ละเอียด! มติศาล รธน.ฟัน ‘พิธา-ก้าวไกล’ ล้มการปกครอง เจตนาแยกสถาบันฯจากชาติ

ละเอียด! มติศาล รธน.ฟัน ‘พิธา-ก้าวไกล’ ล้มการปกครอง เจตนาแยกสถาบันฯจากชาติ

สรุปสาระสำคัญคำวินิจฉัยศาล รธน.มติเอกฉันท์ชี้ ‘พิธา-ก้าวไกล’ ล้มล้างการปกครอง เหตุมีเจตนาแบ่งแยกสถาบันฯออกจากชาติ พฤติการณ์เซาะกร่อนบ่อนทำลาย ระบุมิได้แค่ยื่นเข้าชื่อแก้ ม.112 แต่ยังเตรียมอาศัยวิถีทางอื่นเพื่อดำเนินการด้วย

KeyPoints

  • ศาลรัฐธรรมนูญ มติเอกฉันท์ชี้ว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์-พรรคก้าวไกล” มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง จากการร่วมกันเสนอชื่อร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เมื่อปี 64 โดยมีการแก้ไขมาตรา 112 ไม่ให้อยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ
  • ชี้ให้เห็นว่ามีเจตนาแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากชาติ เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ อย่างมีนัยสำคัญ
  • ชนวนสำคัญมาจากการยื่นแก้ไขในสภาฯปี 64-การปราศรัยก้าวไกลปี 66 “พิธา” ติดสติกเกอร์ช่องเลิก ม.112
  • ระบุชัดการหาเสียงดังกล่าว มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันฯ เป็นเหตุให้สถาบันฯชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เป็นเหตุให้นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด 

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 เวลา 14.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี ชั้น 3 ศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดแถลงคำวินิจฉัย เรื่องพิจารณาที่ 17/2566 นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวหาว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ 

โดยในวันนี้นายธีรยุทธ เดินทางมาศาล ขณะที่ฝั่งผู้ถูกร้องคือ นายพิธา และพรรคก้าวไกล มิได้เดินทางมา และมิได้ส่งใครมาฟังคำวินิจฉัยของศาล
    
 

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เอกสารประกอบคำร้อง และพยานหลักฐานที่ได้จากหน่วยงานต่าง ๆ บันทึกยืนยันข้อเท็จจริง หรือความเห็น และบันทึกคำให้การของพยาน และคำแถลงการณ์ปิดคดีแล้ว เห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายเพียงพอวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน

ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่า เมื่อ 25 มี.ค. 2564 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (ผู้ถูกร้องที่ 1) และ สส.พรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) จำนวน 44 คน เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวกลฎหมายอาญา ฉบับที่ .. พ.ศ. …. แก้ไขความผิดฐานหมิ่นประมาท ยื่นต่อประธานสภาฯ ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง สส. เป็นการทั่วไปปี 2566 โดยผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้นโยบายของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 

ประกอบกับผู้ถูกร้องทั้ง 2 มีพฤติการณ์รณรงค์แก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกกฎหมายดังกล่าวเรื่อยมา โดยการเข้าร่วมการชุมนุม การจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิก มาตรา 112 และมีกรรมการบริหารพรรค สส. และสมาชิกของพรรคก้าวไกล เป็นผู้ต้องหา หรือเป็นนายประกันผู้ต้องหา ความผิดตามมาตรา 112 และเคยแสดงความเห็น ทั้งให้แก้ไข และยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ผ่านการจัดกิจกรรมทางการเมือง และสื่อสังคมออนไลน์หลายครั้ง

กรณีมีข้อโต้แย้งต้องวินิจฉัยตามคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้องทั้ง 2 ก่อนว่า ผู้ร้องบรรยายคำร้องโดยอ้างความเห็นบุคคลอื่น เป็นการคาดคะเน ไม่ยืนยันข้อเท็จจริง หรือพฤติกรรมที่เกี่ยวข้อง มิได้ระบุข้ออ้างที่อาศัยหลักแห่งข้อหาว่า ผู้ถูกร้องทั้ง 2 กระทำการล้มล้างการปกครองอย่างไร ทำให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 ไม่อาจเข้าใจได้ เป็นคำร้องที่ไม่ชอบตาม พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ 2561 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง (2) หรือไม่

