โฆษก อสส.แจงตีกลับสำนวนเด็ก 14 กราดยิง ยันขั้นตอนสอบสวนมิชอบด้วยกฎหมาย

โฆษก อสส.แจงตีกลับสำนวนเด็ก 14 กราดยิง ยันขั้นตอนสอบสวนมิชอบด้วยกฎหมาย

โฆษก อสส.แจงละเอียดปมตีกลับสำนวนคดีเด็ก 14 ปีกราดยิงห้างดัง ยันขั้นตอนทางกฎหมายผิด พนง.สอบสวน ไม่สามารถสอบได้หากเด็กยังป่วยอยู่ เผยขอให้เชื่อมั่นกระบวนการแพทย์ คนป่วยจริงโกหกไม่ได้ ปัดตอบขั้นตอนของ ตร.ไม่อาจก้าวล่วง

เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2566 นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ MCOT ตอนหนึ่งถึงกรณีอัยการตีกลับสำนวนคดีเด็กอายุ 14 ปี กราดยิงในห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ว่า ประเด็นสำคัญที่สุดคือกระบวนการพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นชั้นสอบสวน หรือชั้นศาล ผู้ต้องหาหรือจำเลย ต้องอยู่ในสภาพรับรู้ข้อกล่าวหา และสามารถต่อสู้คดีได้ นี่คือหลักสากล ดังนั้นหลักเกณฑ์นี้จึงบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 14 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า ในชั้นสอบสวน หากมีเหตุเชื่อได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นคนวิกลจริต ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้พนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหาให้แพทย์ตรวจในเบื้องต้น หากผู้ต้องหาต่อสู้คดีไม่ได้ ต้องงดการสอบสวนไว้จนกว่า แพทย์ผู้ทำการรักษาจะส่งแบบการตรวจ หรือการประเมินผลมายังพนักงานสอบสวนว่า เขาสามารถต่อสู้คดีได้ แล้วหายป่วยแล้ว เพราะฉะนั้นกระบวนการใดที่พนักงานสอบสวน ดำเนินการไม่ยึดหลักกฎหมายดังกล่าวถือว่าฝ่าฝืนกฎหมาย

นายประยุทธ กล่าวว่า ในสำนวนทางสำนักงาน อสส. โดยสำนักงานคดีเยาวชนฯ ที่ดูแลคดีในเขตพื้นที่ กทม. ได้ตรวจสำนวนคดีนี้แล้ว มีการตั้งคณะทำงานดูสำนวนโดยละเอียด ปรากฏหลักฐานทางการตรวจรักษาของแพทย์ ที่รักษาคนไข้เด็กชาย 14 ปีดังกล่าว ไว้หลังวันเกิดเหตุ 1 วัน หลังสถานพินิจ มีใบรับรองประเมิน เด็กเขายังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ตลอด ขณะเดียวกันในกระบวนการบำบัดรักษา อัยการต้องขอความรู้จากแพทย์เช่นกัน ตนมีโอกาสพูดคุยกับแพทย์เจ้าของไข้โดยละเอียด ให้ความรู้ที่มีประโยชน์ต่อสังคมอย่างยิ่ง คณะทำงานของแพทย์ มีคณะทำงานตามบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ มาตรา 12 โดยมีแพทย์เจ้าของไข้ ที่เป็นจิตแพทย์ด้านเด็กและเยาวชนโดยตรง มีแพทย์ของสถาบันกัลยาฯ มีนักสังคมสงเคราะห์ มีนักกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญหลายภาคส่วน ทั้งหมดช่วยกันเก็บข้อมูลจากคนไข้ และประเมินผลเป็นระยะ มีการประชุมกัน อย่างน้อยตอนนี้ 3 ครั้ง ผลการประเมินของแพทย์ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ต้องหาไม่สามารถรับทราบข้อกล่าวหา หรือควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้

