'นิกร' แจง ร่างคำถามประชามติ คิดรอบคอบ กันขัดแย้ง-ขัดรธน.

'นิกร' แจง ร่างคำถามประชามติ คิดรอบคอบ กันขัดแย้ง-ขัดรธน.

"โฆษกก.ประชามติ" มั่นใจร่างคำถามประชามติไม่มัดมือชก แต่คิดรอบคอบ เพื่อป้องก้นข้อขัดแย้งในสังคม ปมมาตรา 112 และกันขัดรธน.

นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 กล่าวถึงกรณีที่มีผู้โต้แย้งต่อการเสนอคำถามประชามติต่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่แก้หมวด 1 และ หมวด2 ว่า  คำถามนี้เป็นมติของคณะกรรมการชุดใหญ่ที่ได้มาจากชุดคำถามตามข้อเสนอแนะของคณะอนุรับฟังความเห็นประชาชน แบบที่ 2 คำถามที่ 1 ที่ได้รับมาจากความเห็นส่วนใหญ่จากกลุ่มประชาชน ทั้งยังเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่ได้แถลงต่อรัฐสภาและประชาชนอย่างชัดเจน จากข้อตกลงร่วมกันของพรรคการเมืองก่อนเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งถือเป็นคำมั่นสัญญาที่จะต้องดำเนินการเช่นเดียวกันกับการที่จะไม่แก้ไขกฏหมายอาญา มาตรา 112 ที่ได้ให้ไว้ต่อประชาชน 

นายนิกร กล่าวว่า เป็นการประกันความร่วมมือสนับสนุนการร่วมจัดทำรัฐธรรมนูญของประชาชนฉบับใหม่จากประชาชน ที่ได้ตอบแบบสอบถามเบื้องต้นมาตามนี้ วุฒิสภา พรรคร่วมรัฐบาล ที่สำคัญหากไม่กำหนดให้ชัดเจนไปว่าจะไม่แก้ไขในหมวด1 และหมวด2 เอาไว้นั้นอาจนำไปสู่ความขัดแย้งขึ้นในสังคม เพราะมีประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่ถูกนำไปสอดไส้กล่าวอ้างในอนาคต

"ที่วิจารณ์เป็นการมัดมือชก และเป็นการสอดใส้นั้น ไม่ใช่ แต่เป็นการกระทำตามภาระกิจสำคัญให้สำเร็จลุล่วงได้อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาและต้องไม่สร้างปัญหาความขัดแย้งใหม่ขึ้นมาจากการนี้อีก จึงอยากสอบถามกลับไปว่าการเปิดให้กว้างในประเด็นที่เห็นแล้วว่าอ่อนไหวมากเช่นนั้นจะไม่เป็นการเปิดมือยุยงให้ประชาชนชกกันเองหรือ เราทุกคนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ต้องช่วยกันป้องกันสถานการณ์ ไม่ใช่ช่วยกันสุมไฟ" นายนิกร กล่าว

นายนิกร กล่าวว่า ส่วนกรณีที่นักวิชาการกังวลว่าทำไมถึงไม่มีคำถามล่วงหน้าเกี่ยวกับการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)นั้น ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลา และกรรมการมองว่าหากตั้งประเด็นดังกล่าวอาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกร้อง ว่าการออกเสียงประชามติ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 166 เพราะในมาตรา 256ของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ระบุถึง ส.ส.ร.ไว้ ดังนั้นควรรอให้ประชาชนมีมติ ให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ก่อน แล้วเสนอร่างแก้ไขมาตรา256 ในรายละเอียด ทั้งนี้เพื่อป้องกันการถูกตีตกไปตั้งแต่ต้น
         
"การตัดสินใจในการออกคำถามดังกล่าวของคณะกรรมการเพื่อเสนอให้ ครม.ตัดสินใจในครั้งนั้น ได้พิจารณาอย่างกว้างขวาง อย่างรอบคอบ เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ ที่ได้ให้ไว้ต่อประชาชนให้สำเร็จลงให้ได้ด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาเป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญ สร้างความขัดแย้งในหมู่ประชาชนขึ้นมาอีก" นายนิกรกล่าว