‘คอบร้าโกลด์’ ภารกิจเสี่ยงตาย ‘กู้เรือหลวงสุโขทัยแบบจำกัด’

‘คอบร้าโกลด์’ ภารกิจเสี่ยงตาย ‘กู้เรือหลวงสุโขทัยแบบจำกัด’

‘คอบร้าโกลด์’ ภารกิจเสี่ยงตาย ‘กู้เรือหลวงสุโขทัยแบบจำกัด’ 190 ฟุต หรือ 57 เมตร คือระดับความลึกสูงสุด ที่นักประดาน้ำกองทัพเรือสามารถปฏิบัติภารกิจดำน้ำได้ ซึ่งในระดับความลึกดังกล่าว ซุกซ่อนอันตรายมากมาย

KEY

POINTS

 

  • สาเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง  มีผู้สูญหาย 5 นาย เสียชีวิต 24 นาย รอดชีวิตกว่า 70 นาย กำลังจะถูกเปิดเผย
  • การเก็บกู้ยุทโธปกรณ์ ถอดทำลายอมภัณฑ์ ใต้น้ำ อันตรายเพิ่มเป็น 3 เท่าเทียบกับบนบก
  • ทีมนประดาน้ำมีเวลา 45 นาทีปฏิบัติการใต้น้ำ ขึ้นมาเข้าห้อง Hyperbaric chamber 1 ชั่วโมง พัก 1 วัน

‘คอบร้าโกลด์’ ภารกิจเสี่ยงตาย ‘กู้เรือหลวงสุโขทัยแบบจำกัด’ 190 ฟุต หรือ 57 เมตร คือระดับความลึกสูงสุด ที่นักประดาน้ำกองทัพเรือสามารถปฏิบัติภารกิจดำน้ำได้ ซึ่งในระดับความลึกดังกล่าว ซุกซ่อนอันตรายมากมาย

ปฏิบัติการ กู้เรือหลวงสุโขทัย แบบจำกัด หรือ Light Savage เริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 22 ก.พ.2567 ดำเนินการภายใต้การฝึก คอบร้าโกลด์ 2024 ระหว่างกองทัพไทยและสหรัฐอเมริกา เพื่อค้นหา 5 ผู้สูญหาย สำรวจหลักฐานใต้น้ำมาประกอบการสอบสวนข้อเท็จจริง การทำลายยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ และนำอุปกรณ์ยุทโธปกรณ์กองทัพเรือขึ้นมา

โดยมีเรือรบ และกำลังพลที่เข้าร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ของกองทัพเรือไทย ประกอบด้วย เรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือต่อต้านทุ่นระเบิด 2 ลำ เรือตรวจการณ์ 2 ลำ เรือระบายพลขนาดกลาง 18 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่กองประดาน้ำ และถอดทำลายอมภัณฑ์ (AMMUNITION : ส่วนประกอบหรือชิ้นส่วนใดๆ ที่มีวัตถุระเบิดประกอบอยู่ด้วย) กรมสรรพาวุธทหารเรือ จำนวน 35 นาย (อีโอดี)

ส่วน กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ส่ง เรือ Ocean valor และ เจ้าหน้าที่อีโอดี  14 นาย พร้อมอุปกรณ์พิเศษในการดำน้ำในความลึก 50 เมตร เพื่อให้สามารถเข้าไปสำรวจภายในตัวเรือหลวงสุโขทัย มาสนับสนุนปฏิบัติการในครั้งนี้

โดยก่อนปฏิบัติการ กองทัพเรือไทย และกองทัพเรือสหรัฐฯ ร่วมกันการวางแผน พร้อมให้นักประดาน้ำสำรวจเรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือแฝดเรือหลวงสุโขทัยอย่างละเอียด เพราะการต่อเรือใช้แปลนแบบเดียวกัน เช่น ประตูเข้า-ออก รวมถึงลักษณะของเรือ หลังจมใต้ทะเลนานกว่า 1 ปี กระแสลมใต้ทะเลได้พัดทราย ตะกอน มาทับถมที่ตัวเรือ

รวมถึงการวิเคราะห์ตัวแปร เนื่องจากภารกิจใต้น้ำมีอุปสรรคจากคลื่นลม ความขุ่นของกระแสน้ำจากระดับน้ำลึก 50 เมตร ภาพใต้น้ำมองเห็นเพียง 1 เมตร และมากที่สุดเพียง 3 เมตร จะส่งผลต่อการปฏิบัติงานของทีมประดาน้ำ

