'จุรินทร์' ตั้งฉายา 'นักกู้ถุงเท้าชมพู' งบ 67 เป็ดง่อย กระตุ้นเศรษฐกิจต่ำ

'จุรินทร์' ตั้งฉายา 'นักกู้ถุงเท้าชมพู'  งบ 67 เป็ดง่อย กระตุ้นเศรษฐกิจต่ำ

"จุรินทร์" ชำแหละ 4 ปม อัดงบ 67 "เป็ดง่อย" ซัดลงทุน"กระตุ้นเศรษฐกิจ"ต่ำ "ดิจิทัลวอลเล็ต"ล่องหน ตั้งฉายา"นักกู้ถุงเท้าสีชมพู" พร้อมจี้มาตรฐานยุติธรรม ปล่อย "นช.ทิพย์" ขังนอกคุก

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายร่างพ.ร.บ.รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ว่า งบประมาณฉบับนี้ ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญ ซึ่งจะทำให้นโยบายที่รัฐบาลได้หาเสียง รวมถึงแถลงต่อรัฐสภาเป็นจริงได้

แม้ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณถือเป็นเรื่องสำคัญ ถ้ารัฐบาลเสนอแล้วไม่ผ่านความเห็นชอบของสภา รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก หรือยุบสภา ส่วนตัวจึงเห็นว่าเป็นหน้าที่รัฐบาล ที่จะระดมเสียงฝ่ายรัฐบาลมาให้ความเห็นชอบ

"เชื่อว่างบประมาณฉบับนี้ จะผ่านความเห็นชอบของสภา เพราะรัฐบาลชุดนี้มีเสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถึง 314 เสียง ถ้าเกิดไม่ผ่าน ผมว่าท่านนายกฯ ต้องเลิกใส่ ถุงเท้าแดงได้แล้ว"  

นายจุรินทร์ ยังกล่าวอีกว่า งบประมาณฉบับนี้เป็นงบประมาณฉบับแรกในรัฐบาล โดยเกิดจากการเอางบประมาณปี 2567 ซึ่งทำไว้ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มารื้อใหม่ทั้งหมด ส่งผลให้ปฏิทินงบล่าช้าไปกว่า 9 เดือน

ส่วนหนึ่งมาจากที่รัฐบาลชุดนี้ จะไปตั้งรัฐบาล "เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด"เสียหลายเดือน แต่หลัง
ครม.จะให้ความเห็นชอบ ทำให้งบประมาณฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ค.จึงส่งผลให้รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลฉบับ "เป็ดง่อย" เพราะงบประมาณจำนวน 3.4 ล้านล้าน รัฐบาลมีเวลาใช้เงินแค่ 5 เดือนจากปกติ 12 เดือน เท่ากับมีเวลาใช้เงินแค่ 40% 

\'จุรินทร์\' ตั้งฉายา \'นักกู้ถุงเท้าชมพู\'  งบ 67 เป็ดง่อย กระตุ้นเศรษฐกิจต่ำ

  • คาใจงบลงทุน"กระตุ้นเศรษฐกิจ"ต่ำ

ขณะที่การใช้งบในส่วนของการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะไม่สามารถนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แม้แต่นิดเดียว ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีพยายามตีปี๊บว่า เศรษฐกิจกำลังวิกฤติ ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ แต่ในขณะที่งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด เพราะมีผลต่อ GDP ร้อยละ 18 แต่หากงบประมาณยังเป็นเป็ดง่อย แล้วจะไปดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตได้อย่างไร

นายจุรินทร์ ยังกล่าวอีกว่า หลังจากที่นายกฯ สั่งให้นำงบ 67 ไปรื้อใหม่ กระทั่งเสนอกลับเข้าสู่สภา ขอเรียนว่า ไม่มีอะไรใหม่ แต่กลับแย่กว่าเดิม ตนขอฉายภาพให้เห็น 4 ประเด็น

