‘กกต.’ มีไว้ทำไม ? ความเสี่ยงนโยบาย ‘แจกหมื่น’

‘กกต.’ มีไว้ทำไม ? ความเสี่ยงนโยบาย ‘แจกหมื่น’

นโยบายแจกหมื่นของ "รัฐบาล" ดูท่าจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ มีองค์กรท้วงติงปม "ความเสี่ยงทุจริต" คำถามพ่วงในสังคมที่เกิดขึ้น คือ "กกต." ทำไมปล่อยผ่าน ละการทำหน้าที่ "ตัดไฟแต่ต้นลม"

Key Points

  • กฤษฎีกา และ ป.ป.ช. ทักท้วง นโยบายแจกหมื่น ด้วยวิธีการกู้เงิน5แสนล้านบาท ว่า เสี่ยงทุจริตหลายช่อง หวังเบรกความเสียหาย
  • ท่าทีรัฐบาล ประกาศเรือธงเดินหน้า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วย "เติมเงินดิจิทัลหมื่นบาท" ทั้งที่มีปัญหาในขั้นตอนปฏิบัติ
  • นโยบายที่มีปัญหาก่อนจะทำ คำถามใหญ่คือ ก่อนหน้าที่ "กกต." ทำไมไม่ทำอะไร หรือ "ตัดไฟแต่ต้นลม"
  • จากรัฐธรรมนูญ ถึง พ.ร.ป.พรรคการเมือง กำหนดหน้าที่และอำนาจให้ กกต.ต้องกำกับการเลือกตั้งให้โปร่งใส
  • คำถามจากนักวิชาการด้านกฎหมาย มองว่า กกต. ไม่ควรปัดภาระ และต้องร่วมรับผิดชอบกับประเด็น "แจกเงินดิจิทัล" ที่เกิดขึ้นด้วย

 

 

โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย ถูกผลักดันให้เป็น “นโยบายเร่งด่วน” ของ รัฐบาลเศรษฐา ที่ต้องเร่งดำเนินการให้สำเร็จตามสัญญา ทว่ากลับมีกระแสทักท้วงจากหลายฝ่ายในสังคมอย่างต่อเนื่อง

แม้แต่ความเห็นจาก “กฤษฎีกา” ฐานะฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล ที่ไม่ไฟเขียวต่อการกู้เงินเพื่อทำโครงการนี้ กระทั่ง ล่าสุด คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต ของป.ป.ช.ได้จัดทำ “ร่างข้อเสนอแนะ” ในหลายประเด็นที่สุ่มเสี่ยง ให้ ป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณา ก่อนจะมีมติส่งไปยังรัฐบาล

‘กกต.’ มีไว้ทำไม ? ความเสี่ยงนโยบาย ‘แจกหมื่น’ จากกรณีที่เกิดขึ้น มีประเด็นที่ถูกตั้งคำถามแทรกขึ้นมา ถึงบทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ที่มีหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้ง และมีหน้าที่สำคัญต่อการกำกับ“นโยบายของพรรคการเมือง” ตั้งแต่เริ่มต้นหาเสียง

โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ได้ชื่อว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง และมีเค้าโครงการจัดทำรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 (7) มีสาระสำคัญ “ให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว”

ประเด็นนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า “สารตั้งต้น” คือ โครงการประชานิยมของรัฐบาลที่ผ่านๆ มา เช่น โครงการรับจำนำข้าว ที่เกิดปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจและก่อให้เกิดการทุจริตขนานใหญ่

ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ที่มี “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เป็นประธาน ได้วางหลักการให้ “การเมืองโปร่งใส” บัญญัติให้ กกต. เป็นกลไกในกระบวนการสร้างการเมืองที่โปร่งใส ให้อำนาจออกระเบียบต่างๆ ควบคุมเลือกตั้ง การหาเสียง และการดำเนินการใดๆ ของพรรคการเมือง

‘กกต.’ มีไว้ทำไม ? ความเสี่ยงนโยบาย ‘แจกหมื่น’ แม้รัฐธรรมนูญ ฉบับปฏิรูปจะไม่ผ่านความเห็นชอบ แต่หลักการดังกล่าวยังถูกคงไว้ และในการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้กำหนดไว้ในมาตรา 224 ว่าด้วยหน้าที่และอำนาจของ กกต. ​(5) ให้ดูแลการดำเนินงานของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งหมายถึง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

กับประเด็นที่ตั้งคำถามกับ กกต.ต่อการกำกับนโยบายของพรรคการเมืองนั้น กำหนดไว้ในมาตรา 57 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่ให้ส่งนโยบายหาเสียงให้ กกต. ให้ชี้แจงแหล่งที่มาของเงิน ความคุ้มค่า และประโยชน์ ผลกระทบความเสี่ยงในการทำนโยบาย

