‘อนุรักษนิยม’สร้างพรรคใหม่สู้ คิกออฟ 2 ปีก่อนเลือกตั้ง70

‘อนุรักษนิยม’สร้างพรรคใหม่สู้ คิกออฟ 2 ปีก่อนเลือกตั้ง70

‘อนุรักษนิยม’สร้างพรรคใหม่สู้ คิกออฟ 2 ปีก่อนเลือกตั้ง70เดินแผนตัดแต้ม‘ก้าวไกล’ เร่งเฟ้นหานักบริหารรุ่นใหม่ตัวแทนเครือข่ายอนุรักษนิยม

Key points :

  • คีย์แมนการเมืองนอกเกม ประเมินสถานการณ์การเมือง หากปล่อยให้ "ก้าวไกล" กุมฐานเสียงคนรุ่นใหม่เบ็ดเสร็จ จะส่งผลเสียต่อเครือข่ายอนุรักษ์นิยม จึงต้องวางเกมสู้
  • ชำแหละคะแนนการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 แต้มกลุ่มอนุรักษ์นิยมเลือก "ก้าวไกล" เนื่องจากต้องการให้ "คนรุ่นใหม่" เข้ามาบริหารประเทศ แต่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ ม.112
  • ทางสู้ต้องตั้ง "พรรครุ่นใหม่" ไม่แตะต้องสถาบันฯ ดึงคะแนนอนุรักษ์นิยมกลับ อาจไม่หวังชนะ แต่ต้องการตัดแต้ม "ก้าวไกล" คาดคิกออฟ 2 ปี ก่อนเลือกตั้งปี 2570

การเมืองไม่เคยหยุดนิ่ง คีย์แมนในเกม ปรากฏตัวในที่แจ้ง คีย์แมนนอกเกม ปรากฏตัวหลังฉาก แต่เต็มไปด้วยซูเปอร์คอนเนกชั่น คอยคิดเกมวางแผนในระยะยาว เพื่อรักษาอำนาจของเครือข่ายให้ยาวนานและมั่นคง

คีย์แมนในเกมจาก “ขั้วรัฐบาล” ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา ต้องสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน เพื่อไปต่อทางการเมืองอย่างมั่นคง

จังหวะก้าวของ “เพื่อไทย” เดินหน้านโยบายเต็มกำลัง เนื่องจาก “หัวขบวนอนุรักษนิยม” ส่งสัญญาณไฟเขียว ไม่ต้องหวาดระแวงเหมือนยุค “ไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย(ยุคยิ่งลักษณ์)” ซึ่งเกือบทุกนโยบายมักโดนร้องเรียนจนนำมาสู่การตรวจสอบ และเป็นเงื่อนไขคดีการเมือง

ขณะที่อีกด้าน คีย์แมนนอกเกม เริ่มเคลื่อนไหวหลังฉาก เพื่อเตรียมความพร้อมในสนามเลือกตั้งเที่ยวหน้า แม้จะผ่านศึกใหญ่มาไม่ถึงขวบปี แต่หากไม่คิดแก้เกม ไม่เตรียมการแก้ทางแน่เนิ่นๆ โอกาสที่จะพ่ายแพ้ให้กับ “พรรคก้าวไกล” มีสูงลิบ ที่สำคัญยังขาดกลไก 250 สว. เป็นตัวช่วยโหวตนายกฯ ยิ่งทำให้ “อนุรักษนิยม” อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง

ว่ากันว่า วงลับคีย์แมนนอกเกม มีการกางตัวเลขผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เพื่อวิเคราะห์ฐานคะแนนการเมืองทั้งกระดานกันอย่างจริงจัง 

โดยพบว่าคะแนนขั้ว “อนุรักษนิยม” ถูกถ่ายโอนจากพรรคต่างๆ อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ กระโดดข้ามขั้วไปเลือก “พรรคก้าวไกล” ส่งผลให้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ กทม. และหัวเมืองชั้นใน ก้าวไกลกวาด สส.ได้เป็นกอบเป็นกำ หลายพื้นที่ชั้นนอก

