กมธ.งบฯ รอพิจารณา “เรือดำน้ำ” ของกองทัพเรือในชั้น อนุฯ กมธ.

กมธ.งบฯ รอพิจารณา “เรือดำน้ำ” ของกองทัพเรือในชั้น อนุฯ กมธ.

กมธ.งบฯ รอพิจารณา “เรือดำน้ำ” ของกองทัพเรือในชั้น อนุฯ กมธ. - ฝากกองทัพปรับลดขนาดเล็กลง ลดตำแหน่งในระดับสูงที่ไม่จำเป็น

17 ม.ค.2567 นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยความคืบหน้าการพิจารณางบประมาณของกระทรวงกลาโหมทั้งสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม, กองบัญชาการกองทัพไทย, กองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 กระทรวงกลาโหม ได้ขอรับจัดสรรงบประมาณกว่า 198,000 ล้านบาทว่า กรรมาธิการฯ ได้ฝากข้อสังเกตต่อขนาดกองทัพ ที่กองทัพควรปรับขนาดให้มีขนาดที่เล็กลง ปรับลดบางตำแหน่งในระดับสูงที่ไม่จำเป็น เช่น ที่ปรึกษา หรือผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อประหยัดงบประมาณ มีโครงสร้างที่ทันสมัย และทำให้กองทัพทันสมัยหลากหลายด้าน เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจความมั่นคงในอนาคตที่มีรูปแบบแตกต่างกันไป และหวังว่า ในอนาคตกองทัพจะใช้งบประมาณลดลง ส่วนการเกณฑ์ทหารนั้น กรรมาธิการฯ เห็นว่า ควรเปิดให้มีการเกณฑ์ทหารตามความสมัครใจมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้เกณฑ์ สามารถเลือกเหล่าทัพได้ พร้อมแนะนำให้ปรับสวัสดิการทหารเกณฑ์ ให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน

ส่วนการจัดซื้อยุทโธปกรณ์นั้น โฆษกกรรมาธิการฯ ได้แนะนำกระทรวงกลาโหมว่า การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ ควรมีนโยบายการจัดซื้อชดเชย หรือ Offset Policy กับประเทศคู่ค้า ที่ซื้ออาวุธแล้ว ประเทศไทย ควรได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้ประเทศสามารถเป็นประเทศส่งออกอาวุธได้ เหมือนประเทศเกาหลีใต้ และนำข้อผิดพลาดการจัดซื้ออาวุธในอดีตมาเป็นบทเรียน เพื่อกำหนดแนวทางการจัดซื้ออาวุธที่จำเป็นด้วยความโปร่งใส 

โฆษกกรรมาธิการฯ ยังกล่าวถึงการประกอบธุรกิจของกองทัพว่า กรรมาธิการฯ ได้มีการตั้งข้อสังเกต และให้คำแนะนำต่อกองทัพในการจัดทำบัญชี และการชี้แจงสังคม เพื่อให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

ส่วนการดำเนินการต่อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รอคำตอบแนวทางการดำเนินการจากอัยการสูงสุดนั้น โฆษกกรรมาธิการฯ ระบุว่า จะต้องรอพิจารณาในชั้นกรรมาธิการฯ