 1.งบฉบับนี้ขาดดุลเหมือนเดิม และเชื่อว่าจะขาดดุล ตลอดอายุรัฐบาลนี้ 4 ปีเต็ม เพราะรัฐบาลกำหนดรายได้ไว้ที่ 2.78 ล้านล้านบาท รายจ่าย 3.48 ล้านล้านบาท ขาดดุล 6.3 แสนล้านบาท เรื่องนี้ตนไม่ได้มโนไปเอง แต่อยู่ในแผนที่รัฐบาลกำหนดไว้

 2.งบประมาณปีนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนการลงทุนซึ่งเป็นหัวใจการกระตุ้นเศรษฐกิจกลับน้อยลง แต่งบส่วนที่เพิ่ม กลับไปเพิ่มที่งบประจำ 1.3 แสนล้านบาท

ขณะที่งบลงทุน เพิ่มเพียงแค่ 2.3 หมื่นล้านบาท ไม่ถึง 10% ของเงินงบที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนล้าน จึงขอถามว่า เช่นนี้จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลพยายามตีปี๊บได้อย่างไร 

3.งบกลางที่ดูผิวเผินเหมือนลดลง แต่กลับเป็นงบลวงตา เพราะงบกลางปี 2566 ได้รับ 18.5% แต่พอปี 2567 ลดลง เหลือ 17.4% แต่หากลงลึก ไส้ในงบสำคัญของงบกลาง คื อกรณีจ่ายสำรองฉุกเฉิน

รัฐบาลชุดนี้ ที่เคยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดก่อนไว้เยอะ แทนที่จะลด กลับกลายเป็นเพิ่ม งบ 2566 จัดไว้ 9.3 หมื่นล้านบาท แต่ในงบ 2567 กลับเพิ่มเป็น 9.8 หมื่นล้าน กลายเป็นว่า "ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นหมด"

ตนจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลใช้เงินในส่วนนี้อย่างประหยัด คุ้มค่า และโปร่งใสที่สุด

\'จุรินทร์\' ตั้งฉายา \'นักกู้ถุงเท้าชมพู\'  งบ 67 เป็ดง่อย กระตุ้นเศรษฐกิจต่ำ

  • ทวงงบดิจิทัลวอลเล็ต ตั้งฉายา "นักกู้ ถุงเท้าสีชมพู"  

4.นโยบายรัฐบาลที่บอกว่า คิดใหญ่ ทำเป็น กลับกลายเป็น "คิดกู้ ทำกู้"  รัฐบาลชุดที่แล้วทำไว้ ผ่าน
ครม.แล้วเสียด้วยซ้ำ 5.93 แสนล้าน แต่เมื่อรัฐบาลนำกลับไปทำใหม่ กลับพบว่ามีการกู้เพิ่มเป็น 6.93 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 1 แสนล้านบาท จากที่เคยว่ารัฐบาลชุดที่แล้ว เป็น"นักกู้ แห่งแม่น้ำเจ้าพระยา" รัฐบาลชุดนี้กลับเป็น "นักกู้ ถุงเท้าสีชมพู"  

รัฐบาลมีการจัดทำแผนเงินกู้ไว้ที่ 1.35 ล้านล้านบาท จำนวนนี้มีในส่วนของการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตถึง 5 แสนล้านบาท ยังไม่นับรวมรายการอื่น ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ซึ่งรัฐบาลก็ต้องมีการตั้งงบใช้หนี้ในปีต่อๆ ไป ทำให้ศักยภาพในการมีพื้นที่การคลังเหลือในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศก็จะน้อยลง แถมก่อหนี้ยาวนานถึง 11 ปี สร้างภาระให้กับคนไทยในอนาคต 

"ในส่วนของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ถามว่ารัฐบาลตั้งงบไว้ในส่วนไหน แต่คิดว่าไม่มี เพราะรัฐบาลบอกว่าจะไปกู้ ถ้ากู้ไม่ได้ จะทำอย่างไร สิ่งที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบคือ รัฐบาลต้องทำให้ได้ เพราะไปหาเสียงไว้เยอะ และผมจะทำหน้าที่ทวงถามเรื่องนี้แทนประชาชน ตราบเท่าที่ท่านยังไม่ได้ทำ" 

