รู้จัก ‘กลุ่มผู้ลี้ภัย 112’ ผู้ปั้นอีเวนท์ ‘จดหมายปรีดี’ 

รู้จัก ‘กลุ่มผู้ลี้ภัย 112’ ผู้ปั้นอีเวนท์ ‘จดหมายปรีดี’ 

อีเวนท์ "จดหมายปรีดี" แท้แล้ว คือ ความฝันของ ผู้ลี้ภัยในปารีส ที่จะก่อรูป ‘ขบวนการอุดมการณ์’ ทว่าถูกโต้กลับ ข้อหา ปั่นเฟกนิวส์ ในที่สุด อีเวนท์นี้ เป็นแค่วิวาทะข้ามฟ้า

Key Points

  • จดหมาย ปรีดี พนมยงค์ ไม่ใช่จดหมายส่วนตัว แท้จริงแล้ว เป็นเอกสารที่เขียน และรวบรวมโดยสถานทูตฝรั่งเศสในไทย แล้วส่งกลับมาที่กระทรวงการต่างประเทศที่ปารีสในปี 1977 เอกสารชุดนี้มาพร้อมกับเอกสารชุดอื่นๆ ทั้งหมดที่ครอบคลุมปี 1968-1972

  • จรัล ดิษฐาอภิชัย 1ใน4 ผู้ปลุกฝันจดหมายปรีดี คือ แกนนำก่อตั้งสมาคมนักประชาธิปไตยไร้พรมแดน  จัดกิจกรรมทางการเมือง ต่อต้านเผด็จการทหาร และเปิดโปงเครือข่ายกลุ่มอนุรักษนิยมในไทยดังนั้นอีเวนท์เปิดเอกสารปรีดี จึงบังเกิดขึ้นเพื่อหวังผลการเมืองของกลุ่ม

 

‘เอกสารปรีดี’ ไม่ใช่จดหมายของ ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส และอดีตนายกรัฐมนตรี 

นี่เป็นการยืนยันของ ดิน บัวแดง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปีที่แล้ว ดิน บัวแดง ได้เขียนบทความขนาดยาวเรื่องว่าด้วยเอกสารปรีดีที่ชานกรุงปารีส โดยต้องการจะบอกว่า เอกสารปรีดี ที่จะเข้าถึงได้ในปี 2024 นั้น อาจจะเป็นเอกสารข้อมูลที่กระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส มีเกี่ยวกับปรีดีในช่วงปี 1968-1972

ขณะที่คนไทยจำนวนไม่น้อย พลอยตื่นเต้นกับการเปิดจดหมายปรีดี ตามคำกล่าวอ้างของกลุ่มผู้ลี้ภัยการเมือง คดี ม.112 ประกอบด้วย จรัล ดิษฐาอภิชัย, จรรยา ยิ้มประเสริฐ, นิธิวัต วรรณศิริ (จอม ไฟเย็น) และ ยัน มาร์ฉัล 

เมื่อวันที่ 2 ม.ค.2567 กลุ่มผู้ลี้ภัยการเมือง เดินทางไปที่หอคลังจดหมายเหตุกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส (Centre des Archives diplomatiques du ministère des Affaires étrangères) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อขอดู Dossier de Pridi Panomyong เกี่ยวกับ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งถึงกำหนดเผยแพร่ให้สาธารณะได้อ่านแล้ว

รู้จัก ‘กลุ่มผู้ลี้ภัย 112’ ผู้ปั้นอีเวนท์ ‘จดหมายปรีดี’ 

ปรากฏว่า แฟ้มเอกสารชุดแรก กลายเป็นเอกสารผิดแฟ้ม จึงทำให้มีการมาขอดูเอกสารปรีดีอีกครั้งในวันที่ 5 ม.ค.นี้

หลังกลุ่มผู้ลี้ภัยการเมือง ได้ไลฟ์การเปิดเอกสารปรีดี ผ่าน X (ทวิตเตอร์) เมื่อวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้มีนักประวัติศาสตร์ออกมาทักท้วงในประเด็นที่ว่า เอกสารชุดนี้ ไม่ใช่จดหมายส่วนตัวของปรีดี

