'หมออ๋อง' ไม่หวั่น ติดบ่วง '44 สส.' ยื่นแก้ม.112 ยันพร้อมชี้แจง

'หมออ๋อง' ไม่หวั่น ติดบ่วง '44 สส.'  ยื่นแก้ม.112 ยันพร้อมชี้แจง

"ปดิพัทธ์" ไม่กังวล "ติดบ่วง" 44 สส. ยื่นแก้ม.112 หลังศาลรัฐธรรมนูย ชี้ เข้าขายล้มล้างการปกครอง กังวล กระทบเสรีภาพ- กระบวนการนิติบัญญัติ ชี้ควรจัดสมดุลอำนาจใหม่

ที่รัฐสภา "หมออ๋อง" นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่1  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี เป็น 1 ในสส. 44 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่านโยบายหาเสียงของพรรคก้าวไกลมีการเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง จะมีการเตรียมการชี้แจงอะไรหรือไม่ ว่า ยังไม่มีการเรียกแต่อย่างใด และคิดว่าเรื่องนี้จะไม่กระทบการทำงาน ซึ่งคงต้องหารือสส.ของพรรคก้าวไกล ทั้ง 43 คนที่ร่วมกันลงชื่อ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบ เพราะตนอยู่ในกรรมการบริหารพรรคชุดนั้นจริง และเห็นด้วยกับการออกนโยบาย 300 ข้อในการหาเสียง เรื่องในอดีตตนมีส่วนรับผิดรับผิดชอบ

เพราะฉะนั้นปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ ที่จะมีการเรียกไต่สวน เรียกพยาน หรืออะไรก็แล้วแต่ ตนก็พร้อมจะให้ความร่วมมือเต็มที่ 

ส่วนการชี้แจง ที่ผ่านมาสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการกระบวนการยื่นกกต.ในเรื่องของนโยบาย รวมไปถึงการตอบคำถามกับสื่อมวลชน ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ทำงานพูดไปตามข้อเท็จจริงที่ เราเตรียมการ

ส่วนกังวลหรือไม่ที่จะกระทบต่อตำแหน่งในอนาคต นายปดิพัทธ์ ระบุว่า กังวลว่าจะกระทบสิทธิและเสรีภาพของกระบวนการนิติบัญญัติ ที่มีอำนาจอื่นหรือองค์กรอื่นมาบอกว่าสส.ทำอะไรได้ทำอะไรไม่ได้

ตนยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล ไม่ใช่เรื่องที่ตนจะอยู่ในตำแหน่งนาน แต่เป็นเรื่องที่ประเทศไทยยังไม่หลุดพ้น ออกจากอำนาจที่จะอยู่เหนือหรือล้ำรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก

เมื่อถามว่าทางออกควรเป็นอย่างไรนายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ขบวนการพิจารณาระยะสั้นสังคมจะเจอคำถามว่ากระบวนการพิจารณาความยุติธรรมขององค์กรอิสระมีความยุติธรรม และเป็นไปตามจริยธรรมหรือไม่ และเรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องใหม่ในสังคมที่เราไม่เคยเจอมาก่อน เราไม่ได้ไปก้าวร่วงในการพิจารณาคดี แต่หากคำตัดสินไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ นักวิชาการจำนวนมากก็พูดว่าแบบนี้จะเป็นการใช้อำนาจเกินไปหรือไม่

ส่วนเรื่องระยะยาว องค์กรต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ ปี 60 ถึงจะมีต้นกำเนิดมาจากรัฐธรรมนูญปี 40 แต่เรื่องหน้าที่ถึงเวลาต้องทบทวนอย่างหนักในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อองค์กรอิสระเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ได้รับการประเมินอย่างตรงไปตรงมาถึงความจำเป็นที่จะมีอยู่ในอนาคต

เมื่อถามว่าในอนาคตการนำเสนอนโยบายและการแก้กฎหมาย จะต้องกลั่นกรองหรือไม่ เพราะต่อไปจะทำให้สส.ไม่กล้าเสนอกฎหมาย นายปดิพัทธ์ ย้ำว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องของนิติบัญญัติที่โดนดูถูก และตกต่ำ ว่าถ้าสส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชน ไม่สามารถที่จะเสนอกฎหมายได้ ทุกเรื่องต้องผ่านศาลก่อน จึงสามารถดำเนินการได้ ตนกลัวว่าเรื่องนี้จะไม่เป็นไปตามการแบ่งศาลอำนาจ

ส่วนจะต้องดำเนินการอย่างไรนั้น ตนมองว่า หากคนในกระบวนการยุติธรรมทำความผิด ก็ควรมีกระบวนการในการเอาผิด ไม่เช่นนั้นจะมีอำนาจล้นเกินของฝั่งใดฝั่งหนึ่ง และจะต้องแก้รัฐธรรมนูญ ว่าเราจะจัดสมดุลอำนาจกันอย่างไร ตนไม่เห็นด้วยที่นิติบัญญัติจะเป็นเอกเทศ โดยไร้การตรวจสอบ ขณะเดียวกัน ผู้ตรวจสอบกลับไม่มีอะไรไปตรวจสอบเขา เรื่องนี้ต้องมากลับมาจัดสมดุลนั้นอำนาจใหม่ ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่