กระแสสีส้มยังลามต่อเนื่อง

โซนพื้นที่ชั้นใน กทม.ที่มีฐานเสียง “อนุรักษนิยม”จำนวนมาก กลับต้องเสียเก้าอี้ สส. เช่นเดียวกับเขตทหารที่ยังมีกลิ่นของ อนุรักษนิยม แต่ก็มีอาการเบื่อความยาวนานของ “รัฐบาลประยุทธ์” จึงเทแต้มการเมืองให้ “ตัวแทนค่ายส้ม” ที่ประกาศตัวไม่เอา “3 ป.” อย่างชัดเจน เพื่อหวังลองรัฐบาลใหม่

ขณะเดียวกัน วงลับนี้ยังสังเคราะห์แต้มการเมืองของ “เพื่อไทย” โดยพบว่า ยังไม่ได้ลดลงมากนัก พื้นที่ภาคอีสาน ภาคเหนือ กระแสพรรค เจ้าของพรรค และผลงานเก่ายังขายได้ แต่ที่ต้องเสียเก้าอี้ สส. ไปในบางพื้นที่ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน ส่งผู้สมัครลงชิงเต็มพื้นที่อย่างไม่มีใครหลีกใคร จนตัดแต้มกันเอง

‘อนุรักษนิยม’สร้างพรรคใหม่สู้ คิกออฟ 2 ปีก่อนเลือกตั้ง70

ฐานอนุรักษนิยมสะเทือน 

โจทย์ใหญ่ของหัวขบวนอนุรักษนิยมที่ต้องการดึงแต้มการเมืองจากฐานเสียงขั้วอนุรักษนิยมเองกลับมาให้ได้มากที่สุด โดยกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ในการเดินเกม

โดยพบว่า เนื้อแท้ของ “อนุรักษนิยม” ยังคงไม่เห็นด้วยกับนโยบายแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และยังมีความเชื่อเกี่ยวกับสถาบันฯ แตกต่างกันสุดขั้วกับ “ก้าวไกล” เพียงแต่มีจุดร่วมเดียวกัน คือต้องการให้ “คนรุ่นใหม่” เข้ามาบริหารประเทศ เพราะเชื่อว่าประเทศต้องการจุดเปลี่ยนทางการเมือง

เมื่อตกผลึกทั้งเป้าหมาย และยุทธศาสตร์ในระดับหนึ่งแล้ว ภารกิจหลักของหัวขบวนอนุรักษนิยมที่กำลังเดินต่อ คือการเฟ้นหา “คนรุ่นใหม่” ที่มีจุดยืนไม่เป็นปรปักษ์กับสถาบันฯ มีภาพนักบริหารที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ และหากได้คนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ และเป็นที่ยอมรับ จะยิ่งทำให้โอกาสดึงแต้มกลับมีสูงขึ้น

‘อนุรักษนิยม’สร้างพรรคใหม่สู้ คิกออฟ 2 ปีก่อนเลือกตั้ง70

สรรหานักบริหารรุ่นใหม่เป็นจุดขาย

 1 ในบรรดารายชื่อที่ถูกพูดถึง มีชื่อ “ต้นสน” ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ดิจิทัล  ลูกชาย สุรเกียรติ เสถียรไทย อดีต รมว.การต่างประเทศ ที่หัวขบวนอนุรักษนิยมสนใจทาบทามให้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่นี้

“สันติธาร” ถูกกล่าวขานว่าเป็น “นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย” ปัจจุบันมีตำแหน่งใน Group Chief Economist ของ Sea Limited บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของอาเซียน ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่เป็นรู้จัก และได้รับความนิยม อาทิ เกม RoV อีคอมเมิร์ซ Shopee และ AirPay บริษัทเทคโนโลยี “ยูนิคอร์น” ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

เมื่อปลายปี 2564 มีกระแสข่าว “ผู้นำจิตวิญญาณ” พรรคก้าวไกล ออกแรงทาบทาม “สันติธาร” ให้ลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคสีส้ม แต่เจ้าตัวได้ออกมาปฏิเสธทันที