“เมื่อข้อเท็จจริงทางการแพทย์ยืนยันเช่นนี้ ไม่มีประเด็นอื่นนอกจากคืนสำนวนกลับไป เพื่อให้พนักงานสอบสวน รอกระบวนการยืนยันจากแพทย์ที่รอตรวจผู้ต้องหาว่า อยู่ในภาวะปกติ และสามารถต่อสู้คดีได้แล้ว จึงหยิบยกคดีขึ้นใหม่ภายในอายุความ 20 ปี นี่คือประเด็นหลักที่อัยการยึดหลักกฎหมาย สิทธิเด็ก และหลักการสากล” นายประยุทธ กล่าว

เมื่อถามว่า ในวันที่ 3 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเริ่มปฏิบัติการทางคดี คือ สน.ปทุมวัน ตั้งข้อกล่าวหา 5 ข้อแค่เด็กชายวัย 14 ปีดังกล่าว ซึ่งแพทย์ยืนยันว่าป่วยทางจิตอยู่ ไม่สามารถทำได้ใช่หรือไม่ นายประยุทธ กล่าวว่า ถือว่าเป็นการฝ่าฝืน ป.วิอาญา มาตรา 14 กระทำโดยมิชอบตามที่เรียนข้างต้น

เมื่อถามว่า ขั้นตอนต่อไปเมื่ออัยการตีกลับสำนวนให้พนักงานสอบสวน จะดำเนินการอย่างไรต่อ นายประยุทธ กล่าวว่า ตนตั้งข้อสงสัยไว้ในใจเหมือนกัน และเป็นข้อสงสัยที่ประชาชนอยากทราบ เลยถามแพทย์ไปเมื่อคืนว่า ห้วงเวลาหลังจากนี้ต้องทอดยาวนานแค่ไหนเพียงใด ได้ความว่าในเดือน ม.ค. 2567 จะมีการประเมินโดยคณะกรรมการบำบัด ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ มาตรา 12 จะประชุมประเมินกันอีกครั้งว่า ผู้ต้องหาต่อสู้คดีได้หรือไม่
    
นายประยุทธ กล่าวอีกว่า ประการสำคัญ กระบวนการควบคุมตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มีเวลาควบคุมตามที่กฎหมายวางไว้คือ ต้องนำตัวส่งศาลเยาวชนเพื่อตรวจสอบการจับกุม ก่อนส่งสถานพินิจ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชน  ต่อมาพนักงานสอบสวนต้องทำสำนวนให้เสร็จใน 30 วัน เพื่อส่งอัยการตรวจ ถ้า 30 วันไม่เสร็จขอผัดฟ้องกับศาลได้ 4 ครั้ง 60 วัน รวมกำหนดเวลาทั้งหมด 90 วัน และหากอัยการไม่ฟ้องตามกำหนด ผลคือสถานพินิจต้องปล่อยตัวเด็ก เพราะไม่มีอำนาจควบคุม 

นายประยุทธ กล่าวว่า ส่วนจะเป็นอย่างไรต่อนั้น ต้องชื่นชมแพทย์เจ้าของไข้ เพราะแพทย์ทราบประเด็นข้อกฎหมายดี โดยคณะทำงานของแพทย์จะไปสถานพินิจในวันนั้น และเจอผู้ปกครองเด็กในเดือน ม.ค. 2567 โดยหากเด็กยังป่วยอยู่ จะขอรับไปรักษาต่อ หากผู้ปกครองเข้าใจ และอนุญาต จะรับเด็กเป็นคนไข้ตามปกติ แต่สมมติว่าถ้าผู้ปกครองไม่ยอม หรือไม่อนุญาต คณะทำงานของแพทย์ประเมินแล้วว่า จำเป็นต้องดูแลเด็กเพื่อป้องกันอันตรายจากตัวเองและสังคม อาจใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ มาตรา 22 บังคับเอาตัวเด็กไปรักษาต่อจนกว่าจะหาย เพราะการควบคุมของหมอ มีกรอบกำหนดชัดเจน ต้องแจ้งรายงานกับพนักงานสอบสวนทุก 180 วัน ถ้ายังไม่หายขยายได้อีก 180 วัน โดยกำหนดว่าสิ้นสุดเมื่อไหร่ เพราะอนุโลมขยายเวลา จนกว่าจะหาย และต่อสู้คดีได้ เพราะคงไม่สามารถนำคนป่วยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้

เมื่อถามว่า พนักงานสอบสวนน่าจะรู้อย่างดีว่า ทำอะไรได้บ้าง ไม่ได้ล้าง แต่ยังฝืนตั้งข้อกล่าวหา แล้วจะมีการสอบสวนอย่างไร สรุปสำนวนได้อย่างไร นายประยุทธ กล่าวว่า เรื่องขั้นตอนของตำรวจไม่ขอก้าวล่วง แต่ขั้นตอนของอัยการคือตรวจสอบสำนวนของตำรวจ และนี่คือประเด็นหลักที่อัยการหยิบยกมาพิจารณา ชัดเจนว่า ณ เวลาตรวจสำนวนของอัยการ ผลการประเมินการตรวจรักษาของเด็ก ยังมิได้แปรเปลี่ยนเป็นประการอื่น ดังนั้นต้องตีความว่า กระบวนการตั้งแต่วันรุ่งขึ้นที่ถูกจับ จนวันสรุปสำนวน ใบแพทย์ ยังตรึงในสำนวนว่าเป็นคนป่วย แล้วสอบสวนได้อย่างไร ตรงนี้เรียนว่า อัยการไม่ก้าวล่วงตรงนั้น เมื่อตรวจพบ ก็ต้องแจ้งพนักงานสอบสวนให้ทำถูกต้องตามกฎหมาย

เมื่อถามว่า สังคมตั้งคำถามว่า หากสมมติเด็กคนนี้แกล้งป่วยไปเรื่อย ๆ จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ นายประยุทธ กล่าวว่า หากมีการตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่เขาจะแกล้งป่วยไปเรื่อย ๆ เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่แพทย์บอกว่า กระบวนการรักษากฎหมาย พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ มาตรา 12 ทำในรูปคณะกรรมการฯรวม 9 คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ วิธีการคือ แต่ละคนจะสลับสับเปลี่ยนไปเก็บข้อมูล เสร็จแล้วจึงประชุมคณะกรรมการเพื่อประเมินว่า การบำบัดรักษาดำเนินการตามหลักขั้นตอนไหน ตามหลักวิชาการ เพราะสิ่งเกิดขึ้นที่คลี่คลายมี 3 ประเด็น 1.เขาลืมหรือไม่ ที่ตอบโต้ไม่รู้เรื่อง อาจเป็นเพราะลืม 2.เพราะเขาป่วยหรือไม่ 3.เขาแกล้งหรือไม่ แต่จะสรุปว่าป่วยหรือไม่ ใช้วิธีการประเมินตามกฎหมาย มีหลักวิชาการวิเคราะห์ มั่นใจได้ว่า เขาไม่สามารถปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมไปเรื่อย ๆ ขอให้เชื่อกระบวนการทำงานของแพทย์

เมื่อถามย้ำว่า แต่สังคมหมกมุ่นแค่ 2 คำคือ เด็กแกล้งโง่ หรือเด็กแกล้งบ้าแต่ไม่โง่ ต้องดำเนินการอย่างไร นายประยุทธ กล่าวว่า ต้องยึดหลักการวินิจฉัยของแพทย์ มีคำหนึ่งทางกฎหมาย ถ้าความจริงกี่ครั้งก็เหมือนเดิม แต่ถ้าโกหกแต่ละครั้งมันจะไม่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นหลักวิชาการทางการแพทย์ ทางจิตแพทย์มีหลักอยู่ ถ้าแกล้งโง่ทำได้ไม่กี่ครั้ง มีหลักวิชาการจับอยู่ ขอให้เชื่อมั่นการทำงานของแพทย์

เมื่อถามว่า หากตรวจสอบแล้วป่วยจนครบ 20 ปี หมดอายุความ ไม่ต้องรับโทษใด ๆ หรือไม่ นายประยุทธ กล่าวว่า ประเด็นทางกฎหมาย ถ้าป่วยถึงขนาดนั้น เป็นสมมติฐานที่คาดเดาได้ ถ้าป่วยตลอดชีวิต ไม่มีเหตุผลอะไรต้องเอาคนป่วยมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถ้าเขาป่วย ต้องบำบัดในฐานะผู้ป่วย