'รองอ๋อง' ไปทำเนียบฯถาม กม.ค้าง 31 ฉบับ ปัดล้ำอำนาจฝ่ายบริหาร ไร้เกมการเมือง

'รองอ๋อง' ไปทำเนียบฯถาม กม.ค้าง 31 ฉบับ ปัดล้ำอำนาจฝ่ายบริหาร ไร้เกมการเมือง

'รองอ๋อง' ไม่ทน! ไปทำเนียบลุยทวงร่างกฎหมายค้าง 31 ฉบับ ยันไร้วาระซ่อนเร้น ไม่ได้กดดัน ปัดล้ำอำนาจฝ่ายบริหาร แค่หวังให้มีการทำงานร่วมกัน 'ณัฐชา ก้าวไกล' ออกโรงป้องเต็มที่ เชื่ออัดอั้นตันใจเลยไป ลั่นไม่ใช่เล่นเกมการเมือง

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอพบตัวแทนสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทวงถามร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงินที่ยังค้างอยู่ 31 ฉบับ โดยนายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ได้ทำหนังสือประสานมาแล้วสองครั้ง ยืนยันว่าไม่ใช่การมาบุกตามที่เป็นข่าว แต่เป็นการมาประชุมร่วมกันเพื่อติดตามความคืบหน้าของร่างกฎหมาย เนื่องจากไม่ทราบรายละเอียดว่าแต่ละร่างอยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว จึงอยากมาขอหารือถึงการทำงานร่วมกัน ยืนยันว่าเป็นเรื่องดีที่ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมีโอกาสหารือกัน และมองว่าการที่รัฐมนตรีไม่มาตอบกระทู่ในรัฐสภา ทางสำนักเลขาธิการนายกฯก็ต้องทราบเหตุผล เพราะในบางครั้งเอกสารที่แจ้งมายังสภาก็ไม่ได้ระบุชัดเจน

เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยมองว่าเป็นการรุกล้ำอำนาจฝ่ายบริหาร นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้มากดดันให้เขาเซ็น แต่มองว่าการทำงานร่วมกันมีเรื่องต้องปรับปรุง อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้คาดหวังว่าต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่าวรวดเร็วเพราะเป็นการพูดคุยครั้งแรก และเข้าใจในฝั่งรัฐบาล แต่ถ้าไม่พูดคุยกันเลย และตอบโต้กันผ่านหนังสืออย่างเดียวก็จะไม่มีโอกาสปรับปรุงการทำงานร่วมกัน

เมื่อถามว่า การที่รองประธานสภาต้องมาเอง แสดงว่าวิปที่ประสานกับรัฐบาลทำงานไม่ตอบโจทย์ใช่หรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่วิปรัฐบาล แต่ตนมีหน้าที่ดูแลการตรากฎหมายโดยตรง ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล เพราะแม้แต่ร่างของพรรคภูมิใจไทยเองก็ยังค้างอยู่

เมื่อถามว่า ทางประธานสภาผู้แทนราษฎรมีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ท่านยังไม่มีความเห็น เพราะการดูแลเรื่องกฎหมายเป็นหน้าที่ตน ยืนยันว่าเป็นการทำหน้าที่ปกติเพื่อช่วยให้กระบวนการนิติบัญญัติเป็นไปอย่างถูกต้อง

เมื่อถามว่า ฝ่ายการเมืองมองว่านายปดิพัทธ์ ทำในนามส่วนตัวมากกว่า นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ตนก็ยืนยันในเจตนา เพราะมีหลายร่างกฎหมายที่ยังไม่เข้า อาทิ ร่างของครม.ที่สุดท้ายต้องใช้ร่างของสส.อุ้ม ถ้าสภาทำได้เพียงรอร่างของรัฐบาลก็จะผิดหลักการสากล

เมื่อถามอีกว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีธรรมเนียบที่รองประธานสภาต้องมาตามกฎหมายเองแบบนี้ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า แล้วไม่ดีตรงไหน ตนมองว่าทำเนียบกับสภาควรใกล้ชิดกัน ถ้าทำงานร่วมกันบ่อยๆความไม่เข้าใจกันก็จะลดลง ไม่คิดว่าต้องวางตัวห่างกัน ฝ่ายบริหารเองก็มาที่สภาบ่อย ถ้าสภาจะมาเยี่ยมฝ่ายบริหารบ้างก็ไม่เห็นจะผิดธรรมเนียมอะไร