ละเอียด! มติศาล รธน.ฟัน ‘พิธา-ก้าวไกล’ ล้มการปกครอง เจตนาแยกสถาบันฯจากชาติ

เห็นว่า คำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบคำร้อง ที่ผู้ร้องกล่าวหาอ้าง 25 มี.ค. 2564 ผู้ถูกร้องที่ 1 กับพวก เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ยื่นต่อประธานสภาฯ เพื่อแก้ไขมาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง โดยอ้างพยานเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งพยานวัตถุได้แก่ ภาพนิ่ง บันทึกภาพเคลื่อนไหวและเสียง พร้อมถอดข้อความเป็นลายลักษณ์อักษร ของผู้ถูกร้องทั้ง 2 ประกอบ ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำร้อง คำร้องจึงชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 เข้าใจสภาพการกระทำที่เป็นข้อกล่าวหา และสามารถต่อสู้คดีได้ คำร้องของผู้ร้อง ชอบด้วย พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ 2561 มาตรา 42

ประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยมีว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 2 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

พิจารณาแล้วเห็นว่า การตรากฎหมาย หรือ พ.ร.บ. เป็นกฎเกณฑ์ที่ผู้มีอำนาจตราขึ้นเพื่อให้บุคคลใช้บังคับ กำหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือระหว่างบุคคลกับรัฐ หรือใช้ในการบริหารประเทศ การที่สังคมหนึ่งจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ย่อมจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน แน่นอน เป็นธรรม

ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือรัฐสภา เป็นองค์กรหลักใช้อำนาจอธิปไตยด้านนิติบัญญัติ ตามรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด บทบัญญัติแห่งกฎหมายใด ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ ย่อมบังคับใช้ไม่ได้ การตรากฎหมาย ฝ่ายนิติบัญญัติต้องพิจารณามิให้ขัดหรือแย้งต่อหลักการที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ

กระบวนการตรากฎหมายต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ต้องดำเนินการตามรูปแบบ ขั้นตอน และภายในระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด แม้การเสนอร่างกฎหมายต่อสภาฯ เป็นวิธีการทางรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจหน้าที่พิจารณา หรือเสนอร่าง พ.ร.บ. แต่เมื่อร่างกฎหมายผ่านกลไกฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญ ยังมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของกฎหมายหรือร่างกฎหมายได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (1) ถือเป็นการตรวจสอบ ถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติ

การที่ รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กำหนดหน้าที่ และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เข้ามาตรวจสอบการกระทำในการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง โดยมิได้บัญญัติยกเว้นการกระทำใดเป็นการเฉพาะ การเสนอร่างกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติ จึงเป็นการกระทำหนึ่ง อาจถูกตรวจสอบได้ว่า เป็นการกระทำล้มล้างการปกครอง

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 เป็นบทบัญญัติมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นมาตรการปกป้องคุ้มครองระบอบการปกครองของประเทศ ให้เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการคือ 1ระบอบประชาธิปไตย และพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

คำว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นรูปแบบปกครองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ส่วนพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการให้ความหมายประมุขของรัฐว่า ประเทศปกครองโดยมีประมุขของรัฐรูปแบบพระมหากษัตริย์ โดยหลักการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติครั้งแรกใน รัฐธรรมนูญ 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495 มาตรา 35 และบัญญัติทำนองเดียวกันไว้ใน รัฐธรรมนูญต่อมาทุกฉบับ เป็นการวางหลักการเพื่อพิทักษ์ปกป้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากภัยคุกคามอันเกิดจากากระทำ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มุ่งหมายให้หลักการและคุณค่าทางรัฐธรรมนูญ ที่รองรับการดำรงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิให้ล้มเลิก หรือสูญเสียไป

