'พิจารณ์' จี้ ผบ.ทบ.เปิดข้อมูล 'ธุรกิจกองทัพ' หลัง กมธ.เชิญแล้วไม่มา

'พิจารณ์' จี้ ผบ.ทบ.เปิดข้อมูล 'ธุรกิจกองทัพ' หลัง กมธ.เชิญแล้วไม่มา

'พิจารณ์' จี้ ผบ.ทบ.แสดงความกล้าหาญ เปิดเผยข้อมูล 'ธุรกิจกองทัพ' หลัง กมธ.เชิญแล้วไม่มา ส่วน ททบ.5 ตอบไม่ได้เป็นหนี้เท่าไหร่ ไล่ให้ไปถามเอง

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2567 นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นหรือย้ายไปสถานที่อื่นที่เหมาะสม กล่าวถึงกรณี กมธ.เชิญ 4 หน่วยงานเข้าชี้แจงกรณีกิจการวิทยุและโทรทัศน์ของกองทัพ หนี้สินและสถานะต่างๆ ได้แก่ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะประธานของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5) และผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, ผู้อำนวยการสถานี ททบ.5, เลขาธิการ กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแล และบริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ "Royal Thai Army Enterprise" ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคล

โดยนายพิจารณ์ กล่าวว่า ในปี 2540 ผบ.ทบ. เวลานั้นได้ตั้งบริษัท ททบ.5 ขึ้นเป็นนิติบุคคล มีการเปลี่ยนชื่อเป็น RTA Entertainment และล่าสุดเปลี่ยนชื่อเป็น RTA Enterprise หากไปดูในเอกสารบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น หรือ บอจ.5 จะพบว่ารายชื่อผู้ถือหุ้นกว่า 50% เป็นข้าราชการทหาร ถือหุ้นในนามกองทัพบก และใน บอจ. 5 บางปี เขียนชื่อว่าในฐานะ ททบ.5 จึงสามารถสรุปได้ว่า RTA Enterprise มีความเชื่อมโยงกับสถานี ททบ.5 เป็นเหตุผลที่ กมธ. ได้เชิญบริษัทดังกล่าวเข้าชี้แจง

นายพิจารณ์ กล่าวอีกว่า แต่ความคืบหน้าล่าสุด หลัง กมธ. ออกจดหมายเชิญให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม พบว่า ผบ.ทบ. ไม่ได้เข้าร่วมประชุม และยังไม่มีเอกสารชี้แจง แต่เป็นการชี้แจงด้วยวาจาจากฝ่ายเลขาฯ ว่าได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการ ททบ.5 มาชี้แจงแทน แต่รองผู้อำนวยการ ททบ.5 ที่เดินทางมาประชุมกลับกล่าวว่าไม่ได้รับมอบหมายให้มาชี้แจงแทน ผบ.ทบ. ขณะที่ กสทช. เดินทางมาชี้แจง ส่วนบริษัท RTA Enterprise ในฐานะนิติบุคคล ปรากฏว่าฝ่ายเลขาฯ ของที่ประชุม แจ้งว่าติดต่อได้ แต่ปลายสายไม่รู้เรื่องหรือสามารถให้คำตอบได้ว่าจะมาชี้แจงหรือไม่ แล้วเมื่อพยายามโทรกลับไปก็ไม่มีคนรับสาย

นายพิจารณ์ กล่าวด้วยว่า นิติบุคคลรายนี้ เป็นหนี้ ททบ.5 ราว 1,000 ล้านบาท หากย้อนดูงบการเงิน 50% ถือหุ้นโดยกองทัพบก และย้อนหลังกลับไปเคยเป็นหนี้ถึง 1,400 ล้านบาทด้วยซ้ำ และมีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขมาเรื่อยๆ โดยไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นการจ่ายหนี้หรือวิธีการใด เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล แต่ ณ ปัจจุบันจากข้อมูลที่มี คือบริษัท RTA Enterprise ยังคงเป็นหนี้ ททบ.5 อยู่ 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเคลือบแคลง ตนจึงได้ถามไปยัง ททบ.5 ในฐานะเจ้าหนี้ แต่ปรากฏผู้แทน ททบ.5 ในฐานะเจ้าหนี้ตอบว่า ก็ต้องไปถาม RTA Enterprise และไม่มีคำอธิบายอื่นใดอีก

"การประชุมวันนี้ สร้างความเคลือบแคลงสงสัยไปจนถึงความหงุดหงิดแก่กรรมาธิการหลายคน และมีการตั้งคำถามไป 10 คำถาม ในจำนวนนี้ 5 คำถาม ผู้แทน ททบ.5 ให้คำตอบแต่เพียงว่าไม่รู้ เท่านั้น เช่น คำถามข้อที่ 8 ที่มีการสอบถามถึงรายละเอียดและเหตุผลที่ไปที่มาของหนี้สินจำนวน 1,200 ล้านบาท ซึ่งบริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) (ชื่อเดิมก่อนเปลี่ยนเป็นอาร์ทีเอ เอ็นเตอร์ไพรส์) มีต่อ ททบ.5 โดยทาง ททบ.5 ตอบแต่เพียงว่า “ททบ.5 มีสถานะเป็นเจ้าหนี้บริษัทฯ” เท่านั้น ไม่มีคำอธิบายใดเพิ่ม" นายพิจารณ์ กล่าว 

นายพิจารณ์ กล่าวว่า ความคืบหน้าที่ กมธ. ทุกคนเห็นคือความไม่โปร่งใส ความไม่กล้าหาญที่จะออกมาชี้แจงของผู้แทน ททบ.5 ซึ่งจริงอยู่ที่หลายเรื่องเกิดขึ้นมานานแล้ว และผู้บริหารปัจจุบันหลายคนไม่ใช่ผู้ริเริ่ม แต่ตนมองว่าเป็นหน้าที่ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งในปัจจุบันที่ควรชี้แจงต่อกรรมาธิการได้ และจากการประชุมวันนี้ ตนมองว่ามีความพยายามในการปกปิดข้อมูลอยู่ กมธ. จึงจะดำเนินการทำหนังสือต่อไปยัง ผบ.ทบ. ซึ่งต้องติดตามต่อว่า ผบ.ทบ. จะกล้าหาญออกมาเปิดเผยข้อมูลต่อ กมธ. มากน้อยเพียงใด