'อุตตม' เสนอ New Thailand Narrative กำหนดบริบทใหม่ฟื้นเศรษฐกิจประเทศ

'อุตตม' เสนอ New Thailand Narrative กำหนดบริบทใหม่ฟื้นเศรษฐกิจประเทศ

'อุตตม' เผยประเทศไทยต้องสร้างบริบทใหม่ New Thailand Narrative เพื่อฟื้นเศรษฐกิจประเทศเติบโตยั่งยืน ชี้ทำแบบเดิมย่อมได้ผลลัพธ์แบบเดิม ระบุต้องสร้างความสมดุลระหว่างการเงินกับการคลัง ภายใต้ชุดนโยบายและมาตรการที่มีเป้าหมายชัดเจน

วันที่ 20 มกราคม 2567 นายอุตตม สาวนายน ประธานกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงแนวทางการฟื้นและพัฒนาเศรษฐกิจประเทศว่า วันที่ 16 มกราคม พรรคพลังประชารัฐ ได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ 'พลิกมุมคิด เรื่องการเงินการคลัง' โดยมีตนเองกับนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ร่วมกันคิด เพื่อเสนอแนวทางการผลักดันเศรษฐกิจประเทศให้ขยายตัวทั้งในระยะสั้นอย่างเร่งด่วน และยั่งยืนในระยะยาว

 

 

การกำหนดบริบทใหม่ประเทศ (New Thailand Narrative) มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท่ามกลางปัญหา ความเสี่ยงและความท้าทายมากมายในปัจจุบัน รวมทั้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นเราควรต้องหาแนวทางการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งเดิมๆ ที่เป็นอยู่ เพื่อสร้างแนวทางไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า

 

สิ่งที่ตนนำเสนอในเวทีเสวนาวันนั้น สรุปมุมมองสำคัญ คือ การสร้างบริบทใหม่ประเทศต้องเริ่มต้นจาก 'สังคมมติ' ที่ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมเป็นน้ำหนี่งใจเดียวภายใต้เป้าหมายเดียวกัน

 

ก่อนหน้านี้มีข่าวผ่านสื่อมวลชนถึงความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลผู้ดูแลเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านนโยบายการคลัง กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ดูแลด้านนโยบายเสถียรภาพการเงิน ซึ่งในอดีตอาจเป็นเรื่องปกติที่ต่างก็มีบทบาทหน้าที่ของตัวเอง แต่โลกวันนี้จะเห็นได้ว่าหลายประเทศชั้นนำเดินหน้าเครื่องมือทั้งนโบบายการเงินและและนโยบายการคลังควบคู่กัน เพราะความเสี่ยงและความท้าทายเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้นรอบด้าน การใช้เครื่องมือทั้งสองโดยไม่สอดประสานกันทำให้การขับเคลื่อนไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการรับมือ

 

 

นายอุตตม ยังกล่าวอีกว่า มั่นใจว่าการขับเคลื่อนระหว่างการผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัว สามารถทำได้ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน เพราะความจริงทั้งสองเครื่องมือนั้นมีเป้าหมายเดียวกัน คือการทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพียงแต่ผู้มีหน้าที่ต้องพูดคุยทำงานสอดประสานกันให้มีจุด 'สมดุล' ทั้งสองด้าน

 

สำหรับนโยบายการคลัง การที่จะทำให้เข้าสู่สมดุลระหว่างการเร่งฟื้นเศรษฐกิจกับการเติบโตที่ยั่งยืน จำเป็นต้องใช้ชุดนโยบายและมาตรการที่รัดกุม ตรงเป้า ทั้งการแก้ปัญหาที่สั่งสมมานานจนกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อความอ่อนแอประเทศ ทั้งเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ หนี้สินภาคครัวเรือน การเข้าถึงแหล่งทุนของธุรกิจ SME การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะในโลกการแข่งขันปัจจุบัน รวมไปถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศในอีกไม่นาน สิ่งเหล่านี้ภาคการคลังต้องกำหนดนโยบาย มาตรการและการลงทุนเข้าไปรองรับ สอดรับการปฏิรูปโครงสร้างการคลังและการใช้จ่ายงบประมาณ


 
ทุกฝ่ายทราบดีว่า ปี 2567 จะเป็นปีที่โลกมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจสูงมาก หากเราไม่สามารถเร่งการฟื้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้เร็วกว่าที่เป็นอยู่ พร้อมๆกับสร้างความเข้มแข็งให้เพียงพอต่อการรับมือความเสี่ยงใหม่ๆ ที่ใหญ่กว่าเดิม เราอาจต้องเผชิญความยากลำบากยิ่งขึ้น ดังนั้นสังคมไทยต้องมาร่วมกันประกาศบริบทใหม่ New Thailand Narrative ให้โลกได้รับรู้ วันนี้เราต้องไม่ทำแบบเดิมๆ เพื่อผลลัพธ์แบบเดิมๆ อีกต่อไป