ตรวจการบ้าน '6 เดือนรัฐบาล' - ‘3 เรือธง’ เพื่อไทย เสี่ยงล่ม ?

ตรวจการบ้าน '6 เดือนรัฐบาล' - ‘3 เรือธง’ เพื่อไทย เสี่ยงล่ม ?

การแก้เกมด้วยการใช้มาตรา 152 จะถูกบางฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมก็ตาม แต่ “พรรคก้าวไกล” น่าจะเก็บทีเด็ดทีขาดเอาไว้เป็นแน่ สังเกตได้จากการซักฟอกแต่ละครั้งในช่วงเป็นฝ่ายค้านระหว่างปี 2562-2566 ลีลาท่วงท่าของ “ก้าวไกล” เรียกเสียงฮือฮาในสภาฯได้ทุกที

KEY

POINTS

  • ผ่าหมาก “ก้าวไกล” แก้เกมสกัดขาจากรัฐบาล ยื่นอภิปราย ม.152 เป็นแค่ “น้ำจิ้มทางการเมือง” 
  • ฝ่ายรัฐบาลไม่น้อยหน้า เตรียมแถลงผลงานครบรอบ 6 เดือนโต้กลับ พร้อมจุดไฟโหมโรงนอกสภาฯ
  • เปิด 3 ประเด็นสำคัญซักฟอก “นักโทษเทวดา-แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต-ปมขัดแย้งพิพาทเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.” 
  • จับตา เม.ย.ฟอร์มทีมใหม่ “พิธา” รีเทิร์นหัวหน้าพรรค-ปรับ กก.บห. เก็บข้อมูลพร้อมยื่นซักฟอกสมัยประชุมหน้า

ดีเดย์ 3-5 เม.ย. “ฝ่ายค้าน” ที่นำโดย “ชัยธวัช ตุลาธน” ขงเบ้งสีส้ม หัวหน้าพรรคก้าวไกล เล็งวันยื่น “ซักฟอกรัฐบาล” แต่ไม่ใช่ถึงขั้น “เอาเป็นเอาตาย” แบบฝ่ายค้านยุคก่อน ๆ ทำได้แค่ “อภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ” ในลักษณะ ให้ข้อเสนอแนะ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152

สาเหตุประการสำคัญที่ทำให้ “ก้าวไกล” ยื่น “ซักฟอก” แบบ “ไม่ไว้วางใจ” ไม่ทัน บรรดา “บิ๊กเนมสีส้ม” อ้างว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐบาลยังมิได้มีการใช้เงินงบประมาณปี 2567 จึงต้องรอให้มีการใช้จ่ายส่วนนี้ออกไปก่อน 

ขณะเดียวกันกลเกมของฝ่ายรัฐบาล ที่สกัดขา ไม่ว่าจะเป็นคิวงาน “นายกฯเศรษฐา ทวีสิน” ที่แน่นขนัด ทั้งภารกิจใน-นอกประเทศ 

โดยในเดือนนี้ ระหว่าง 4-14 มี.ค.ติดภารกิจไปต่างประเทศ หลังจากนั้นเดินทางไปเชียงใหม่ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ที่อยู่ระหว่างการพักโทษคดีทุจริต ได้รับไฟเขียวจากกรมคุมประพฤติ เดินทางกลับไป “บ้านเกิด” ได้

ถัดมาเป็นคิวญัตติอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 153 ในวันที่ 25 มี.ค. หลังจากยื้อลากยาวมาราว 2 เดือน หลังจากนั้น คิวญัตติอภิปรายร่างกฎหมายต่าง ๆ ยังคงแน่นขนัด โดยในช่วง 27-28 มี.ค.จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2567 ในวาระ 3-4 จึงทำให้เหลือเวลาแค่ไม่กี่วันก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯ (9 เม.ย.) ที่ฝ่ายค้านจะยื่นซักฟอกได้

ประเด็นนี้ทำให้ฝ่ายค้านต้องเสียโควตา “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” ไป 1 ครั้งฟรี ๆ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า เกิด “ซูเปอร์ดีล” อะไรบางอย่างกับ “เพื่อไทย” ในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ 

ร้อนถึงบรรดา สส.ก้าวไกล ต้องออกมาแก้ต่าง ปฏิเสธพัลวัน ยืนยันไร้ดีลใด ๆ ทั้งสิ้น โดยข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตของรัฐบาลชุดนี้ ยังไม่ได้ทิ้ง แต่เก็บรวบรวมอยู่ รวมถึงกรณี “นักโทษเทวดา” ที่อาจเปิดออกมาในการซักฟอกตามมาตรา 152 แค่ “น้ำจิ้ม” แต่ให้รอดู “อาหารจานหลัก” ได้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยประชุมหน้า

สำหรับเงื่อนปมหลักที่ฝ่ายค้านเตรียมนำมาชำแหละรัฐบาล เช่น รัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไปประชาชน เพิกเฉยต่อคำแถลงนโยบาย ไม่มีการขับเคลื่อนนโยบาย ปล่อยปละละเลยให้มีผู้อิทธิพลทั้งจากในประเทศและนอกประเทศ บริหารประเทศอย่างไร้ความสามารถ ไร้เสถียรภาพ ไร้วุฒิภาวะ เป็นต้น

ประเด็นหลักๆ ที่คาดว่าจะนำมาอภิปราย เช่น กรณี “นักโทษเทวดา” รายของ “ทักษิณ ชินวัตร” ศาสดาแห่งพรรคเพื่อไทย กรณีโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่ผ่านมา 6 เดือนแล้ว ยังไม่เริ่ม “นับหนึ่ง” และกรณีล่าสุดปมพิพาทระหว่าง 2 กระทรวง เรื่องเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.รุกอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องประปราย เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ การปราบปรามยาเสพติด และมาตรการปราบปราม “มาเฟีย” เป็นต้น

“พริษฐ์ วัชรสินธุ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ระบุว่า "ประเด็นการอภิปรายของเรา จะอยู่ในรูปแบบการตรวจการบ้านรัฐบาลหลังจากทำงานมาแล้ว 6-7 เดือน ว่าได้ผลักดันนโยบายสำเร็จตามที่แถลงต่อรัฐสภาหรือไม่ ซึ่งเราจะเห็นว่าหลายนโยบายเรือธงของรัฐบาลก็ไม่มีความคืบหน้ามากนัก"

ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาล ต่างโหมโรงโชว์ผลงาน แก้เกมฝ่ายค้าน โดยในวันที่ 15 มี.ค. “เศรษฐา” จะแถลงผลงานครบรอบ 6 เดือนของรัฐบาลด้วยตัวเอง หลังจากนั้น สส.เพื่อไทย จะทยอยโชว์ผลงานในรอบ 6 เดือน จากนั้นพรรคร่วมรัฐบาลจะโชว์ผลงานในกระทรวงที่กำกับดูแล

ส่วนเกมนอกสภาฯ ฝ่ายรัฐบาลจ้องเปิดศึกฝ่ายค้านแทบทุกวันจนกลายเป็น “ข่าวปิงปอง” ล่าสุด สวนฝ่ายค้านว่า ถ้าอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ไม่จำเป็นต้องใช้เวทีสภามานั่งพูด หรือใช้เวลาหลายวัน ใช้วิธีตั้งกระทู้ถามก็ได้ 

ร้อนถึง “ก้าวไกล” ต้องออกมาสวนกลับแบบหมัดต่อหมัดว่า รัฐบาลมีหน้าที่ตอบข้อสงสัยประชาชน ทำให้ดีแล้วกัน ย้อนเกล็ดที่แนะนำให้ตั้งกระทู้ ทุกวันนี้มีรัฐมนตรีมาตอบใช่หรือไม่ อย่าพูดให้เข้าตัวจะดีกว่า

แม้ว่าการแก้เกมด้วยการใช้มาตรา 152 จะถูกบางฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมก็ตาม แต่ขึ้นชื่อว่า “พรรคก้าวไกล” น่าจะเก็บทีเด็ดทีขาดเอาไว้เป็นแน่ สังเกตได้จากการซักฟอกแต่ละครั้งในช่วงเป็นฝ่ายค้านระหว่างปี 2562-2566 ลีลาท่วงท่าของ “ก้าวไกล” เรียกเสียงฮือฮาในสภาฯได้ทุกที ดังนั้นปม “นักโทษเทวดา” น่าสนใจไม่ใช่น้อยว่า “ก้าวไกล” ซ่อน “ไพ่ตาย” อะไรเอาไว้

ขณะเดียวกันช่วงเดือน เม.ย.คือช่วง “ผ่องถ่ายเลือดใหม่” ปรับโครงสร้างพรรค เป็นไปได้สูงว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่พ้นบ่วง“คดีหุ้นไอทีวี” เพิ่งคัมแบ็กมาเป็น สส. อาจรีเทิร์น“หัวหน้าพรรค”เป็นครั้งที่ 2 

ส่วน “ชัยธวัช” กลับเป็นเล่นบทถนัดคอนโทรลอยู่หลังม่านเช่นเดิม พร้อมฟอร์มทีมกรรมการบริหารพรรคใหม่ โดยคราวนี้คาดว่าจะพ่วงกลุ่มคนรุ่นใหม่-สส.แถว 2-3 ในสภาฯ เข้ามาเป็นกรรมการบริหารด้วย

แต่วิบากของพรรคก้าวไกลยังไม่จบ เนื่องจากยังต้องรอผลการวินิจฉัยของ กกต.กรณี “ยุบพรรค” ผลพวงจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คดีล้มล้างการปกครอง ว่าผลจะออกมาหมู่หรือจ่า รวมถึง 44 สส.ก้าวไกล ในจำนวนนี้รวม “พิธา” ที่ร่วมกันลงชื่อยื่นแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ปัจจุบันถูกร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สอบว่าผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ ว่าผลสรุปจะเป็นอย่างไร

ดังนั้นการฟอร์มทีมของ “ก้าวไกล” ในสมัยประชุมหน้า เตรียมข้อมูลไว้แน่น ก่อนลุยยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างแท้จริง เป็นสิ่งที่ “เพื่อไทย” ประมาทไม่ได้อย่างเด็ดขาด*