บทบัญญัติมาตรานี้คุ้มครองมิให้ใช้สิทธิหรือเสรีภาพ ส่งผลบั่นทอนทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ สั่นคลอน คติ รากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย ที่ดำรงอยู่ให้เสื่อมทราม หรือต้องสิ้นสลายไป จึงบัญญัติให้มีกลไกปกป้องระบอบการปกครองจากการถูกบั่นทอน บ่อนทำลาย โดยการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่เกินขอบเขตของบุคคล หรือพรรคการเมืองไว้

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บทบัญญัติกำหนดการกระทำอันเป็นความผิด และกำหนดอัตราโทษแก่ผู้กระทำการหมิ่น ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ หากผู้ใดกระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว ต้องได้รับโทษทางอาญา เพราเหตุแห่งการกระทำนั้น

สอดคล้องไทยมีการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหนึ่งในรัฐธรรมนูญ สืบเนื่องจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์โบราณราชประเพณี นิติประเพณี นอกจากมีลักษณะเป็นสถาบันหลักของประเทศ พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดมิได้ จะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้ พระเกียรติของสถาบัน ผดุงซึ่งเกียรติยศของประเทศ รักษาคุณลักษณะสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีความชอบธรรมต้องมีกฎหมายคุ้มครองมิให้มีการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ และสถาบันหลักของประเทศตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง คุ้มครองไว้

การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 และ สส.พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 รวมจำนวน 44 คน เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา แก้ไขความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาท ยื่นประธานสภาฯ เมื่อ 25 มี.ค. 2564 มีเนื้อหาแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 จากเดิมเป็นหมวด 1 ลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ให้เป็น 1/2 เป็นหมวดความผิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ ซึ่งการที่ประมวลกฎหมายอาญา แบ่งลักษณะความผิดเป็น 13 ลักษณะ โดยจัดเรียงตามลักษณะความผิดอันเป็นการกระทำกระทบต่อรัฐ ความผิดที่กระทบต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อสาธารณชน ความผิดกระทบต่อสังคม และความผิดที่กระทบต่อปัจเจกบุคคล

แม้ผู้ถูกร้องที่ 2 โต้แย้งว่า ประมวลกฎหมายอาญา มิได้กำหนดลำดับศักดิ์ของหมวดหมู่หรือลักษณะกฎหมายไว้ แต่ประมวลกฎหมายอาญาแต่ละลักษณะ เรียงลำดับความสำคัญ และความร้ายแรงในแต่ละหมวดไว้ในแต่ละมาตรา โดยมาตรา 112 อยู่ในลักษณะ 1 ความผิดมั่นคงแห่งรัฐ และความผิดแห่งราชอาณาจักร เนื่องจากต้องคุ้มครองทั้งความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และเกียรติยศประมุขรัฐ สอดคล้องรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 ว่า ไทยมีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สถาบันพระมหากษัตริย์จึงสัมพันธ์กับความมั่นคงของประเทศ เพราะพระมหากษัตริย์กับไทย หรือชาติไทย ดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นศูนย์รวมจิตใจคนในชาติ ธำรงปึกแผ่นของคนในประเทศ การกระทำความผิดต่อสถาบันฯ จึงเป็นการกระทำผิดต่อความมั่นคงของประเทศด้วย 

การที่ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอให้ มาตรา 112 ออกจากลักษณะที่ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร กระทำมุ่งหวังให้ความผิด มาตรา 112 เป็นความผิดที่ไม่มีความสำคัญ และความร้ายแรงระดับเดียวกับความผิดตามหมวดลักษณะ 1 และไม่ให้ถือว่ากระทบต่อความมั่นคงของประเทศอีกต่อไป เจตนามุ่งหมายแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทยออกจากกัน เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ อย่างมีนัยสำคัญ

ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 28-29/2555 วางหลักเกี่ยวกับบทบัญญัติ มาตรา 112 ไว้ว่า การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ มีลักษณะของการกระทำผิดที่มีความร้ายแรงมากกว่า ดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท บุคคลธรรมดา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ประกอบกับ เพื่อพิทักษ์ปกป้องพระมหากษัตริย์ฯ มิให้ถูกล่วงละเมิดโดยการหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายได้โดยง่าย จึงไม่มีการยกเว้นความผิด หรือยกเว้นโทษ ทำนองมาตรา 329 และมาตรา 330 

การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 กับพวกเสนอเพิ่มบทบัญญัติ ผู้กระทำผิดพิสูจน์เหตุยกเว้นผิด ยกเว้นโทษ ตามร่างกฎหมายดังกล่าว มาตรา 6 ให้เพิ่มมาตรา 135/7 ว่า ผู้ใดติชม หรือแสดงความเห็น หรือแสดงข้อความโดยสุจริต รักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อดำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่เป็นความผิด และมาตรา 135/8 ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อหาที่ผิดเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ย่อมทำให้ผู้กระทำผิด ใช้ข้อกล่าวอ้างว่าตนเข้าใจผิด และเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นความจริง เป็นข้อต่อสู้ และขอพิสูจน์ความจริงทุกคดี เช่นเดียวกับผู้กระทำผิดคดีหมิ่นประมาททั่วไปยกต่อสู้ ทั้งที่ลักษณะกระทำผิดมีความร้ายแรงมากกว่าดูหมิ่นบุคคลธรรมดา

การพิจารณาของศาลยุติธรรม ต้องสืบพยาน ข้ออ้าง ข้อถกเถียง ข้อต่อสู้ระหว่างคู่ความในคดี การพิสูจน์เหตุดังกล่าว ต้องพาดพิง กล่าวหาสถาบันฯ ที่อยู่ในสถานะอันควรเคารพสักการะอย่าหลีกเลี่ยงมิได้ ไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติให้พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะเคารพสักการะผู้ใดละเมิดมิได้ และทำให้ข้อความกระจายสาธารณะ เป็นการเสื่อมพระเกียรติ

การที่เสนอให้ความผิด มาตรา 112 ยอมความได้ โดยเพิ่มความในมาตรา 135/9 วรรคหนึ่งว่า เป็นความผิดยอมความได้ และวรรคสอง ให้สำนักพระราชวังร้องทุกข์ และถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติพระมหากษัตริย์นั้น และให้สำนักพระราชวัง ในฐานะผู้เสียหายร้องทุกข์ มุ่งหมายให้การกระทำผิดตามมาตรา 112 กลายเป็นความผิดในเรื่องส่วนพระองค์ของสถาบันฯ เป็นการลดสถานะความคุ้มครองของสถาบันฯ ให้รัฐไม่ต้องเป็นผู้เสียหายในเรื่องดังกล่าวโดยตรง และให้สถาบันฯ เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน และจะเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ส่งผลให้การกระทำผิด มาตรา 112 ไม่ใช่การกระทำผิดที่กระทบต่อชาติ และประชาชน ทั้งที่การกระทำผิดดังกล่าว ย่อมเป็นการทำร้ายจิตใจของชนชาวไทย ที่มีความเคารพสถาบันฯ เพราะทรงเป็นประมุข และศูนย์รวมความเป็นชาติ ที่รัฐต้องคุ้มครอง และรัฐต้องเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา

ดังนั้นแม้การเสนอร่างกฎหมายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะเป็นหน้าที่และอำนาจของ สส. ผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 133 และร่างกฎหมายดังกล่าวจะไม่ได้รับการบรรจุในวาระการประชุมสภาฯก็ตาม เมื่อการเสนอร่างกฎหมายนี้ กลับดำเนินการโดย สส.ที่สังกัดพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ทั้งสิ้นเพียงพรรคเดียว ทั้งผู้ถูกร้องทั้ง 2 เบิกความต่อศาล ยอมรับว่า พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 นำเสนอนโยบายดังกล่าวให้แก่ กกต. เพื่อใช้เป็นนโยบายรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง สส. 2566 และปัจจุบันยังคงปรากฏเป็นนโยบายการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 112 อยู่บนเว็บไซต์ของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2

