ป.ป.ช.ลั่นยังไม่วิกฤติเศรษฐกิจ! ปัดมโนผลศึกษาแจกเงินดิจิทัล

ป.ป.ช.ลั่นยังไม่วิกฤติเศรษฐกิจ! ปัดมโนผลศึกษาแจกเงินดิจิทัล

เลขาธิการ ป.ป.ช.ลั่นไม่ได้มโนผลศึกษานโยบายแจกเงินดิจิทัล เป็นแค่ข้อเสนอแนะทางวิชาการ ชี้มองคนละมุมเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจ ลั่นไม่มีอำนาจยับยั้งโครงการ ตอกย้ำเตือนดีกว่าไปเอาผิดทีหลัง

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังแถลงถึงผลการศึกษาและข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ในประเด็นเรื่องที่เสนอแนะให้ กกต. ตรวจสอบ มีประเด็นใดบ้าง ว่า การที่พรรคการเมืองให้นโยบายก่อนการเลือกตั้ง ต้องดูว่าดำเนินโครงการตามที่หาเสียงหรือไม่ มีความแตกต่างอย่างไร โดยดูในภาพรวมทั้งหมด ทั้งช่วงการประกาศหาเสียง เหมือนให้คำมั่น และใช้วิธีการไหน อย่างไร ให้กับใครบ้าง และหลังเป็นรัฐบาลแล้วปฏิบัติอย่างไร สิ่งสำคัญคืออยากให้ทุกพรรคการเมือง ศึกษาให้รอบคอบก่อนประกาศนโยบาย ไม่เช่นนั้นจะเหมือนแค่การโฆษณาไว้ ซึ่งตรงนี้เป็นเพียงข้อเสนอแนะให้ กกต.ได้ตรวจสอบและพิจารณา 
    
นายนิวัติไชย กล่าวอีกว่า ป.ป.ช. ทำหน้าที่จบด้วยการเสนอแนะและการเฝ้าระวัง ซึ่งเราจะส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต ป.ป.ช.ทำงานในเชิงป้องกัน ก้าวไปข้างหน้าก่อนเกิดเหตุ 

เมื่อถามว่า มีความจำเป็นต้องดำเนินการโครงการดังกล่าวหรือไม่ และในมุมมอง ป.ป.ช.มองว่าโครงการนี้ไม่จำเป็นต้องทำ เนื่องจากยังไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจใช่หรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า ประเทศไทยจะอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่นั้น ตามที่ ป.ป.ช.มีมุมมองว่า อาจจะยังไม่เข้าขั้น แต่ในมุมของรัฐบาล อาจมองว่า วิกฤต เรื่องนี้ ป.ป.ช. ได้ส่งข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลเท่านั้น ไม่ใช่การคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะทุจริตหรือไม่ สุดท้ายแล้วรัฐบาลจะต้องเป็นผู้อภิบายในโครงการนี้ ถ้ามีเหตุมีผลรัฐบาลก็สามารถขับเคลื่อนได้ 

เมื่อถามว่า ในข้อเสนอแนะข้อที่ 8 ที่ระบุว่า การจ่ายเงินเป็นงวดๆ เป็นการชี้นำให้ดำเนินการเหมือนรัฐบาลชุดก่อนหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า เป็นเพียงการยกตัวอย่างในสิ่งที่เคยมี ป.ป.ช.ไม่ใช่หน่วยงานที่ริเริ่มนวัตกรรมใหม่ๆ  เพียงแต่ยกอันเดิมมา ซึ่งเป็นความเหมาะสมว่ารัฐบาลจะทำได้ 

เมื่อถามว่าโครงการนี้เป็นการเอื้อกลุ่มนายทุนหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่เห็นว่าจะมีกลุ่มทุนกลุ่มไหนมาทำ อย่างไรก็ตามรัฐบาลเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการนี้ และจะเป็นผู้รับผิดชอบ 8 ข้อเสนอแนะนี้เป็นเพียงข้อเสนอแนะทางวิชาการที่หลากหลายสาขา ไม่ใช่ความคิดเห็นของ ป.ป.ช. ที่คิดเองเออเอง เป็นข้อเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณา ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะขับเคลื่อนโครงการนี้หรือไม่ และถ้ารัฐบาลตัดสินใจทำ เราก็ดูลำดับการขับเคลื่อนต่อ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ดึงดันจะทำโครงการนี้ เพราะยังชี้แจงอยู่ว่าจะรอข้อเสนอแนะจาก ป.ป.ช. ทั้งหมดแล้วเราทำเพื่อประเทศ ไม่ได้มีอคติอะไร และ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจยับยั้งโครงการแต่อย่างใด 

เมื่อถามว่า โครงการนี้จะซ้ำรอยจำนำข้าวหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า ตอบไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของอนาคต เพราะถ้าชิงด่วนสรุปไปแล้ว วินิจฉัยไม่ได้ ก็ไม่ถูกต้อง

ส่วนกรณีประชาชนบางส่วนอาจตำหนิ ป.ป.ช.เนื่องจากไม่สนับสนุนโครงการนี้ในทางที่ดีนั้น นายนิวัติไชย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ถ้าไม่ทำ จะโดนด่ามากกว่าหรือไม่ เราทำเพราะหน้าที่ ส่วนฟีดแบ็กเรายอมรับ ด้านผลกระทบ ความพึงพอใจแต่ละคนห้ามไม่ได้ แต่ขอให้คุยเรื่องเหตุและผล

เมื่อถามว่าข้อเสนอแนะตอนแรกของ ป.ป.ช.โดนผู้ใหญ่ฝั่งรัฐบาลมองว่าเป็นจินตนาการของ ป.ป.ช. มีความเห็นอย่างไร นายนิวัติไชย กล่าวว่า สื่อ และประชาชน มองแล้วว่าเป็นเรื่องมโนหรือไม่ ถ้าจับต้องได้ มีเหตุมีผล มันก็ใช่ สิ่งที่ ป.ป.ช. ทำไม่ได้หมายความว่ามันต้องใช่ แต่มันมีหลักฐานข้อมูล 8 ข้อที่อ่านดูก็เป็นข้อเสนอแนะเชิงวิชาการ ส่งข้อเสนอแนะด้วยความห่วงใยให้ ครม.

“ยืนยัน ป.ป.ช.ไม่ได้ค้านการดำเนินโครงการ แต่มีข้อเสนอแนะ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจยับยั้งการดำเนินโครงการ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ ป.ป.ช. เว้นแต่มีความผิดเกิดขึ้น มีการทุจริตไปแล้ว ป.ป.ช. อาจร้องต่อศาล หลังส่งสำนวนไปเพื่อฟ้อง เพื่อยกเลิกการอนุญาต เช่น การเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดิน โฉนด เป็นต้น ตามข้อเท็จจริง เป็นขั้นตอนปราบปราม” นายนิวัติไชย กล่าว

นายนิวัติไชย กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา ป.ป.ช. เสนอมาตรการไปหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อรถเมล์ NGV โครงการทางหลวง การจัดเก็บเงินรายได้กรมอุทยาน ความจริง ป.ป.ช. ทำมานานแล้ว เป็นไปตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช. มาตรา 32 วันนี้เพิ่มตามมาตรา 35 ไป อีกเพื่อตอกย้ำว่าสิ่งที่ ป.ป.ช. ทำ ดีกว่าไปนั่งเอาผิดเขา ไม่ใช่ปล่อยเขาทำผิด แล้วไปจับผิดเขา แบบนั้นขี่ช้างจับตั๊กแตน รัฐเสียหายไปแล้ว วันนี้เราทำงานเชิงรุก