เล่นแร่แปรธาตุ ‘ส.ป.ก.รุกเขาใหญ่’ สะเทือนศึกในพลังประชารัฐ

เล่นแร่แปรธาตุ ‘ส.ป.ก.รุกเขาใหญ่’ สะเทือนศึกในพลังประชารัฐ

เวลานี้อำนาจบารมีของ “พี่ใหญ่” จึงมิอาจคุ้มครองใครได้เหมือนเช่นเคย ดังนั้นบุคคลที่เกี่ยวข้องในการ “เล่นแร่แปรธาตุ” พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไปเป็นที่ดิน ส.ป.ก.4-10 จึงต้องระวังอย่างหนัก เพราะประเด็นร้อนนี้ อาจจบไม่สวยอย่างที่คิด

KeyPoints

  • การจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ให้กับเกษตรกร กำลังกลายเป็นประเด็นใหญ่ทางการเมือง ที่สร้างรอยร้าวให้กับ "พปชร."
  • โดยเฉพาะการใช้วิธีการ "สงครามตัวแทน" ออกมาผลัดกันแฉกรณีการวัดแนวเขต ส.ป.ก.รุกเข้าไปในป่าเขาใหญ่
  • เกิดการงัดข้อกันระหว่าง "บิ๊กป๊อด" กับ "ธรรมนัส" วัดกำลังภายในกันอีกรอบ
  • ป.ป.ช.มองข้ามช็อต ตั้งกรรมการศึกษาฯเรื่องนี้ตั้งแต่ปลายปีก่อน ปัจจุบันกำลังรวบรวมข้อมูล จับตาซ้ำรอย "เงินดิจิทัล" หรือไม่

ประเด็นการจัดสรรที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ “ส.ป.ก.4-01” กำลังบานปลาย กลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองอีกครั้ง

เกิดเป็นศึกระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ (ทส.)  ที่มี “พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มี “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เป็นเบอร์หนึ่ง

เริ่มเรื่องสาเหตุมาจาก “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ สังกัด “ทส.” ออกมาแฉประเด็นการบุกรุกเข้าไปทำที่ดิน ส.ป.ก. ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยอ้างว่าผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ไม่ใช่เกษตรกรตัวจริง และป่าเขาใหญ่ คือพื้นที่มรดกโลก แต่กลับมีการปล่อยให้ ส.ป.ก.เข้าไปปักหมุดยึดพื้นที่ทำเกษตรกรรมได้อย่างไร

เป็นการออกแอ็คชั่นในช่วงเวลาเดียวกับเจ้าตัวโดนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูล “ชัยวัฒน์” กับพวก ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยาน (ห้วยคมกฤต) ในพื้นที่อุทยานฯแก่งกระจาน โดยมิชอบด้วยกฎหมาย พร้อมส่งเรื่องไปยัง ทส.ให้ดำเนินการลงโทษทางวินัย

นอกจากนี้ เรื่องยังร้อนไปถึง “ผู้กองธรรมนัส” ออกโรงสวนกลับว่า “ชัยวัฒน์” ไม่มีสิทธิ์ เนื่องจากเรื่องนี้ต้องระดับ “ปลัดกระทรวง” คุยกัน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด โดยเตรียมตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องนี้โดยด่วน

ทว่า สิ่งที่ทำให้อุณหภูมิคุกรุ่นไปอีกเพราะ “ปลัด ทส.” กางปีกป้อง “ชัยวัฒน์” ยืนยันมีสิทธิ์ดำเนินการเรื่องนี้ได้ หากที่ดิน ส.ป.ก.รุกล้ำอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขณะที่ “บิ๊กป๊อด” พัชรวาท ยืนยันเรื่องนี้จะยึดข้อกฎหมายเป็นหลัก

ท่ามกลางเงื่อนปมความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ หรือ “พปชร.” ที่ทั้ง “บิ๊กป๊อด” และ “ผู้กองธรรมนัส” ก็อยู่ค่ายเดียวกัน ภายใต้ร่มโพธิ์ของ พี่ใหญ่อย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 

ศึกระหว่าง 2 กระทรวงดังกล่าว จะกลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ทำเอา “บ้านแตกสาแหรกขาด” หรือไม่

แม้ว่าหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะยืนยันว่า เรื่องนี้ “ไม่มีการเมือง” ก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้น ชวนให้คิดถึง “สงครามเย็น” ที่ใช้ “ตัวแสดงแทน” เป็นคนเดินเรื่อง

กลับมาสู่ประเด็นการเล่นแร่แปรธาตุที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ครั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มองข้ามช็อต โดยคณะกรรมการเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ที่มี “สุวณา สุวรรณจูฑะ” กรรมการ ป.ป.ช. มือทำงานด้านป้องกันการทุจริตนั่งหัวโต๊ะ ได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ตั้งแต่ 7 พ.ย. 2566 หรือราวเกือบ 4 เดือนที่ผ่านมาแล้ว 

โดยมีมติให้สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ศึกษาและเฝ้าระวังการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายการปรับปรุงเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เพื่อยกระดับเป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือส.ป.ก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ประสงค์จะแก้ไขปัญหาเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินเล็กน้อย ไม่เพียงพอแก่การครองชีพ โดยการนำที่ดินมาจัดให้กับเกษตรกร โดยเกษตรกรจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง และป้องกันมิให้ที่ดินตกอยู่ในมือของนายทุน หรือกลุ่มผลประโยชน์ใดที่อาศัยเกษตรกรถือครองที่ดินแทน

กรณีการปรับปรุงเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ดังกล่าว คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ในการประชุมครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2566 ได้มีมติเห็นชอบหลักการปรับปรุงเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เพื่อยกระดับเป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และมีการแต่งตั้งคณะบุคคลเพื่อพิจารณาและแก้ไขระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่เกี่ยวข้อง 

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์ร่างระเบียบที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค. -10 พ.ย. 2566 และจะประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 15 ธ.ค. 2566 โดยสามารถออกโฉนดเพื่อเกษตรกรรมฉบับแรกได้ภายในวันที่ 15 ม.ค. 2567

สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงเบื้องต้น และมีแผนจะเชิญเลขาธิการ ส.ป.ก. เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต เพื่อชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปรับปรุงเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เพื่อยกระดับเป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประกอบการเฝ้าระวังการทุจริตตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป

ดังนั้น สถานการณ์ร้อนดังกล่าวจึงอยู่ในการ “จับตา” ของ ป.ป.ช. ที่ปัจจุบันกำลังรวบรวมข้อมูล และพยานหลักฐาน ไม่ต่างกับกรณีโครงการ “แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต” ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชง 8 ข้อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนที่แล้ว

นอกจากนี้ สถานการณ์ใน “องค์กรอิสระ” กำลังอยู่ในช่วง “เปลี่ยนผ่าน” จาก “บ้านป่ารอยต่อฯ” สู่ “ยุคใหม่” 

เวลานี้ อำนาจบารมีของ “พี่ใหญ่” จึงมิอาจคุ้มครองใครได้เหมือนเช่นเคย ดังนั้นบุคคลที่เกี่ยวข้องในการ “เล่นแร่แปรธาตุ” พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไปเป็นที่ดิน ส.ป.ก.4-10 จึงต้องระวังอย่างหนัก เพราะประเด็นร้อนนี้ อาจจบไม่สวยอย่างที่คิด