นายจุรินทร์ ยังกล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวยังรอฟังความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา

ฉะนั้นหากกฤษฎีกาตีความว่า ทำไม่ได้ ผิดกฎหมาย ขอเรียกร้องว่า อย่าไปโยนบาปให้กฤษฎีกา ประเด็นดังกล่าวถือเป็นหน้าที่รัฐบาล ที่จะต้องไปเตรียมแผนสอง

แต่ถ้าเกิดทำได้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุไว้ว่า รัฐบาลจะตั้งงบใช้หนี้เอง ใน 4 ปี ซึ่งเป็นเรื่องดี ที่จะได้สยบกระแสนายกฯ 2 คนเสียที ขอถามว่า จะใช้หนี้อย่างไร เพราะงบ 2567 ไม่มีงบใช้หนี้ดิจิทัลวอลเล็ต แม้แต่บาทเดียว นั่นหมายความว่า รัฐบาลมีเวลาใช้หนี้ 3 ปีเท่านั้น หากอยู่ครบ 4 ปี

ทั้งนี้มองว่า ศักยภาพรัฐบาลที่สามารถใช้หนี้ได้ปีละ 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ได้มีแค่ในส่วนของเงินดิจิทัลวอลเล็ตแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังมีภาระชำระหนี้สะสมของรัฐบาลชุดเก่าๆ กว่า 9 ล้านล้านบาท ฟันธงเลยว่า จะใช้หนี้ดิจิทัลวอลเล็ตภายใน 4 ปี จึงเป็นเพียงวาทกรรมสร้างความชอบธรรมเพียงเท่านั้น

\'จุรินทร์\' ตั้งฉายา \'นักกู้ถุงเท้าชมพู\'  งบ 67 เป็ดง่อย กระตุ้นเศรษฐกิจต่ำ
นายจุรินทร์ ยังกล่าวด้วยว่า ขณะที่นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ที่นายกฯไปหาเสียงไว้ทั่วประเทศ ประเด็นค่าแรงขั้นต่ำ 2 บาทซื้อไข่ครึ่งใบยังไม่พอ ตามที่นายกฯระบุ นั่นยังไม่พอ แต่ยังต้องมีในส่วนของการพัฒนาฝีมือแรงงาน แบบก้าวกระโดดตามไปด้วย

ตนสนับสนุนงบประมาณฉบับนี้ ในส่วนของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 1.7 พันล้านบาท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาฝีมือแรงงานสมรรถนะสูง และแรงงานสมัยใหม่ และเห็นด้วยกับการปรับสูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำใหม่ แต่ต้องไม่ดูแค่สภาพทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องไปในค่าแรงที่ให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย 

ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเห็นด้วยกับการทำเรื่องการเมือง ควบคู่กับการแก้ไขเศรษฐกิจปากท้องประชาชน และเห็นด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องไม่แตะหมวด 1-2 แต่ถึงเวลา กลับเป็นหนังคนละม้วน พอเป็นรัฐบาล จากที่ระบุจะนำเข้า ครม.วาระแรก กลายเป็นตั้ง สสร. จากหนังสั้น กลายเป็นหนังยาว

รัฐบาลประกาศจะทำมติเร็วสุดในเดือน ม.ค.ขณะเดียวกันกลับมีกระแสข่าวรัฐบาลเตรียมแก้ พ.ร.บ.
ประชามติ ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกยาวนาน สวนทางกับที่รัฐบาลพูด ขณะที่การทำประชามติต้องทำ 3 ครั้ง โดยใช้งบแต่ละครั้งกว่า 3.2 พันล้านบาท คำถามคือ งบอยู่ตรงไหน กรุณาสะท้อนความจริงใจตรงนี้ด้วย