อีกทั้งทีมนักประดาน้ำมีข้อจำกัดเรื่องการปฏิบัติงาน โดยใช้เวลา 10 นาทีดำน้ำลงไปในจุดที่ตั้งเรือหลวงสุโขทัย และมีเวลาเพียง 40-45 นาทีเท่านั้น ในการสำรวจ ค้นหา แก้ไข ทำลายอมภัณฑ์ ก่อนจะดำขึ้นมา ใช้เวลา 10 นาทีเพื่อเข้าห้องปรับบรรยากาศกำลังดันสูง” หรือ Hyperbaric chamber 1 ชั่วโมง พัก 1 วัน

โดยนักดำน้ำลึกระดับนี้ มีข้อห้ามว่า ห้ามขึ้นเครื่องบินทันทีใน 24 ชั่วโมง เพราะแรงกดที่มีความแตกต่างกันมาก อาจถึงขั้นทำให้หัวใจวาย หลอดเลือดแตกได้

“190 ฟุต หรือ 57 เมตร คือระดับความลึกสูงสุด ที่นักประดาน้ำกองทัพเรือสามารถปฏิบัติภารกิจดำน้ำได้ ซึ่งในระดับความลึกดังกล่าว ซุกซ่อนอันตรายมากมาย ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็น การเกิดโรค DCS เป็นโรคที่เกิดจากการขยายตัวของฟองก๊าซจากอากาศที่นักดำน้ำใช้ในการหายใจ ซึ่งมีความอันตรายถึงชีวิต”

ภาวะเมาไนโตรเจน (Nitrogen Narcosis) ซึ่งทำให้นักดำน้ำรู้สึกเคลิบเคลิ้มกับการดำน้ำ จนอาจทำให้ละเลยขั้นตอนปฏิบัติ ในกฎความปลอดภัย” แหล่งข่าวจากกองประดาน้ำ และถอดทำลายอมภัณฑ์ กรมสรรพาวุธทหารเรือ ระบุ

ส่วนการการเก็บกู้ยุทโธปกรณ์ ถอดทำลายอมภัณฑ์ ปฏิบัติการบนบกนั้นถือว่ายากแล้ว แต่เมื่อต้องปฏิบัติการใต้น้ำ ความยากและอันตรายจะเพิ่มเป็น 3 เท่า

โดยเรือหลวงสุโขทัย ถือเป็นหนึ่งในจำนวนเรือที่มีศักยภาพสูงของกองทัพเรือ รบ 3 มิติ คือ ทางอากาศ บนผิวน้ำ และใต้น้ำ มีอาวุธหรืออมภัณฑ์ ประกอบด้วย

  • ปืนใหญ่เรือ 76/62 มิลลิเมตร(มม.) จำนวน 1 กระบอก
  • ปืนใหญ่ลำกล้องคู่ ขนาด 40L70 มม.
  • แท่นคู่ ปืนใหญ่เออร์ลิคอนขนาด 20 มม. 2 กระบอก
  • ระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำ
  • ท่อยิงตอร์ปิโด 2 แท่น MK 32 MOD5 (6 ท่อยิง)
  • ระบบอาวุธปล่อยนำวิถี
  • ระบบอาวุธปล่อยนำวิถี พื้นสู่พื้น แบบ HARPOON BLOCK 1C 2 แท่น (8 ท่อยิง)
  • ระบบอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศ แบบ ALBATROS 1 แท่น (8 ท่อยิง ASPIDE 2000)
  • ระบบ SONAR : DSQS 21 C MOD
  • ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ : ESM Harris Excellis 3601
  • ระบบต่อต้านอาวุธปล่อยนำวิถี : DAGAIE EW/IR

 

สำหรับเรือหลวงสุโขทัยจมลงที่บริเวณอ่าวไทยเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2565 มีผู้สูญหาย 5 นาย เสียชีวิต 24 นาย และรอดชีวิตกว่า 70 นาย ที่ผ่านมากองทัพเรือได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และมีผลการสอบสวนเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่เปิดเผยต่อสังคม เพราะต้องรอวัตถุพยานหลักฐาน

ตลอด 1 ปีกว่า กองทัพเรือมีความพยายามกู้เรือหลวงสุโขทัยขึ้นมาจากใต้ทะเลอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายของการหาสาเหตุการจมของเรือ แต่ติดขัดตั้งแต่ขั้นตอนการประมูล ซึ่งต้องประมูลใหม่หลายครั้ง ไปจนถึงการทักท้วงของสหรัฐอเมริกาว่า กองทัพเรือไทยอาจทำผิดเงื่อนไขการจัดหาอาวุธ

ประจวบเหมาะกับที่กองทัพไทย-สหรัฐฯ จัดฝึกคอบร้าโกลด์ 2024 การกู้เรือแบบจำกัด หรือ Light Salvage จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกดังกล่าว โดยสหรัฐฯ สนับสนุนนักประดาน้ำ และเครื่องมือพิเศษ เพื่อค้นหาหลักฐานมาสนับสนุนผลการสอบสวนสาเหตุการอับปางของเรือหลวงสุโขทัย