‘เศรษฐา’ลุยไฟรื้อยุทธศาสตร์ชาติ นับหนึ่งถอนรากมรดก'คสช.'

‘เศรษฐา’ลุยไฟรื้อยุทธศาสตร์ชาติ นับหนึ่งถอนรากมรดก'คสช.'

หลังนายกฯ “เศรษฐา”จุดประเด็น รื้อแผนยุทธศาสตร์ชาติ ต้องจับตาปฏิกิริยาของ “พรรคร่วมรัฐบาล” และแกนนำฝ่ายค้าน“พรรคก้าวไกล” จะกระโดดเข้ามาร่วมด้วยหรือไม่ เพราะหลายพรรคมองในมิติเดียวกันว่า แผนยุทธศาสตร์ ถูกสร้างเอาไว้เพื่อใช้เป็นกับดักทางการเมือง

เมื่อนายกฯ "เศรษฐา ทวีสิน" ในฐานะผู้นำรัฐบาล ต้องการรื้อแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อกำหนดทิศทางประเทศใหม่ ทำแผนระยะสั้น เนื่องจากบริบทโลกเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว จึงส่งสัญญาณเข้มๆ 

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถูกกล่าวขานว่าเป็นมรดกจาก “คสช.” อีกทั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ที่มีบทบาทสูง ก็มีรากฐานต่อยอดมาจากยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

แนวทาง และเนื้อหาสาระถูกมองว่าเป็นการกำหนดกรอบการทำงานของรัฐบาลในอนาคต หากรัฐบาลใดมีทิศทางการบริหารตามกรอบและแผนงาน ย่อมอยู่รอดปลอดภัย แต่หากมีนโยบายหักดิบ ผิดไปจากยุทธศาสตร์ชาติ ก็อาจเป็นเงื่อนไขให้รัฐบาลอยู่ยาก

จึงไม่แปลกที่หลังการเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลซึ่งอยู่ในช่วงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้ประกาศนโยบายยกเลิก พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ เพราะรู้ว่าเต็มไปด้วยกับดักทางการเมือง

กระทั่งเกมเปลี่ยน “เพื่อไทย”พลิกมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แม้จะย้ายขั้วจับมือกับ “อนุรักษนิยม” แต่ทีมกุนซือของพรรค ยังไม่ไว้วางใจเกมการเมือง จึงแนะนำให้นายกฯ “เศรษฐา” แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแบบเพลย์เซฟ ไม่ลงลึกในรายละเอียดของนโยบาย เพราะหากพูดมัดรัดตัวเอง อาจมี “มือมืด” ใช้ช่องว่างดังกล่าว ฟ้องร้องว่ากระทำผิดยุทธศาสตร์ชาติได้

ที่ผ่านมาหลายพรรคการเมืองหวาดระแวงการมีอยู่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จึงมีความเคลื่อนไหวรื้อทิ้งมาหลายครั้ง ไม่เฉพาะพรรคก้าวไกลที่แสดงจุดยืนชัดเจน แต่พรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันก็เคยเปิดประเด็นเอาไว้เช่นกัน

เมื่อกลางปี 2564 ในการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 23 มิ.ย.2564 เพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา พรรคเพื่อไทยเห็นตรงกับพรรคภูมิใจไทย เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

โดย"สมพงษ์ อมรวิวัฒน์" อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ฉบับที่ พ.ศ.... ของพรรคเพื่อไทย 4 ร่าง โดยหนึ่งในนั้นคือ ยกเลิก ม. 65 เกี่ยวกับการทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้แก้ไขเพิ่มเติม ม.142 ม.162 ให้ตัดคำว่ายุทธศาสตร์ออก รวมถึงยกเลิก ม.279 โดยให้เหตุผลว่า การจัดทำยุทธศาสตร์ที่บังคับให้ทำไม่น้อยกว่า 20 ปีนั้นยาวนาน ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โลก และอาจจะเป็นพันธะต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

พรรคภูมิใจไทย "ศุภชัย ใจสมุทร" อดีต สส.บัญชีรายชื่อ เคยระบุในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม 3 ร่าง หนึ่งในนั้นคือยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ ตาม ม.65 ที่พรรคเห็นว่าไม่เหมาะสม ต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ เพราะการกำหนดระยะเวลา 20 ปีเนิ่นนานไป

ขณะที่ภาคประชาสังคมที่เห็นสอดคล้อง เช่น กลุ่ม iLaw ก็เคยให้เหตุผลที่ต้องยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ ไว้ 4 ข้อ 

1.เป็นกลไกสืบทอดอำนาจ คสช. กรรมการยุทธศาสตร์ล้วนเกี่ยวข้องกับ คสช. รัฐบาลต้องอยู่ภายใต้แนวทางที่วางไว้ 

2.ล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้มี สว.แต่งตั้งโดย คสช. ติดตามการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ถ้าขัดเมื่อไหร่ ก็เสี่ยงถูกสอยโดย ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ และมีโทษอีกต่างหาก 

3.การกำหนดไว้ 20 ปีไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็ว และ 4.ประชาชนไม่มีส่วนร่วม

หลังนายกฯ “เศรษฐา”จุดประเด็น รื้อแผนยุทธศาสตร์ชาติ ต้องจับตาปฏิกิริยาของ “พรรคร่วมรัฐบาล” และแกนนำฝ่ายค้าน“พรรคก้าวไกล” จะกระโดดเข้ามาร่วมด้วยหรือไม่ เพราะหลายพรรคมองในมิติเดียวกันว่า แผนยุทธศาสตร์ ถูกสร้างเอาไว้เพื่อใช้เป็นกับดักทางการเมือง

ที่สำคัญหากรัฐบาล“เศรษฐา” มีพาวเวอร์มากพอจะถอนรากถอนโคนมรดก คสช. บรรดาประกาศคำสั่งต่างๆ ที่ยังมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายอยู่หลายฉบับ อาจถูกยกเลิก หรือรื้อทิ้งไปด้วย 

แม้จะเป็นโจทย์ยาก แต่เป็นการนับหนึ่งที่นักการเมืองทุกขั้วทุกค่าย เห็นพ้องต้องกันในการเอาอำนาจทหารออกจากการเมือง