 นายจุรินทร์ ยังกล่าวอีกว่า เรื่องรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย รัฐบาลเคยหาเสียงไว้ว่า 20 บาทตลอดสาย ทุกสาย ทุกสี แต่วันนี้กลับใช้ได้แค่ 2 สาย คือสายสีแดง และสายสีม่วง แค่ 20% ของเส้นทางทั้งหมด

  ขณะที่สีเขียวส่วนต่อขยาย ประชาชนกลับต้องจ่ายเพิ่มอีก 15 บาท ขณะที่สายสีแดง และสายสีม่วง ปัจจุบันขาดทุนวันละ 7.4 ล้านบาท คำถาม เงินส่วนนี้ใครจ่าย 

  • จี้ถามมาตรฐาน ยธ.ปล่อย"นช.ทิพย์"ขังนอกคุก

  สุดท้ายงบประมาณกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ปีนี้ได้งบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท งบประมาณก้อนนี้เอาไปทำโครงการสำคัญที่สุด คือ โครงการผู้ต้องขังได้รับการควบคุมดูแล ระยะเวลา 6 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2570 ใช้งบประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท เฉพาะงบ 2567 ใช้งบส่วนนี้กว่า 6 พันล้านบาท

 ตนสนับสนุนงบประมาณก้อนนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามหลักสิทธิมนุษยชน แต่มีคำถามคือ

1.รัฐบาลในฐานะผู้ใช้งบประมาณ ได้ดำเนินการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่เลือกปฏิบัติกับผู้ต้องขัง 2.8 แสนคน หรือไม่ เพราะมีข้อเคลือบแคลงเกิดขึ้นในสังคมว่า

ทำไม รัฐบาลปล่อยให้นักโทษเข้าคุกทิพย์มาแล้วกว่า 120 วัน แต่ยังไม่เคยติดคุกจริง แม้แต่วันเดียว  ขณะที่ตัวนายกฯ กลับไม่ทำให้ข้อเคลือบแคลง สงสัยให้กระจ่าง ท่านสั่งได้ทุกเรื่อง แต่พอเป็นเรื่องเคลือบแคลง สงสัย ท่านกลับไม่สั่ง 

2.การใช้งบประมาณไปออกระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ที่อ้างว่าทำตามความเห็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ส่วนตัวเห็นว่าการใช้งบส่วนนี้จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ วันหน้าจะมีคำตอบ

"ผมกราบเรียนทั้งหมด เรื่องพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 นี้ เพื่อที่จะสรุปสุดท้ายว่า ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร ได้กำชับตัวเอง และกำชับรัฐมนตรีอีก 33 ท่าน ให้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินทั้งหมดนี้ คุ้มค่า เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ  ด้วยความโปร่งใส  สุจริต  เพราะผมกราบเรียนตรงๆ พวกกระผมไม่ประสงค์ที่จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยไม่จำเป็น"

\'จุรินทร์\' ตั้งฉายา \'นักกู้ถุงเท้าชมพู\'  งบ 67 เป็ดง่อย กระตุ้นเศรษฐกิจต่ำ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการอภิปรายของนายจุรินทร์ ในประเด็นงบประมาณกระทรวงยุติธรรม ทำให้นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วง โดยระบุว่า ไม่คิดว่าอดีตรัฐมนตรีจะลุกขึ้นอภิปรายงบประมาณเสียด้วยซ้ำ เพราะที่ผ่านมาก็บริหารราชการล้มเหลว การอภิปรายครั้งสุดท้าย ท่านก็ได้คะแนนต่ำกว่ารัฐมนตรีคนอื่นๆ เรื่องที่กำลังคุย เป็นเรื่องนอกประเด็น

แต่นายวันนอร์หมัดนอร์ มะทา ประธานสภา ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ตัดบทว่า การอภิปรายดังกล่าวยังอยู่ในเนื้อหาของ พ.ร.บ.งบประมาณ แต่พยายามหลีกเลี่ยงกล่าวถึงชื่อบุคคลภายนอก