 

แท้จริงแล้ว เป็นเอกสารที่เขียน และรวบรวมโดยสถานทูตฝรั่งเศสในไทย แล้วส่งกลับมาที่กระทรวงการต่างประเทศที่ปารีสในปี 1977 เอกสารชุดนี้มาพร้อมกับเอกสารชุดอื่นๆ ทั้งหมดที่ครอบคลุมปี 1968-1972

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักประวัติศาสตร์ที่ลี้ภัยอยู่ในปารีส ได้โพสต์เฟซบุ๊คว่า “เอกสารปรีดี กลายเป็นของเล่นที่เปิดให้โอกาสให้คนที่อยากดัง เอามาเล่นหาเสียง ถ่ายทอดสด เหมือนกับรายการเกมโชว์ขุดสมบัติ”

เวลาเดียวกันดิน บัวแดง ได้เขียนบทความเรื่อง ‘จากเอกสารปรีดี สู่ปรากฎการณ์ จดหมายปรีดี : ความไร้วุฒิภาวะของปัญญาชนฝ่ายประชาธิปไตยไทย’ อธิบายความเรื่องการปั่นกระแสจดหมายปรีดี

ดิน บัวแดง สรุปว่า “ผมซึ่งได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ปี 2019 แล้วว่าไม่ใช่จดหมายปรีดี ต่อมาในปี 2021 เมื่อได้กลับไปอีกครั้ง ก็ได้รับการยืนยันอีกรอบว่า ไม่ใช่จดหมายปรีดี...”

 

ก่อนวันสิ้นปี 2566 ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้แชร์บทความของ ดิน บัวแดง พร้อมเชิญชวนให้อ่าน และทวีตข้อความผ่าน X (ทวิตเตอร์) ว่า “...อ่านแล้ว เราจะได้เลิกคาดหวังว่าจะมีทีเด็ด อะไรที่ซ่อนไว้อยู่ (ซึ่งผมเชื่อว่าไม่น่าจะมีอะไรน่าตื่นเต้นแบบกรณีสวรรคต ตามที่หลายคนคาดหวังกัน)..”

 

เมื่อทราบกันล่วงหน้าแล้วว่า เอกสารปรีดี ไม่ได้มีอะไรลึกลับน่าตื่นตาตื่นใจ แต่ทำไมกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวไทย จึงเล่นใหญ่ ประหนึ่งว่าเตรียมเปิดขุมทรัพย์ล้ำค่า

ถ้าไล่เรียงตัวละครทั้ง 4 คน ผู้ที่เข้าไปในหอคลังจดหมายเหตุกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส เพื่อขอแฟ้มเอกสารมาอ่าน

จรัล ดิษฐาอภิชัย ผู้ประกาศตัวว่าเป็นนักปฏิวัติตลอดชีพ ได้เป็นพลเมืองฝรั่งเศสไปเรียบร้อยแล้ว 

รู้จัก ‘กลุ่มผู้ลี้ภัย 112’ ผู้ปั้นอีเวนท์ ‘จดหมายปรีดี’ 

ปี 2557 จรัลร่วมกับ จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ก่อตั้งองค์การเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย แต่ทำไปได้ไม่กี่ปีก็เลิกรา

ปี 2562 จรัลเปิดสมาคมนักประชาธิปไตยไร้พรมแดน ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยคดี ม.112 จนมาถึงทุกวันนี้ โดยจรัลปักหลักอยู่ในกรุงปารีส

เล็ก-จรรยา ยิ้มประเสริฐ นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานนานาชาติ พำนักอยู่ในประเทศฟินแลนด์

ปี 2562 จรรยา ยิ้มประเสริฐ เป็นตัวกลางขอความช่วยเหลือกลุ่มผู้ลี้ภัยในลาว โดยเฉพาะสมาชิกกลุ่มวงไฟเย็น อาทิ นิธิวัต วรรณศิริ (จอม ไฟเย็น) ,แยม ไฟเย็น และ ขุนทอง ไฟเย็น ให้เดินทางมาขอลี้ภัยในฝรั่งเศส 

