เบื้องลึกศึกซอฟต์พาวเวอร์แฟชั่น การเมืองล้วง จัดงบไม่ตอบโจทย์

เบื้องลึกศึกซอฟต์พาวเวอร์แฟชั่น การเมืองล้วง จัดงบไม่ตอบโจทย์

ไม่ว่าบทสรุปของศึกซอฟต์พาวเวอร์จะออกมาอย่างไร แต่นี่คือยกแรกที่จะพิสูจน์ฝีมือของ “แพทองธาร” หัวขบวนซอฟต์พาวเวอร์ ที่ต้องบริหารจัดงานในฐานะแม่งาน เป็นก้าวแรกก่อนจะก้าวก้าวสู่ตำแหน่ง “นายกฯหญิง” ?

Key Points: 

  • ผลกระทบจากการลายกทีมของ คณะอนุฯซอฟต์พาวเวอร์สาขาแฟชั่น พิสูจน์ภาวะผู้นำของ แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
  • ทางเปิด กมลนาถ องค์วรรณดี ทิ้งปริศนาปมปัญหาการประกวดซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อบันทึกสถิติ Guinness World records
  • ทางลับมี "ผู้ประสานงาน" อ้าง "เบอร์หนึ่ง" ล้วงลูก เพื่อวางกรอบการจัดสรรงบประมาณ ทำให้ "ทีมแฟชั่น" ไม่พอใจ

เป็นประเด็นที่ “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ อาจเสียหน้า เสียเครดิตไม่น้อย เมื่อจู่ๆ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น ประกาศลาออกยกทีม 24 คน  

กมลนาถ องค์วรรณดี อดีตประธานคณะอนุกรรมการ ทิ้งปริศนาเอาไว้ โดยระบุถึงการประกวดซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อบันทึกสถิติ Guinness World records 

“คณะอนุกรรมการสาขาแฟชั่นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับไอเดีย Guinness นี้นะคะ อยากเห็นหน้าคนอนุมัติงบมาก ห้ามก็ไม่ได้ ปรึกษาก็ไม่ปรึกษา คิดกันเองเห็นดีเห็นงามกันเอง ทำแล้วได้อะไรคะ ทีมเอกชนอาสาทำงานกันหนักมากเพื่อวางกรอบคิดการพัฒนาอุตสาหกรรม ในขณะที่หน่วยงานทำอีเวนต์จุดพลุ แล้วไงต่อ สร้าง value อะไรขึ้นมา”

นอกจากนี้ “กมลนาถ” ยังทิ้งท้ายว่า “ฝากหน่วยงานทุกหน่วยที่อยากเอาใจนาย ก่อนจะทำอะไรปรึกษาหารือกรรมการยุทธศาสตร์ หรือคิดให้รอบด้านด้วยค่ะ เงินภาษีประชาชน” 

 

ปมแตกหักจัดแข่งบันทึกสถิติ Guinness World records

การตัดสินใจของอนุฯชุดนี้ เกิดขึ้้นหลังจัดทำนโยบาย แผนงาน งบประมาณ และมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอในขั้นแรกจนแล้วเสร็จ และได้มีการตั้งข้อสังเกตถึงแนวคิดและแนวทางการทำงานที่ไม่สอดคล้องกับบางหน่วยงาน 

หลังจากปรากฎกิจกรรมของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่จัดแข่งขัน 5 หัวข้อ เพื่อบันทึกสถิติโลก โดยระบุว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในการเปิดตัวโครงการ THAILAND SOFT POWER X GUINNESS WORLD RECORDS CHALLENGE” เป็นนำเสนอ Soft Power 5F ของไทย ได้แก่ Food (อาหาร) Fashion (การออกแบบแฟชั่นไทย) Film (ภาพยนตร์) Fight (มวยไทย) และ Festival (เทศกาลประเพณีไทย) เพื่อขานรับนโยบาย Soft Power ผ่านการแข่งขันใน 5 หัวข้อที่สุดของโลก 

ที่จะจัดขึ้นระหว่าง 21-27 ก.พ.  ประกอบด้วย

1.ใส่นวมต่อยลูกโป่งแตกมากที่สุดใน 1 นาที 2.ใส่กางเกงช้างเยอะที่สุดใน 1 นาที 3.กินสตรีทฟู้ด (ปาท่องโก๋) มากที่สุดใน 1 นาที

4.ใส่หน้ากาก (หน้ากากผีตาโขน) ได้มากที่สุดใน 1 นาที และ5.กินป๊อบคอร์นได้เยอะที่สุดใน 1 นาที โดยการแข่งขันแต่ละรายการได้เลือกเอาสินค้าท่องเที่ยวและ Soft Power ซึ่งเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างชาติมานำเสนอ

จับตา "คนสนิท" ฝ่ายการเมืองแทรก

ทว่า การลาออกยกทีมของเอกชนครั้งนี้ ถือเป็นการทิ้งบอมบ์ไปยัง “คนสนิท” ของ “แพทองธาร” โดยตรง เพราะเจ้าตัวมีอำนาจบังคับบัญชาคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ทุกคณะ

