สว. โวยรัฐบาล เตะถ่วง 'ซักฟอก' จี้รัฐบาลเคาะวันก่อน18มี.ค.

สว. โวยรัฐบาล เตะถ่วง 'ซักฟอก'  จี้รัฐบาลเคาะวันก่อน18มี.ค.

“ดิเรกฤทธิ์” โวยรัฐบาลลากยาวซักฟอก ม.153 เดือน มี.ค.หวั่นยื้อจนหมดอายุ สว. เหน็บ “พรเพชร” เอาใจเกินเหตุ-ดองญัตติ ด้าน "คำนูณ" จี้รัฐบาลเคาะ อภิปรายก่อน 18 มี.ค. ล็อกเป้าดิจิทัลวอลเล็ต -พื้นที่ทับซ้อน

5 กพ.2567 ที่รัฐสภา นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลตอบรับการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ในช่วงหลังวันที่ 15 มี.ค.เป็น กรอบเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ว่า ความเห็นส่วนตัว อยากจะตำหนิรัฐบาล ว่าการใช้สิทธิของวุฒิสภาเพื่อเปิดอภิปรายเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล และประชาชน เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ที่ระบุอยู่ในมาตรา 171 ถ้าท่านจะปฎิเสธการทำหน้าที่ของวุฒิสภา โดยเห็นว่าการทำหน้าที่ในฝ่ายบริหารและทำตามนโยบายอื่นๆ สำคัญกว่าเรื่องนี้ ตนคิดว่าน่าจะไม่ถูกต้อง ละเลยความสำคัญของการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องมาชี้แจงทั้งคณะร้ฐมนตรี (ครม.) 

“การที่รัฐบาลจะมาตอบเราปลายเดือน มี.ค.เป็นต้นไป หรือปล่อยให้เราหมดวาระการดำรงตำแหน่งนั้น ไม่ควรกระทำ เพราะเป็นการละเลยการทำหน้าที่ที่ดีของรัฐบาลของประชาชน“ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว

ส่วนจะมองว่าเป็นการดึงเวลา เพื่อให้กระแสเบาลงไปหรือไม่นั้น ก็เป็นเหตุผลที่ประชาชนคลางแคลงสงสัยเหมือนกัน การดึงเวลาไว้ ไม่ได้มีประโยชน์ต่อรัฐบาลเลย มีแต่ผลเสีย เพราะเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับระบบรัฐสภา และตัวแทนของประชาชน 

ดังนั้น เมื่อวุฒิสภาทำหน้าที่เหล่านี้ รัฐบาลต้องวางเรื่องอื่น รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ และมาตอบ แถลงข้อเท็จจริง แถลงปัญหา ข้อจำกัด เพื่อหาวิธีการจัดการกับเรื่องที่รัฐบาลจะขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

สำหรับเวลาที่ให้รัฐบาลอภิปรายนั้น นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ตามที่ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรไป คือ 2 วัน จันทร์และอังคารในเดือน ก.พ. ซึ่งก็มีหลายสัปดาห์ ดังนั้น ท่านจะต้องยินยอม พร้อมใจ หาวันให้เรา บรรจุลงระเบียบวาระ

เมื่อถามถึงกรณีที่ประธานวุฒิสภา ยังไม่บรรจุระเบียบวาระเป็นเรื่องเร่งด่วน นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ตนจะถามนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เหมือนกันว่า ทำไม ถึงยอมให้รัฐบาลเขาต่อรองเราได้ เพราะเรากำหนดไปแล้ว หากเขาไม่มา เราก็อภิปรายข้างเดียวไปเลย หากรัฐบาลไม่มา ก็ถือว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เรื่องอย่างนี้ ไม่ให้ความสำคัญไม่ได้ เพราะระบบรัฐสภาไปไม่ได้ ดังนั้น รัฐบาลต้องมาแถลงข้อเท็จจริง ชี้แจงข้อขัดข้อง และคำถามที่วุฒิสภาแจ้งไปแล้ว

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน สว. กล่าวว่าโดยปกติการเสนอญัตติให้รัฐมนตรีมาชี้แจงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และต้องเร่งด่วนพอสมควร ถ้าทิ้งเวลาไปช่วงเดือนมีนาคม หรือวันที่ 18 มีนาคม แม้จะสามารถทำได้ แต่ถ้ารัฐบาลจะทบทวนให้ใกล้กว่าช่วงนั้นน่าจะเป็นประโยชน์

เชื่อว่าวิป2 ฝ่ายจะพูดคุยหารือตกลงกันให้ได้ เพราะช่วงเวลาจากนี้ไปจะมีหลายเรื่องรุมล้อมเข้ามา ทั้งในส่วนสภาผู้แทนราษฎร จะอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติหรือไม่ และยังมีการประชุมร่วมรัฐสภา 16 ก.พ.เพื่อพิจารณา ร่างพ.ร.บ.แก้รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ และยังมีผู้ยื่นแก้มาตรา 256 รวมไปถึงการยื่นแก้ไขพ.ร.บ. ว่าด้วยการประชามติเพื่อแก้ปัญหาเรื่องเสียงข้างมาก 2 ชั้น ซึ่งหากมีวาระเหล่านี้ การอภิปรายของ สว.ในประเด็นเดียวกันก็อาจจะน้อยลง

นายคำนูณ กล่าวว่า ส่วนตัวได้เตรียมเรื่องอภิปรายเพียงเรื่องเดียว เกี่ยวกับการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนหรือโอซีเอ ระหว่างไทยกับกัมพูชา เพราะยังไม่มีใครพูดถึงมากนัก ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่นโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีการถกเถียงกันมากแล้ว และหาก ครม. ตกลงจะเสนอ พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ก็จะมีเวทีพูดคุยเรื่องนี้