ทว่า ในโพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2564 กลับมีบางช่วงที่เจ้าตัว ทิ้งปริศนาชวนคิด โดยระบุว่า “ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่ย่อมเป็นกังวลกับความท้าทายต่างๆ ที่ประเทศเรากำลังเผชิญ และต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตที่ดีขึ้นให้กับคนทุกรุ่นในประเทศ ผมจะยังคอยเฝ้าติดตามสถานการณ์บ้านเมืองอย่างใกล้ชิด และแชร์ข้อคิดที่ผมมีต่อสาธารณะตามโอกาสที่เหมาะสม”

สะท้อนให้เห็นว่า แม้บทบาทของ “สันติธาร” ในเวทีการเมืองยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่เขาก็ไม่ได้ปฏิเสธการเมืองโดยสิ้นเชิง เพียงแต่รอจังหวะที่เหมาะสม

และเมื่อมีกระแสข่าวเครือข่ายอนุรักษนิยมเคลื่อนไหวรวบรวม “คนรุ่นใหม่” ที่คิดคนละมุมกับ “ก้าวไกล” และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง “สันติธาร” จึงออกมาปฏิเสธอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ยังมีรายชื่อ “คนรุ่นใหม่” โปรไฟล์ดี มีคุณสมบัติตามสเปกของคีย์แมนอนุรักษนิยมอีกจำนวนหนึ่งอยู่ในลิสต์ที่จะ พิจารณา ดึงมาเป็นตัวแทน

‘อนุรักษนิยม’สร้างพรรคใหม่สู้ คิกออฟ 2 ปีก่อนเลือกตั้ง70

ภารกิจตัดแต้ม"ก้าวไกล"

 ขณะที่เป้าหมายตัวเลขในสมการการเมือง สำหรับ“พรรคคนรุ่นใหม่” ในมุมมองของ “หัวขบวนอนุรักษนิยม” อาจไม่จำเป็นต้องได้เก้าอี้ สส.เป็นกอบเป็นกำ แค่หวังก้าวแรก คือการตัดแต้ม “ก้าวไกล”สกัดแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน และคาดหวังให้คะแนนของ“คนรุ่นใหม่”กระจายออกไปยังพรรคใหม่ และพรรคอื่นๆ 

ตัวเลขที่น่าหวาดหวั่น จากการดูแต้ม “นิวโหวตเตอร์” ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 และปี 2566 มาบวกกับปี 2570 ได้มารวมกันที่ “ก้าวไกล” เพียงพรรคเดียว หากยังปล่อยไหลต่อ ย่อมส่งผลให้พรรคการเมืองยากจะต่อสู้ด้วย

ฉะนั้นการปั้น “พรรคคนรุ่นใหม่” เข้ามาแบ่งคะแนน จึงเป็นหมากบังคับเดินของ “เครือข่ายอนุรักษนิยม” ทั้งขบวน ไม่เช่นนั้น “ก้าวไกล” จะครองเสียงข้างมากในสภาฯ และไล่ขยี้ “ขั้วอนุรักษนิยม” จนพ่ายทั้งกระดาน

คิกออฟ 2 ปี ก่อนเลือกตั้งปี 70

สำหรับกระบวนการปั้น “พรรคคนรุ่นใหม่” อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร โดยวงในประเมินว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมควรอยู่ในช่วง 2 ปี ก่อนการเลือกตั้งปี 2570 หรืออาจจะเร็วกว่านั้น เพราะหากเกิดจุดเปลี่ยนทางการเมืองพรรคอนุรักษนิยมรุ่นใหม่นี้ ต้องพร้อมลงสนามได้ทันที

หลังจากนี้ ต้องจับตาว่า “หัวขบวนอนุรักษนิยม” ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเฟ้นหาบุคคลเหมาะสม จะเลือก “ใคร” มาเป็นตัวแทน เพราะหากไม่คิดขยับ ปล่อยให้ “ก้าวไกล” โตแบบโกยเรียบ นับถอยหลังภัยอาจมาถึงตัว