ศาล “ไม่ห้าม” ผู้ใดแก้ไขกฎหมาย โปรดใช้วิจารณญาณ

ศาล “ไม่ห้าม” ผู้ใดแก้ไขกฎหมาย โปรดใช้วิจารณญาณ

เรื่องน่าห่วงประการหนึ่งของสังคมไทย คือการแพร่ระบาดทางความคิดผ่านสื่อสังคม “โซเชียลมีเดีย” ที่ทำให้ข้อมูลถูกบิดเบือนหรืออาจกลายเป็นความเท็จไป

 เหมือนที่ Taylor Swift ถูก AI ผลิตภาพนู้ดเผยแพร่ต้องไล่ลบกันจ้าละหวั่น เพราะคนจำนวนมากในโลกอาศัยการสื่อสารที่สะดวกรวดเร็ว ขาดความยับยั้งชั่งใจหรือใจเร็วด่วนได้ เห็นเขาแชร์กันมาก็รีบแชร์ต่อ อารามดีใจที่ตรงกับความคิดตัวเองบ้าง หรือสะใจบ้างก็มี

อย่างกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ให้ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล ซึ่งเพิ่งพ้นผิดในคดีถือหุ้นไอทีวี อาจเพิ่งทำบัตรใหม่หรือใช้บัตรเก่าเข้าสภาได้แค่หนึ่งสัปดาห์

แต่เมื่อวานทั้งคุณพิธา และพรรคก้าวไกล กำลังจะถูกร้องเรียนต่อไปจากคำวินิจฉัยว่า ได้กระทำความผิดอันอาจนำไปสู่คุกตารางอย่างชัดเจน เมื่อคำวินิจฉัยของศาลฯ มองว่าพฤติกรรม การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ที่ต้องการแก้ไขมาตรา 112 เป็นการล้มล้างการปกครอง

คนที่อาจฟังไม่สิ้นกระแสความ แล้วจับไปผสมปนเป ก็ตีความกันไปว่า “การแก้ไขมาตรา 112 เท่ากับ การล้มล้างการปกครอง” เอาดื้อๆ  ในฐานผมเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ พอได้เห็นได้ยินได้ฟัง ก็ตกใจเป็นอันมาก รีบไปตรวจสอบดูทั้งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่มีมาตราไหนที่ห้ามการเสนอแก้ไขกฎหมายใดๆ หากไม่มีข้อห้ามในการแก้ไขกำกับไว้อย่างชัดเจน

เพราะแม้แต่รัฐธรรมนูญของเรา นักการเมืองเขายังรวมกลุ่มกันแก้ไขไปหมาดๆ เพียงแต่ยิ่งแก้ก็เหมือน “ลิงแก้แห” จึงแนะนำไปในหลายครั้งที่มีโอกาสว่า “กรุณายกร่างใหม่ทั้งฉบับดีกว่า อย่าแก้ไขเลย เพราะคนขอแก้และกำลังแก้ไชนี้ อาจไม่เข้าใจเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ”  

ยิ่งกว่านั้น หลายคนยังมีอคติและความไม่ชอบรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างเห็นได้ชัด การแก้ไขคงไม่เกิดประโยชน์ ประสงค์อยากได้สิ่งใดก็จงเนรมิตเอาเองเถิด

การกระทำของนายพิธา และ กรรการบริหารพรรค รวมทั้ง ส.ส. ที่ใช้นโยบายพรรคในการหาเสียงที่น่าจะมองได้ว่า คนทั้งพรรค รณรงค์หาเสียงตามแนวนโยบายของพรรคเป็นบรรทัดฐาน จะโดยตรง โดยอ้อม หรือจะด้วยวิธีการซ่อนเร้น มีพฤติกรรม การกระทำต่างๆ ประการใดอันอาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองนั้น “การมีเจตนาแอบแฝงนั้น” ไม่มีอะไรซับซ้อน

หากจะถือหลักกฎหมายธรรมชาติมาประกอบการวินิจฉัย จะเห็นได้ว่า “การแอบแฝงหรือซ่อนเร้นในการกระทำต่างๆ นั้น”  วินิจฉัยได้ด้วยองค์ประกอบของการพิจารณาจากเหตุและผล รวมทั้งภูมิปัญญาของวิญญูชนโดยทั่วไปว่า

การกระทำอันใดส่อหรือมีเจตนากร่อนเซาะ แยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนออกจากกัน เป็นเสมือน "มีเหตุจูงใจ” ที่สามารถ “เล็งเห็นผลได้” จากการกระทำนั้นๆ ว่า จะเกิดอะไรขึ้นตามมาในภายหลังหรือต่อๆ ไป

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญในหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ ในฐานะเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงและเห็นกระบวนการทำงานอย่างถ้วนทั่ว ยืนยันได้เลยว่า ทางกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ใช้ความระมัดระวังอย่างสูงยิ่ง ไม่ให้มีคามคลุมเครือหรือกระทบความสัมพันธ์ใดๆ ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนในสังคมโดยทั่วไป

เพราะเป็นสิ่งที่ราษฎรทุกหมู่เหล่ารวมทั้งผู้ร่างเองไม่สามารถทึกทักนึกเอาเองได้ จะต้องตรวจสอบความถูกต้องเกี่ยวกับ สิ่งที่เป็นโบราณราชประเพณี อีกทั้งเจตนารมณ์ของการมีหมวดดังกล่าวในรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ฉบับแรกในปี 2475 กระทั่งปัจจุบัน ทำให้สิ่งที่ทำได้อย่างรัดกุมที่สุดในเวลานั้น