การที่ผู้ถูกร้องทั้ง 2 ใช้การเสนอแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นนโยบายของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ในการหาเสียงเลือกตั้ง แม้ไม่มีร่างแก้ไข มาตรา 112 ให้เห็นว่าจะแก้ไขในประเด็นใด และเสนอมาพร้อมนโยบายพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ก็ตาม แต่ตามเว็บไซต์ของพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการแก้ไข มาตรา 112 กับมีเนื้อหาที่จะแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 112 ทำนองเดียวกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา แก้ไขเกี่ยวกับความผิดหมิ่นประมาทเมื่อ 25 มี.ค. 2564 ที่ยื่นต่อประธานสภาฯ

ดังนั้นถือได้ว่า พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมกับผู้ถูกร้องที่ 1 เสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา แก้ไขเกี่ยวกับความผิดหมิ่นประมาท เมื่อ 25 มี.ค. 2564 ที่ยื่นต่อประธานสภาฯ อีกทั้งเนื้อหาของร่างกฎหมาย ที่ผู้ถูกร้องทั้ง 2 เสนอ เป็นพฤติการณ์แสดงออกถึงเจตนาของผู้ถูกร้องทั้ง 2 ต้องการลดทอนการคุ้มครองสถาบันฯลง โดยผ่านร่างกฎหมาย และอาศัยกระบวนการทางนิติบัญญัติ อาศัยความชอบธรรมซ่อนเร้นผ่านสภา

นอกจากนี้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 ยังมีพฤติการณ์หาเสียงทางการเมือง เพื่อเสนอแนวความเห็นทางการเมืองแก่ประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนทั่วไปไม่รู้เจตนาแท้จริงของผู้ถูกร้องทั้ง 2 อาจหลงกับความเห็นผ่านการเสนอร่างกฎหมาย และนโยบายของพรรค ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2562 วินิจฉัยว่า สาระสำคัญหลักการขั้นพื้นฐานของระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ของไทย ดังระบุในความของพระราชหัตถเลขา 1/60 ลงวันที่ 14 พ.ย. 2547 ว่า พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ดำรงฐานะอยู่เหนือการเมือง โดยเฉพาะการไม่เข้าไปมีบทบาท ฝักฝ่าย ต่อสู้ หรือรณรงค์ทางการเมือง อันอาจนำมาซึ่งการโจมตี ติเตียน และกระทบกระเทือนต่อความเป็นกลางของสถาบันฯ ต้องถูกลบล้างไป

ดังปรากฏเป็นที่ประจักษ์ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 6/43 วินิจฉัยว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตย ทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง เป็นกลางการเมือง การที่ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอแก้ไขมาตรา 112 เพื่อลดสถานะของสถาบันฯ เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้นโยบายพรรคโดยนำสถาบันฯ หวังผลคะแนนเสียง และประโยชน์ในการชนะเลือกตั้ง มุ่งหมายให้สถาบันฯ อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ทำให้สถาบันฯเป็นฝักใฝ่ ต่อสู้ แข่งขัน หรือรณรงค์ทางการเมือง อันอาจนำมาซึ่งการโจมตี ติเตือน ไม่คำนึงหลักการพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีหลักสำคัญว่า พระมหากษัตริย์ต้องดำรงฐานะอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมือง

การที่ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอแก้ไข มาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรคหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าว มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันฯ เป็นเหตุให้สถาบันฯชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เป็นเหตุให้นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องทั้ง 2 ฟังไม่ขึ้น

ส่วนข้อโต้แย้งผู้ถูกร้องที่ 2 ที่อ้างหลักการเสรีประชาธิปไตย โดย สส.เป็นผู้แทนประชาชนขับเคลื่อนนโยบายหาเสียงไว้ และการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายของ สส. เป็นการกระทำในฐานะผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นเอกสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 133 วรรคหนึ่ง (2) ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติพรรคนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา แก้ไขความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาท เมื่อ 24 มี.ค. 2564 กลับดำเนินการโดย สส.สังกัดพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ทั้งสิ้น ทั้งผู้ถูกร้องทั้ง 2 เบิกความต่อศาล ยอมรับว่า พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 นำเสนอนโยบายแก้ไข มาตรา 112 ให้แก่ กกต. เพื่อใช้เป็นนโยบายรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง สส. 2566 และปัจจุบันยังคงปรากฏนโยบายดังกล่าวบนเว็บไซต์ของพรรคก้าวไกล 

ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องที่ 2 ว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ใช้เฉพาะกับบุคลธรรมดา ไม่ใช้กับพรรคการเมืองนั้น ผู้ถูกร้องที่ 1 ในฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง และพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์สำคัญดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เมื่อพิจารณาความในหมวด 3 มิได้กำหนดเฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้น ประกอบกับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 มาตรา 20 ประกอบ 23 (1) (5) บัญญัติหน้าที่พรรคการเมือง ต้องส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไว้อย่างชัดเจน รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 จึงใช้บังคับกับพรรคการเมืองที่เป็นนิติบุคคลได้ 

เมื่อพรรคแสดงบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองสอดรับกับกลุ่มการเมืองต่าง ๆ โดยการรณรงค์ปลุกเร้า และยุยงปลุกปั่น สร้างกระแสในสังคมมาให้สนับสนุนการยกเลิก หรือแก้ไข มาตรา 112 ปรากฏพฤติการณ์ของพรรคผู้ถูกร้องทั้ง 2 พบว่า มีกลุ่มบุคคลมีชื่อทำกิจกรรม ยืน หยุด ขัง มีข้อเรียกร้องให้ทุกพรรคเสนอนโยบายยกเลิก มาตรา 112 มีกลุ่มบุคคลปัจจุบันเป็น สส. สังกัดพรรคก้าวไกล จัดชุมนุมโดยแนวร่วมคณะราษฎร ยกเลิกมาตรา 112 (ครย.112) มีการรณงค์ให้ยกเลิก หรือแก้ไข มาตรา 112 มีพฤติการณ์สนับสนุนเรียกร้องยกเลิกมาตรา 112 โดยโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมนายประกัน ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามข้อหา 112 ได้แก่ ผู้ถูกร้องที่ 1 และนายชัยธวัช ตุลาธน นายรังสิมันต์ โรม น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา นายทองแดง เบ็ญจะปัก น.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล และนายธีรัจชัย พันธุมาศ ในขณะที่เป็น หรือเป็นอดีต สส.พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 

ปรากฏว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 รวมถึงกรรมการบริหารพรรค  สส.ทั้งในอดีตและปัจจุบัน และสมาชิกพรรคก้าวไกล มีพฤติกรรมเกี่ยวกับการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 หลายราย ได้แก่ นายปิยรัฐ จงเทพ 2 คดี น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว 2 คดี น.ส.รักชนก ศรีนอก เป็นต้น การกระทำผิดตาม มาตรา 112 นั้น เป็นความผิดอาญา ผู้กระทำจะต้องมีการกระทำที่เข้าองค์ประกอบแห่งความผิด จึงถูกกล่าวหาและดำเนินคดีได้ ผู้ถูกร้องทั้ง 2 จึงไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่า เป็นความเห็นต่าง หรือคดีการเมือง เพราะการใช้สิทธิหรือเสรีภาพตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 34 มีข้อห้ามมิให้ใช้สิทธิหรือเสรีภาพหาเป็นการกระทำส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

พฤติการณ์หรือเข้าร่วมการชุมนุมที่รณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 หรือเป็นหลักประกันให้ผู้ต้องหา หรือจำเลยในข้อหาตาม มาตรา 112 หรือเป็นผู้กระทำผิดในข้อหาดังกล่าวเสียเอง แสดงให้เห็นว่า พรรคก้าวไกล เป็นกลุ่มการเมืองมีอุดมการณ์เปลี่ยนแปลงแก้ไข ยกเลิกบทบัญญัติกฎหมายที่คุ้มครองสถาบันฯ 

โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2666 พรรคก้าวไกล จัดกิจกรรมปราศรัยใหญ่ ณ สวนสาธารณะ เทศบาลนครแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดย น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ ขึ้นเวทีปราศรัย เชิญชวนผู้ถูกร้องที่ 1 และว่าที่ผู้สมัคร สส.พรรคก้าวไกล ร่วมกิจกรรม “คุณคิดว่า มาตรา 112 ควรยกเลิกหรือแก้ไข” โดยผู้ถูกร้องที่ 1 นำสติกเกอร์สีแดงปิดลงในช่องยกเลิกมาตรา 112 