“ขั้นตอนทางธุรการต้องเนี๊ยบกว่านี้ ต้องแจ้งชัดเจนว่าติดภารกิจสำคัญอะไร อย่างไร ตรงนี้ต้องมีโอกาสสะท้อนให้ฟัง ไม่ใช่ตอบโต้ผ่านสื่อ ต้องมีเวทีหารือแก้ไขปัญหาร่วมกัน และเรื่องกฎหมาย แน่นอนว่าผมไม่ได้ไร้เดียวสา เรื่องจังหว่ะการเมืองที่จะทำให่ร่างกฎหมายไหนเข้าพิจารณาหรือไม่ แต่อย่างน้อยต้องมีความโปร่งใส ตรงไปตรงมาว่าติดเรื่องอะไร” นายปดิพัทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า ไม่มีวาระซ่อนเร้นอะไรใช่หรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ไม่มี รีบคุยรีบกลับ ส่วนที่พรรคเพื่อไทยมองว่าไม่มีมารยาททางการเมืองนั้น ตนขอกลับว่าการมาคุยเพื่อทำงานร่วมกันเป็นเรื่องผิดมารยาทตรงไหน ตนเข้ามาปิดทำเนียบหรือ หรือมาไม่สุภาพ ยืนยันว่ามาด้วยเจตนาบริสุทธิ์ และขอความร่วมมือเท่านั้น

  • "ณัฐชา" เชื่อ "รองอ๋อง" อัดอั้นปม กม.ตกค้าง เลยไปทวงที่ทำเนียบฯ

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อถามถึงร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงินที่รอนายกรัฐมนตรีเซ็น และฝ่ายบริหารบอกว่า ฝั่งสภาเล่นใหญ่มองอย่างไร ว่า ร่าง พ.ร.บ.หลายร่างที่ฝ่ายนิติบัญญัติพยายามยื่น ไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาลหรือฝ่ายค้านที่ทำงานในสภา มีร่างที่เกี่ยวข้องกับการเงินก็ต้องส่งไปยังนายกฯ พิจารณาว่าเป็นร่างเกี่ยวกับการเงินหรือไม่ ถ้าเป็นร่างที่เกี่ยวกับการเงินจะกระทบต่อภาระงบประมาณแผ่นดินหรือไม่ จะสามารถดำเนินการต่อได้หรือไม่ แต่เรียกได้ว่าอัดอั้นมานาน ติดขัดเรื่องนี้มานาน เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.หลายร่าง บางครั้งไม่กระทบต่อสถานการณ์การเบิกจ่ายงบประมาณ เป็นการยกเลิก ประหยัดวงเงินงบประมาณด้วยซ้ำ แต่นายกฯ ก็ไม่เซ็นตอบรับกลับมา

นายณัฐชา กล่าวว่า มีหลายร่างที่เป็นของเพื่อนฝ่ายรัฐบาลที่ต้องใช้วิธีการเทคนิคในการแยกร่าง มาตราไหนที่เกี่ยวกับการเงิน ก็แยกไปอีกร่างหนึ่ง ส่วนมาตราไหนที่ไม่เกี่ยวกับการเงินก็ส่งมายังสภาเพื่อพิจารณา นี่คือการเอาตัวรอดของฝ่ายนิติบัญญัติที่พึงกระทำอยู่ แต่เราหันกลับไปมองว่ามีหลายร่าง พ.ร.บ.ที่วางอยู่บนโต๊ะ บางร่างรอมา 30-40 วัน ตนก็ไม่แน่ใจว่าทำไมนายกฯ ไม่ลงนาม เพียงแค่เปิดดูว่าเกี่ยวข้องกับการเงินหรือไม่

“ผมเห็นว่าการออกมานำเสนอของนายปดิพัทธ์ น่าจะเป็นความอัดอั้นที่ได้ทำหน้าที่บนบัลลังก์และเห็นว่าความก้าวหน้าของการร่างกฎหมายที่เป็นหน้าที่หลักของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่คืบหน้าเลย เราก็ไปไล่ดูว่าติดอยู่ที่ไหน สุดท้ายมันติดอยู่บนโต๊ะนายกฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการประธานคณะกรรมาธิการ 35 คณะ ร่วมกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา ได้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาคุย ประธานสภาก็เห็นด้วยเรื่องของกรอบเวลาว่าส่งไปยังนายกฯ แล้ว กรอบเวลาในการส่งกลับมาสภายังไม่มี อาจจะต้องขอความร่วมมือไปยังนายกฯ ว่า ถ้าส่งไปแล้วท่านจะใช้วิธีการพิจารณาไม่เกิน 60 วันจะได้หรือไม่ แล้วส่งกลับมายังสภา และเมื่อไม่มีกรอบเวลาก็ไร้ซึ่งหนทาง อนาคต ที่ทางฝ่ายนิติบัญญัติจะขับเคลื่อนหน้าที่ของตัวเองต่อไปได้” นายณัฐชา กล่าว

เมื่อถามว่า มองว่าเป็นเกมการเมืองหรือไม่ นายณัฐชา กล่าวว่า ไม่อยากประเมินให้มองว่าเป็นเกมการเมืองเพราะเรื่องนี้เป็นกฎหมายของทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล แต่อยากให้นายกฯ สนใจการออกกฎหมาย เพราะทุกกฎหมายที่สมาชิกสภาและประชาชนได้ร่วมกันร่างมานั้นคือการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ คือกฎหมาย ซึ่งร่าง พ.ร.บ.หลายเรื่องเกี่ยวข้องกับรายได้ ชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน ถ้านายกฯ ใส่ใจสักเล็กน้อย หันมามองวันละฉบับ สองฉบับ วันนี้ก็จะไม่เหลืออยู่บนโต๊ะ