ปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนที่ 5 จะเกิดขึ้นจริงหรือ?

ปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนที่ 5 จะเกิดขึ้นจริงหรือ?

ขณะที่กระทรวงการคลังมีนโยบายอยากกระตุ้นเศรษฐกิจการลงทุน แต่นโยบายทางการเงินของแบงก์ชาติปัจจุบันก็ไม่ได้เอื้ออำนวย และที่ผ่านมาก็ดำเนินนโยบายที่สวนทาง หากทำไม่ได้ก็เท่ากับหลอกลวงประชาชน อาจสั่นคลอน 314 เสียงของรัฐบาลจะแข็งแกร่งอยู่เช่นเดิมได้หรือไม่

อยู่ในความสนใจมากทีเดียวสำหรับการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “เศรษฐา ทวีสิน” กับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ที่ทำเนียบรัฐบาลวานนี้ (10 ม.ค. 2567) ว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นหรือไม่หลังจากที่นายกรัฐมนตรีออกมาแสดงความเห็นถึงอัตราดอกเบี้ยของไทยที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อได้ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง หลายฝ่ายคาดหวังว่าผลการหารือจะออกมาในแนวทางที่เห็นการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของแบงก์ชาติจะปรับทิศทางให้สอดคล้องสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ

ทว่า คำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีหลังการประชุมที่ระบุว่า “รัฐบาลไม่มีอำนาจไปก้าวก่าย ธปท.ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเข้าใจว่า ธปท. ต้องมีความเป็นอิสระ จึงมีเพียงการอธิบายเหตุผลให้ฟังโดยไม่ได้สั่ง แต่เป็นการให้เหตุผลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน” ก็เท่ากับจากนี้ไปการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ซึ่งท่าทีผ่านมาของแบงก์ชาติออกไปในทางนิ่งๆ รอดูการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และปลายปีที่แล้วเฟดลดดอกเบี้ย แบงก์ชาติก็ดำเนินนโยบายสวนทาง

ขณะที่กระทรวงการคลังมีนโยบายอยากกระตุ้นเศรษฐกิจการลงทุน แต่นโยบายทางการเงินของแบงก์ชาติปัจจุบันก็ไม่ได้เอื้ออำนวย และที่ผ่านมาก็ดำเนินนโยบายที่สวนทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพักหนี้และการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งล้วนแต่เป็นนโยบายที่รัฐบาลหาเสียงไว้ทั้งสิ้น มีความจำเป็นที่ต้องผลักดันให้เป็นจริง หากทำไม่ได้ก็เท่ากับหลอกลวงประชาชน อาจจะสั่นคลอน 314 เสียงของรัฐบาลจะแข็งแกร่งอยู่เช่นเดิมได้หรือไม่

คำถามคือว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการเปลี่ยนตัว ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ คนที่ 24 ซึ่งตาม พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ฉบับปรับปรุงล่าสุด 2551 ระบุไว้ในมาตรา 28/19 (4)ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติได้ แต่จะต้องมีเหตุผลในการสั่งปลด และมีข้อพิสูจน์ว่ามีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง หรือทุจริตต่อหน้าที่

นอกจากนี้ยังมีมาตรา 28/19 (5) มีบทบัญญัติว่า (5)ให้อำนาจคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง เสนอคณะรัฐมนตรี สั่งปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติได้อีกทางด้วย หากกรณีมีข้อพิสูจน์และหลักฐานว่าผู้ว่ามีความผิดบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ

ในอดีตมีผู้ว่าฯแบงก์ชาติ 4 คนถูกปลดพ้นจากตำแหน่ง โดยผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนที่ 9 นายโชติ คุณะเกษม ถูกปลดโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี สาเหตุพัวพันกรณีจ้างต่างชาติพิมพ์ธนบัตร, นายนุกูล ประจวบเหมาะ ผู้ว่าแบงก์ชาติ คนที่ 13 ถูกปลดในสมัยนายสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “เพราะขัดแย้งนโยบายเงินฝาก”

นายกำจร สถิรกุล  ผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนที่ 14 ถูกปลดในสมัยนายประมวล สภาวสุ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากความขัดแย้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย และ ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล หรือ “หม่อมเต่า” ผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนที่ 19 ถูกปลดในสมัยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ไม่ระบุเหตุผล แต่เข้าใจว่ามีความขัดแย้งเชิงนโยบายเรื่องค่าเงินบาท หากจะมีการปลดผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนที่ 5 จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ซ้ำรอย