลกับพรรคฝ่ายรัฐบาลบ้างแล้ว เพื่อเตรียมแผนสองหากสุดท้ายพรรคโดนยุบจริง จะได้มีที่ทางเล่นการเมืองต่อ

เรื่องนี้แม้แต่ “ขงเบ้งสีส้ม” ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค ยังตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ โดยเชื่อว่า เรื่องนี้ไม่สามารถมีใครไปบังคับใจกันได้ พรรคมีหน้าที่ต้องเตรียมทุกทางออกให้กับสมาชิก

 แผนฉากทัศน์การเมืองของ “ก้าวไกล” หลังจากนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 

1.เตรียมพยานหลักฐานไปสู้ “คดียุบพรรค” ในศาลรัฐธรรมนูญ หากรอดพ้นบ่วงคดีนี้มาได้ จะเข้าสู่ “โหมดรบ” เต็มรูปแบบ ในการปรับโครงสร้างพรรคครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นช่วงเดือน เม.ย. 2567 โดยคาดว่า “พิธา” จะคัมแบ็กมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง

2.หากพรรคก้าวไกลถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “ยุบพรรค” บรรดาแกนนำแถว 2-3 ที่มิได้อยู่ในโครงสร้างกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบัน จะถูกดันขึ้น

 นำโดย “ศิริกัญญา ตันสกุล” ที่ถูกวางตัวเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรคคนใหม่ พร้อมกับดันแกนนำแถว 2-3 ขึ้นมา เช่น “พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์-ณัฐวุฒิ บัวประทุม-วิโรจน์ ลักขณาอดิศร-ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ-ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล-สุรเชษฐ์ ประวีณวงษ์วุฒิ-รังสิมันต์ โรม” เป็นต้น เพื่อเตรียมโยกย้ายไป “พรรคสำรอง” ที่คาดกันว่าอาจเทคโอเวอร์พรรคเล็กมาทำต่อ โมเดลเดียวกับตอนพรรคอนาคตใหม่โดนยุบ แล้วไปเทคโอเวอร์ “พรรคผึ้งหลวง” มาทำพรรคก้าวไกล

โดย “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่า ก้าวไกลมีการรับมือ และวางแผนทุกฉากทัศน์อยู่แล้ว โดยผู้บริหารพรรคได้เตรียมการรับมือทุกสถานการณ์ ต้องมียานพาหนะที่ขับเคลื่อนชุดความคิดต่อไปในการเมืองไทยแน่นอน ไม่อยากให้ด่วนสรุปว่า พรรคก้าวไกลจะถูกยุบ จนกระทั่งมีคำวินิจฉัยศาลออกมา

อย่างไรก็ดี คดียุบพรรค ยังไม่นับรวม 44 สส.ก้าวไกล ที่รอ “ขึ้นเขียง” ในชั้นตรวจสอบของ ป.ป.ช.เรื่องผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ กับการยื่นเสนอแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 ซึ่งคาดว่าจะมีผลสรุปออกมาหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดียุบพรรคไปแล้ว

ดังนั้นคดียุบพรรคก้าวไกลครั้งนี้จะถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์อีกหน ส่งผลต่อฉากทัศน์การเมืองไทยที่จะเปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ ต้องวัดใจฝ่ายผู้มีอำนาจว่าจะ“กล้าเสี่ยง”อีกครั้งหรือไม่