คือ การไล่เรียงรายมาตราประกบกัน เพื่อเปรียบเทียบแต่ละมาตราของรัฐธรรมนูญทุกฉบับในประเทศไทย มิให้ขาดตกบกพร่อง สิ่งใดที่ไม่อาจทราบได้ด้วยสติปัญญาของพวกเรา ก็มีการสอบถามและปรึกษาหารือกับผู้รอบรู้ในเรื่องนั้นๆ อย่างใกล้ชิด

น่าเสียดายที่แม้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะได้มีการวินิจฉัยและเป็นสิ่งผูกพันทุกองค์กรไปแล้ว ทางตัวแทนพรรคก้าวไกลหลายท่านยังใช้เหตุผลให้ข่าวที่ควรนำมาทำความเข้าใจในหลายๆ กรณี มิฉะนั้น ผู้ฟัง ผู้ชม หรือ ผู้สมัครรักใคร่ ที่ได้รับข่าวสารโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบจะเข้าใจหลายสิ่งคลาดเคลื่อน และอาจกลายเป็นการเพิ่มคู่ขัดแย้งเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น

ดังจะเห็นได้จากการที่มีผู้ไม่เข้าใจพยายามเชื่อมโยงว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาจส่งผลกระทบต่อการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกระบวนการยุติธรรมและฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบดูแล้วในฐานะผู้รู้กฎหมายในขั้นที่น่าจะเชื่อถือรับฟังได้คนหนึ่ง ยังไม่ปรากฎเห็นว่ามีจุดใดที่อาจส่งผลร้ายแรงได้ถึงเพียงนั้น

การดึงเอาประชาชนบางกลุ่ม หรือผู้ที่เลื่อมใสศรัทธา ที่อาจไม่ยั้งคิดรอบคอบ รังแต่จะทำให้ความขัดแย้งขยายตัว และสร้างความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจาก “หลักแห่งนิติธรรม (rule of law)” อันเป็นความสุจริตโดยชอบด้วยกฎหมายไปอย่างเห็นได้ชัด

หากจะมีความคลุมเครือ คงอยู่ตรงที่การร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลยุติธรรมนั้น ปกติกระบวนการวิธีพิจารณาจะมีความคล้ายคลึงกันกับศาลทั่วไปอยู่หลายประการ สิ่งที่ผู้ร้องพึงจะต้องขอให้ครบถ้วนว่า เมื่อมีการกระทำความผิดหรือละเมิดกฎหมายในมาตรานั้นๆ แล้ว มีความประสงค์หรือต้องการให้ศาลดำเนินการประการใดอย่างแน่ชัด

ศาลเองปกติจะไม่พิจารณาเกินคำขอ และศาลแม้จะใช้ดุลยพินิจในการตัดสินวินิจฉัยได้ แต่การสั่งให้มีการยุบพรรคหรือถอดถอนบุคคลทางการเมืองนั้น มีกระบวนการเฉพาะ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องกระทำการขอมาในการยื่นคำร้อง หรือ “คำขอท้ายฟ้อง” นั้นๆ 

ผู้เขียนมิได้มีอคติกับผู้หนึ่งผู้ใด หรือ กลุ่ม องค์กรใด้เลย  แม้จะเคยเห็นอดีตผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองบางท่านร้องไห้พร่ำรำพรรณอย่างน่าเวทนาเมื่อเขาทราบว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชามติที่กำลังใช้ในปัจจุบัน ผ่านความเห็นชอบของประชาชนมาแล้วก็ตาม” แต่เมื่อพิเคราะห์จากคำวินิจฉัยของศาลฯ จะเห็นได้ว่า ผู้ถูกร้องแบ่งเป็นสองส่วน คือ คุณพิธา ส่วนหนึ่ง และ พรรคก้าวไกล ซึ่งบางท่านอาจมองเป็นเพียงกรรมการบริหารพรรค 

แต่ในที่ฝรั่งเรียกว่า collective action นั้น เท่ากับว่า บรรดา สส ที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งมาโดยมิได้มีการคัดค้านต่อวิธีการรณรงค์ หรือนโยบายใดๆ ที่พรรคที่ตนสังกัดจัดทำขึ้น อาจถูกมองเป็นผู้สนับสนุนหรือตัวการ หากมีผู้ไปดำเนินคดีอาญาต่อจากนี้ไปอีก 

ทั้งนี้หากมีการยุบพรรคก้าวไกลได้จริงแล้ว บรรดา ส.ส. ทั้งหมดที่ไม่ถูกสั่งห้ามการเกี่ยวข้องกับการเมืองต้องเร่งหาพรรคสังกัดใน 60 วัน 

แต่น่าครุ่นคิดว่า ทุกคนจะกลายเป็นผู้มีคดีติดตัวทางอาญาในฐานเป็นผู้สนับสนุนหรือตัวการดังว่าหรือไม่ ย่อมเป็นสิ่งที่พรรคใดจะรับบุคคลเหล่านี้เข้าไปมีความสุ่มเสี่ยง ไม่ต่างกับพรรคการเมืองก่อนหน้านี้หลายพรรคที่มีการรับบุคคลที่สังคมตั้งข้อสงสัยหรือกล่าวหาในการกระทำผิดอาญาอย่างชัดเจนหลายคนด้วยกัน.