รู้จัก ‘กลุ่มผู้ลี้ภัย 112’ ผู้ปั้นอีเวนท์ ‘จดหมายปรีดี’ 
ส่วน ยัน มาฉัล ชาวฝรั่งเศสที่ฝังตัวในไทยเกือบ 20 ปี เป็นคนสนิทของ แยม ไฟเย็น ซึ่งยัน มาฉัล เจอคดี ม.112 จึงเดินทางจากไทยกลับไปอยู่ฝรั่งเศส

สมาคมนักประชาธิปไตยไร้พรมแดน ภายใต้การของจรัล ได้จัดกิจกรรมทางการเมือง ต่อต้านเผด็จการทหาร และเปิดโปงเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ นิยมในไทย

ช่วงที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ โดยกลุ่มราษฎร ทั้งจอม ไฟเย็น และขุนทอง ไฟเย็น ได้จัดรายการทอล์กการเมือง ผ่านช่องยูทูป และเพจเฟซบุ๊ค สนับการต่อสู้ของเยาวชนคนหนุ่มสาว 

ปลายปี 2567 จรัล ได้โพสต์เฟซบุ๊คประเมินขบวนการต่อสู้ของภาคประชาชนว่า แม้พรรคก้าวไกลยังได้รับความนิยมสูง แต่การเคลื่อนไหวมวลชนด้วยรูปแบบการชุมนุม เดินขบวน ยังอยู่ในกระแสต่ำ

รู้จัก ‘กลุ่มผู้ลี้ภัย 112’ ผู้ปั้นอีเวนท์ ‘จดหมายปรีดี’ 
เฉพาะกระแสปฏิรูปสถาบันฯ ลดลงค่อนข้างมากในรอบ 4 ปี และหลังมีรัฐบาลเศรษฐา ได้เกิดความขัดแย้งใหม่ ระหว่างผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล และเพื่อไทย ส่งผลพลังประชาธิปไตยอ่อนกำลังลง 

ตลอดชีวิต จรัล เป็นนักปฏิวัติและเชื่อมั่นในพลังประชาชน แต่กลับพบปัญหาความไม่เป็นเอกภาพ และไร้คนชี้ทิศนำทาง

“ขบวนการเยาวชน ประชาชน ต้องมีองค์การนำระดับชาติ” จรัลวาดฝันถึงวันข้างหน้า และได้โพสต์เพิ่มเติมว่า “…What is to be done อะไรที่ต้องทำ ตั้งองค์การนำ และขบวนการอุดมการณ์รองรับคนตาสว่าง”

อีเวนท์เปิดเอกสารปรีดี จึงบังเกิดขึ้น ด้วยการร่วมมือกันของกลุ่มผู้ลี้ภัยในต่างแดน โดยจรรยา ยิ้มประเสริฐ และจอม ไฟเย็น ผู้ช่ำชองสื่อโซเชียล ทำหน้าที่ไลฟ์ระหว่างแกะซองสีน้ำตาลและนำเอกสารออกมาเปิดอ่าน

ผู้ติดตามในเมืองไทยคงหวังจะอ่านเรื่องลึกลับเกี่ยวกับสถาบันฯ ที่กลุ่มผู้ลี้ภัยคดี 112 เคยประโคมโหมกระแสมาตั้งแต่ปีที่แล้ว

ดังนั้น จรัลจึงวาดฝันที่จะเห็นการก่อรูป ‘ขบวนการอุดมการณ์’ เพื่อรองรับคนตาสว่าง แต่มาถึงชั่วโมงนี้ ขบวนการเปิดเอกสารปรีดีกลับถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกปั่นเฟกนิวส์

ในที่สุด อีเวนท์เปิดเอกสารปรีดี จึงกลายเป็นรายการวิวาทะข้ามฟ้า ระหว่างนักประวัติศาสตร์ในเมืองไทย กับกลุ่มผู้ลี้ภัยในปารีส.