ต่อเรื่องนี้ “รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก” ผู้ที่มีส่วนร่วมกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป และเป็นที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 มองถึงข้อท้วงติงต่อโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยตั้งข้อสงสัยไปยัง กกต.ซึ่งมีหน้าที่ “ตัดไฟแต่ต้นลม” ว่าทำไม ไม่กำกับนโยบายหาเสียงของ “พรรคการเมือง” ตั้งแต่ต้น

“ตั้งแต่ที่พรรคเพื่อไทยนำเสนอนโยบายเติมเงินดิจิทัลฯ ต่อ กกต. ผมมองว่า กกต.พิจารณาความคลาดเคลื่อน เพราะจะรับว่า ทุกอย่างที่พรรคการเมืองเสนอ และเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ว่าเป็นนโยบายทั้งหมดไม่ได้ แต่ต้องพิจารณารายละเอียดว่า อะไรคือนโยบาย อะไรคือการจัดเตรียม ที่เข้าข่ายเป็นสัญญาว่าจะให้” อ.เจษฎ์ เปิดประเด็น

‘กกต.’ มีไว้ทำไม ? ความเสี่ยงนโยบาย ‘แจกหมื่น’

มุมมองของนักกฎหมาย และผู้ที่คลุกวงใน การยกร่างกติกาสูงสุดของประเทศ มองว่า โครงการเติมเงินดิจิทัลนั้น ไม่ใช่นโยบาย แต่คือการสัญญาว่าจะให้ เข้าข่ายทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ตั้งแต่แรก และเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่ต้องกำกับอย่างเข้มข้น โดยไม่ปล่อยผ่าน แม้ กกต.เคยบอกว่า ให้พรรคเพื่อไทยชี้แจงรายละเอียดแล้ว แต่เมื่อชี้แจงไม่ได้ หรือไม่กระจ่าง ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ใน 3 หัวข้อหลัก และ 6 ประเด็นย่อย ไม่ควรรับรอง หรือปล่อยให้ใช้ขึ้นเวทีหาเสียง อีกทั้งต้องมีหน้าที่ติดตาม ไม่ใช่ปล่อยผ่าน

“กกต.มีหน้าที่ต้องกำกับนโยบายที่ใช้หาเสียงของพรรคการเมือง ต้องไม่อนุญาตให้ใช้หาเสียง หากแจกแจงรายละเอียดอย่างชัดเจนไม่ได้ กกต.ต้องหนักแน่น เพราะกรณีนี้เป็นปัญหาที่ชัดเจนกว่าการแจกใบส้มให้กับ สส.เพื่อไทย ที่เอาเงินไปถวายวัดอีก แต่จากวันนั้นถึงวันประกาศผลเลือกตั้ง กกต.ปล่อยผ่าน จนทำให้มีปัญหา และมีคำเตือนจากองค์กรตรวจสอบออกมา ดังนั้น กกต.ควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบ อย่าปัดภาระ” อ.เจษฎ์ ระบุ

ทั้งนี้ บทบาทของ กกต.ที่จะรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง “อ.เจษฎ์” ชี้ว่า ยังมีช่องทางตามมาตรา 245 ของรัฐธรรมนูญ ที่ให้ “ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน” ตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ เพื่อระงับยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หากพบการกระทำ ให้ส่งเรื่องต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณา และหากเห็นพ้อง ให้ปรึกษาร่วมกับ ป.ป.ช. และ กกต. หากเห็นพ้องให้ส่งเรื่องไปยังสภาฯ วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี ทราบโดยไม่ชักช้า

‘กกต.’ มีไว้ทำไม ? ความเสี่ยงนโยบาย ‘แจกหมื่น’ แม้ว่ามาตรการที่กำกับการทำงานของ “รัฐบาล” จะไม่มีข้อบ่งชี้ให้ “ยับยั้งการกระทำในทางปฏิบัติ” เป็นเพียงแค่การเตือน ทว่า “อ.เจษฎ์” ชี้ว่า อาจกลายเป็นภาพยนตร์เรื่องยาว ที่จะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญเหมือนกรณีที่เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ดังนั้น นอกจากสังคมจะจับตาทิศทางโครงการแจกหมื่นของรัฐบาลเพื่อไทย อีกมุมต้องตั้งคำถามกับ กกต. ด้วยว่า ที่ผ่านมาทำหน้าที่และอำนาจตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่

หรือเป็นเพียง “องค์กรการเมือง” ที่ไหลตามกระแส แต่กลับละวางการกำกับการเมืองให้สุจริตโปร่งใส ที่เป็นโจทย์สำคัญของการแก้ปัญหาการเมืองไทย.