แม้ผู้ถูกร้องที่ 1 โต้แย้ง เบิกความว่า เป็นเพียงการแสดงออกเพื่อโน้มน้าวให้ผู้ตั้งกระทู้ และผู้ฟังปราศรัยทั่วไป สงบสติอารมณ์ก่อนปราศรัยเหตุผลสมควรแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่ และเป็นการบริหารสถานการณ์ไม่ให้เกิดความรุนแรงนั้น แต่ข้อเท็จจริงปรากฏในหนังสือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)ว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ปราศรัยความตอนหนึ่งว่า “พี่น้องประชาชน เสนอกฎหมายยกเลิก ม.112 เข้ามา พรรคก้าวไกลจะสนับสนุนเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นต้องขอโทษน้องทั้ง 2 คน พี่ต้องแก้ไข ม.112 ในสภาฯ  ก่อน ถ้ายังไม่ได้แก้ ก้าวไกลจะออกไปสู้ด้วยกันครับ”

แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของผู้ถูกร้องที่ 1 อันเป็นหัวหน้าพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ขณะนั้น สนับสนุนการยกเลิกมาตรา 112 ทำให้บทบัญญัติในการคุ้มครองสถาบันฯหมดสิ้นไป เพราะหากไม่ได้รับการแก้ไขภายในสภาฯ ก็พร้อมที่จะดำเนินการโดยอาศัยวิถีทางอื่น นอกเหนือจากระบวนการนิติบัญญัติ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ เคยมี 19/2564 ว่า การกระทำทำลายล้างสถาบันฯชัดแจ้ง เซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันฯ ทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ วางบรรทัดฐานระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงสถานะเหนือการเมือง เป็นกลาง การกระทำใด ๆ ทั้งส่งเสริม หรือทำลาย สูญเสียสถานะเป็นกลาง หรือเหนือการเมือง ย่อมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม เข้าลักษณะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แม้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 โต้แย้งว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 มีองค์ประกอบของการกระทำอันเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้นั้น ต้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพก็ตาม แต่ทั้งนี้การใช้เสรีภาพต้องไม่ขัดต่อความสงบ ศีลธรรมอันดี หรือไม่ละเมิดเสรีภาพบุคคลอื่น โดย รัฐธรรมนูญ มาตรา 25 และมาตรา 34 กำหนดกรอบการใช้สิทธิเสรีภาพ สอดคล้องกติการะหว่างประเทศ ไว้ 3 ข้อ

1.ต้องไม่กระทบความมั่นคงปลอดภัยต่อชาติ 
2. ต้องไม่กระทบความสงบเรียบร้อย 
3.ต้องไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของคนอื่น 

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 2 มีพฤติการณ์ใช้เสรีภาพความเห็นเพื่อทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยซ่อนเร้น หรือผ่านการนำเสนอร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรค แม้เหตุการณ์คำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่การดำเนินการรณรงค์ให้ยกเลิก หรือแก้ไขมาตรา 112 มีลักษณะดำเนินการต่อเนื่อง เป็นขบวนการ ใช้หลายพฤติการณ์ประกอบกัน ทั้งการชุมนุม จัดกิจกรรม รณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เสนอร่างกฎหมายต่อสภาฯ การใช้นโยบายหาเสียงเลือกตั้ง หากปล่อยให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 กระทำต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุในการล้มล้างการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การกระทำขงผู้ถูกร้องทั้ง 2 จึงเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ 49 วรรคหนึ่ง โดยวรรคสองให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 2 ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 เลิกการกระทำ แสดงความเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้ยกเลิกมาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ 49 และ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 74

ทั้งนี้ คำวินิจฉัยศาล รัฐธรรมนูญ ย่อมมีผู้เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่การวิจารณ์คำวินิจฉัยโดยไม่สุจริต และใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคายเสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย จะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตาม พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 38 วรรคท้าย มีโทษทั้งตักเตือน จำคุก หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท