แก้วิกฤติประชากร เด็กต้องเกิดอย่างมีคุณภาพ

แก้วิกฤติประชากร  เด็กต้องเกิดอย่างมีคุณภาพ

การเกิดอย่างมีคุณภาพจึงน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กที่เกิดใหม่เติบโตเป็นแรงงานที่มีคุณภาพในอนาคต โดยเฉพาะการมีทักษะที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ

โครงสร้างประชากรได้มีการเปลี่ยนแปลงจากในอดีตเมื่อ 40 ปี ที่ผ่านมา มีเด็กเกิดใหม่ต่อปีมากกว่า 1 ล้านคน หลังจากนั้นจำนวนเด็กเกิดใหม่มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับต่ำกว่า 1 ล้านคน จนกระทั่งล่าสุดปี 2566 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพียง 565,992 คน และเป็นจำนวนการเกิดที่น้อยกว่าจำนวนผู้เสียชีวิต และทำให้จำนวนประชากรลดลงตั้งแต่ปี 2564 มาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปี 2566 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุถึง 13 ล้านคน คิดเป็น 20.08% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ 

เมื่อ 20 ปี ที่ผ่านมา สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มีการจัดทำรายงานข้อเสนอการรับมือเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในเวลาดังกล่าวให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่มาก แต่ถึงปัจจุบันภาครัฐให้ความสำคัญมากขึ้นในขณะที่ผลกระทบของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาเร็ว จึงมีคำถามว่า แผนการรับมือที่รัฐบาลกำลังดำเนินการจะรับมือได้เพียงพออย่างไร โดยเฉพาะผลการดำเนินงานในต่างประเทศที่เผชิญปัญหานี้ยังไม่สามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้จากการกระตุ้นการมีบุตร และบางประเทศต้องเปิดรับประชากรจากประเทศอื่น

การที่รัฐบาลจะประกาศการส่งเสริมการมีบุตรให้เป็นวาระแห่งชาติถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายการเกิดที่มีคุณภาพจะเป็นการรับมือจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่น้อยลงได้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาคุณภาพของประชากรเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตที่ตอบโจทย์จำนวนแรงงานที่มีทิศทางลดลง และรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ โดยสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลและครอบครัวมีภาระในการดูแลค่าใช้จ่ายสำหรับผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น

การเกิดอย่างมีคุณภาพจึงน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กที่เกิดใหม่เติบโตเป็นแรงงานที่มีคุณภาพในอนาคต โดยเฉพาะการมีทักษะที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนประเทศด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าได้สูง สามารถรองรับการลงทุนภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะนำมาสู่การงบประมาณที่เพียงพอในการดูแลผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี

ปัญหาเชิงโครงสร้างของประชากรจึงเป็นเรื่องใหญ่มากที่จะมีผลต่อระดับการพัฒนาประเทศ ซึ่งในปี 2554 ธนาคารโลกประกาศให้ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง โดยแสดงถึงความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ในปัจจุบันประเทศไทยยังติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และถ้าไม่สามารถยกระดับคุณภาพแรงงานขึ้นมาได้ก็ยากที่จะเป็นประเทศรายได้สูง และเป็นการยากที่จะรับมือผลกระทบจากสังคมผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