แม้จะมีคำอธิบายจาก หมอเลี้ยบ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ว่าเหตุผลในการลาออกเรื่องข้อจำกัดเรื่องเวลา และภารกิจหนักของอนุกรรมการฯ แต่กลับย้อนแย้งกับสิ่งที่“กมลนาถ”สื่อสารออกมา

ทำให้ "แพทองธาร" เตรียมแต่งตั้งคณะอนุฯซอฟต์พาวเวอร์ด้านแฟชั่นชุดใหม่ ในวันที่ 9 ก.พ.นี้ ในการประชุม

ประเด็นนี้ แม้จะเป็นเพียง 1 ใน 11 อุตสาหกรรม ที่ประกอบด้วย แฟชั่น หนังสือ ภาพยนตร์ เฟสติวัล อาหาร กีฬา ออกแบบ ท่องเที่ยว ดนตรี เกม และศิลปะ แต่เมื่อเรื่องถูกเปิดขึ้นมา ย่อมสะท้อนให้เห็นปัญหาภายในที่อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ ส่งผลกระทบวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะการล้วงลูก ด้วยอำนาจการเมือง ที่ถูกกล่าวขานถึงคนรอบข้าง“เบอร์ 1” 

"เบอร์หนึ่ง"ทุบโต๊ะจัดสรรงบ

ว่ากันว่า “เบอร์หนึ่ง-ทีมงาน” ไม่ปล่อยให้การทำงานของคณะอนุฯแฟชั่น วางกรอบอย่างเป็นอิสระ โดยมอบหมายให้ “มือประสาน” เข้าไปสั่งการ หวังชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ แต่ กมลนาถ-ทีมแฟชั่น แข็งข้อยอมหักไม่ยอมงอ

บทสรุปจึงต้องแยกทางกันเดิน เบอร์หนึ่งจึงทุบโต๊ะเปลี่ยนชุดคณะอนุฯแฟชั่นทันที โดยมี “พิธีกรดัง” คอยดีล “บิ๊กเนมวงการแฟชั่น” เข้ามาช่วยงานในชุดใหม่

มีกระแสข่าวว่า เป้าหมายในโครงการนี้ ต้องการวางกรอบงบประมาณให้ตอบโจทย์ใครบางคน ไม่ได้ตอบโจทย์เนื้อหางานที่ดำเนินการมากเท่าที่ควร โดยคณะอนุฯแฟชั่นอยากให้เกลี่ยงบประมาณให้ครอบคลุมมากกว่านี้

เคาะงบชุดแฟนชั่น 268 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มีการเปิดเผยข้อมูลว่า “สาขาแฟชั่น” มีการตั้งงบประมาณไว้ 268.9 ล้านบาท 1. โครงการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นจากทุนทางวัฒนธรรมไทยสู่สากล งบประมาณถึง 130 ล้านบาท แยกเป็น งบแถลงข่าวและผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ 40 ล้านบาท จัดแสดงสินค้าโรดโชว์ในต่างประเทศ 45 ล้านบาท บริหารจัดการสินค้า การตลาด 45 ล้านบาท

2.โครงการ Fashion Alliance 95 ล้านบาท จ้างคณะทำงานออกแบบพัฒนาหลักสูตร 25 ล้านบาท พัฒนาหลักสูตรออนไลน์ 30 ล้านบาท บ่มเพาะธุรกิจให้คำปรึกษา 20 ล้านบาท เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเพื่อส่งออก 20 ล้านบาท

3.โครงการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นประเภทกีฬาผ่านนักกีฬาโอลิมปิกไทยในเวทีโลก 5 ล้านบาท

แยกเป็นออกแบบชุดนักกีฬา 1.5 ล้านบาท ผลิตสื่อสำหรับส่งเสริมภาพลักษณ์ 2 ล้านบาท และประชาสัมพันธ์ 1.5 ล้านบาท

บทพิสูจน์แรกว่าที่นายกฯหญิง

เมื่องบประมาณมีการจัดสรรปันส่วนออกมาแล้ว ต้องจับตาว่า “เบอร์หนึ่ง-ทีมงาน” จะพอใจหรือไม่

ขณะเดียวกันมีการปล่อยข่าวโต้กลับในทางลับว่า “ทีมอนุฯแฟชั่น” ชุดเก่า ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเอกชน รู้ไส้ในของงบประมาณหมดแล้ว หวังที่จะใช้บริษัทของตัวเองกลับมารับงาน จึงต้องลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดช่องให้บริษัทของตัวเอง หรือบริษัทของเครือข่ายเข้ามารับงาน

ไม่ว่าบทสรุปของศึกซอฟต์พาวเวอร์จะออกมาอย่างไร แต่นี่คือยกแรกที่จะพิสูจน์ฝีมือของ “แพทองธาร” หัวขบวนซอฟต์พาวเวอร์ ที่ต้องบริหารจัดงานในฐานะแม่งาน เป็นก้าวแรกก่อนจะก้าวก้าวสู่ตำแหน่ง “นายกฯหญิง” ?