ปมปัญหา‘คำถามประชามติ’ 2 ฝั่งเห็นต่าง ลางร้าย รธน.

ปมปัญหา‘คำถามประชามติ’  2 ฝั่งเห็นต่าง ลางร้าย รธน.

แม้ ตัวคำถามประชามติ จะยังไม่ถูกเคาะ ทว่าต้นร่างคำถาม นั้นถูกโต้แย้งจาก คน2กลุ่มคือ "ฝ่ายค้าน-สว." ดังนั้นต้องจับตางานนี้จะฉลุย หรือ ปลุกชนวนปัญหาให้ "รัฐบาล"

ดูเหมือนว่า ไอเดีย “คำถามประชามติ” ที่เป็นบทสรุปจาก “ภูมิธรรม เวชยชัย” ประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ตั้งคำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” จะถูกวิจารณ์และ “โต้แย้ง” ไม่น้อย

ทั้งในส่วนของ “พรรคก้าวไกล-กลุ่มสนับสนุน” เนื่องจากพวกเขาตั้งหวังไว้ว่า รูปแบบคำถามควรพ่วงประเด็น “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เข้ามารับบทบาทยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

เหมือนอย่างที่เคยร่วมแรงรณรงค์กับกลุ่ม “ไอลอว์” หรือ Conforall รวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า 2 แสนรายชื่อ ชงคำถามที่ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า รัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” และผลักดันคำถามนี้ให้กับพรรคเพื่อไทย ฐานะแกนนำรัฐบาล เมื่อ 28 ส.ค.2566

ปมปัญหา‘คำถามประชามติ’  2 ฝั่งเห็นต่าง ลางร้าย รธน.

ทว่า บทสรุปของ “กรรมการศึกษาประชามติฯ” กลับไม่รับข้อเสนอในประเด็นที่เป็นหัวใจของการปูทาง นำไปสู่การได้มาซึ่ง “รัฐธรรมนูญ” ที่เป็นประชาธิปไตย คือประชาชนมีส่วนร่วม

ทำให้ “พริษฐ์ วัชรสินธุ” โฆษกพรรคก้าวไกล ฐานะนักเคลื่อนไหวในกลุ่ม Conforall ต้องออกมาวิจารณ์ว่า ลักษณะคำถามไม่เปิดกว้าง แถมยัดไส้เงื่อนไขที่ทำให้ประชาชนบางคนอาจลำบากใจที่จะเห็นด้วยในเงื่อนไขไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 พร้อมทั้งประเมินว่า นี่อาจเป็นหลุมพรางที่ทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่สำเร็จ

ปมปัญหา‘คำถามประชามติ’  2 ฝั่งเห็นต่าง ลางร้าย รธน.

เช่นเดียวกับ “ยิ่งชีพ อัชฌานนท์” ผู้อำนวยการไอลอว์ ที่เห็นในทำนองเดียวกันกับ “ก้าวไกล” พร้อมประเมินทิศทางและผลทำประชามติว่า “อาจจะตกไป” เนื่องจากมีคนไม่เห็นด้วย เกิดกรณีโหวต No-โหวตงดออกเสียง หรือไม่ออกไปใช้สิทธิ เพื่อให้จำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิไม่ถึงครึ่งตามกฎหมายประชามติ

ส่วนอีกฝั่งที่แสดงความไม่เห็นด้วยคือ “กลุ่ม สว.” นำโดย “สมชาย แสวงการ-วันชัย สอนศิริ-เสรี สุวรรณภานนท์” ที่ตั้งธงมาตั้งแต่ต้นว่า “รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ควรรื้อใหม่ทั้งฉบับ” พร้อมยกเหตุผลทั้งในแง่สิ้นเปลืองงบประมาณ หากจัดทำประชามติ 3 ครั้ง ดังกรรมการประชามติฯ ว่า ต้องใช้งบสูงถึงครั้งละ 3,500 ล้านบาท หรือรวม 3 ครั้งกว่า 10,500 ล้านบาท 

ขณะที่การกำหนดกรอบ “ไม่แตะหมวด 1 และ หมวด 2” ไม่เพียงพอต่อการคุ้มครองพระราชอำนาจของสถาบันที่กำหนดไว้ในหมวดอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญ

พร้อมทั้งมองปัจจัยอื่นที่จะส่งผลในเกมการเมือง ซึ่งบางฝ่ายพยายามผลักดันให้นำไปสู่การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เป็นประเด็นละเอียดอ่อนของฝั่งอนุรักษนิยม

ปมปัญหา‘คำถามประชามติ’  2 ฝั่งเห็นต่าง ลางร้าย รธน. ดังนั้น ในขณะนี้จึงมี 2 กลุ่มที่ส่งเสียงค้านกรรมการประชามติฯ ต่อ “ร่างคำถามประชามติ” แต่ความเห็น 2 ฝั่ง ดูเหมือนจะเห็นต่างกันอย่างสุดขั้วชัดเจน

แม้ในความเห็นต่างที่เกิดขึ้น “นิกร จำนง” ฐานะโฆษกกรรมการประชามติฯ จะออกมาชี้แจงถึงการขีดกรอบในร่างคำถามประชามติที่เตรียมเสนอรัฐบาล ช่วงต้นเดือน ม.ค.2567 ว่าได้ทำอย่างรอบคอบ ยึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ที่กำหนดให้รัฐสภามีหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยต้องผ่านประชามติจากประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่ก่อน

รวมถึงคิดมาเพื่อแก้ปัญหาที่อาจตามมา 2 ประการสำคัญ คือ 1.ความขัดแย้งในสังคม ในประเด็นไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2 ที่อาจลามไปถึงประเด็น “ม.112” ได้ 

และ 2.กันการถูกยื่นตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 ซึ่งเป็นกรอบให้ ครม.ทำประชามติ ที่ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หากกำหนดประเด็น “สสร.” ไว้ในคำถามประชามติคราวแรก อาจถูกโยงว่าขัดกับมาตรา 256 ได้

เพราะ สสร.ในยามนี้ ยังไม่มีตัวตน และอาจถือเป็นองค์กรนอกรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุมาตรา 256 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ชี้ชัดว่า หน้าที่และอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นของ “รัฐสภา”

ปมปัญหา‘คำถามประชามติ’  2 ฝั่งเห็นต่าง ลางร้าย รธน.

ส่วน “สสร.” จะเกิดขึ้นตอนไหนนั้น “นิกร” ระบุไว้ว่า จะมาในช่วงที่รัฐสภาแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งเป็นหน้าที่ของ สส.ชุดปัจจุบัน และ สว.ชุดใหม่ ที่ต้องประคับประคอง ประนีประนอม ออกแบบที่มาของ สสร.ให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมที่สุด

หลังจากนี้ จะเป็นนาทีที่คณะรัฐมนตรีของ “เศรษฐา ทวีสิน” ต้องตัดสินใจเคาะสิ่งที่เหมาะสม ลงตัวที่สุด โดยมี “ความเรียบร้อย-ราบรื่น” ของรัฐบาลเป็นปัจจัยพิจารณาสำคัญ

แม้ว่าอำนาจการตัดสินใจเรื่องทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญเป็นของ ครม.แบบ 100% แต่หากไม่ฟังเสียงท้วงติงรอบข้างจากสังคม ปมแก้รัฐธรรมนูญอาจเป็นชนวนปลุกความขัดแย้ง และพันเป็นปมปัญหาการเมือง ที่รัฐบาล-รัฐสภา ยากจะหาทางคลี่คลายในภายหลังได้.