'พิพัฒน์'ปรับเกณฑ์ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใหม่ เตรียมตั้งอนุกรรมการไตรภาคี

'พิพัฒน์'ปรับเกณฑ์ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใหม่ เตรียมตั้งอนุกรรมการไตรภาคี

“พิพัฒน์” ปรับเกณฑ์ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใหม่ แต่ละพื้นที่ได้ไม่เท่ากัน - เตรียมตั้งอนุกรรมการไตรภาคี ลงศึกษาพื้นที่เชิงลึก ก่อนประชุมอีกครั้ง 17 ม.ค. 67

26 ธ.ค.2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการนำเรื่องค่าแรงขั้นต่ำเข้าที่ประชุมครม. รับทราบอีกครั้ง ซึ่งมติของไตรภาคีเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 66  ยังยืนยันมติเช่นเดิม ทั้งนี้ตนได้มีการหารือและขออนุญาตนายกรัฐมนตรีว่าในวันที่ 17 มกราคม 2567 คณะกรรมการไตรภาคีจะมีการประชุมอีกครั้ง พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการไตรภาคีขึ้นมาเพื่อทำการศึกษาลงในรายละเอียดถึงรายวิชาชีพ ระดับอำเภอ เทศบาล เนื่องจากหากมีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำเป็นรายจังหวัด จะเป็นการสะท้อนภาพความจริงส่วนหนึ่ง และไม่เป็นจริงอีกหลายส่วน เช่น กรณีทั้งจังหวัด เขตเทศบาล บางอำเภอมีสภาวะเศรษฐกิจที่ดี แต่เมื่อออกนอกพื้นที่อำเภอหรือเทศบาลเมืองจะเข้าสู่สังคมชนบท ซึ่งเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้ดีเหมือนที่เราเห็นในตัวจังหวัด ฉะนั้นจะมีการตั้งอนุกรรมการลงศึกษาในรายละเอียด ซึ่งจะสามารถสะท้อนพื้นที่และสาขาวิชาชีพใด ได้สูงกว่าปัจุบันนี้ เป็นรายจังหวัด 

“อย่างใดก็ตามหากมีการลงในรายละเอียดตนมั่นใจว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่ และ บางพื้นที่อาจจะคงเดิม ซึ่งในส่วนของชุมชนเมืองอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต้องดีกว่าที่ประกาศในวันนี้อย่างแน่นอน” รมว.แรงงาน กล่าว 

ทั้งนี้ยังขอนายกรัฐมนตรี ว่าจะมีการขอข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์  กระทรวงพาณิชย์  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อนำมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งหลังจากที่คณะอนุกรรมการมีการประชุมพิจารณาแล้วเสร็จ จะมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่คณะกรรมการไตรภาคีชุดใหญ่ภายในเดือนมีนาคม 2567 เพื่อเป็นการประกาศเป็นของขวัญวันปีใหม่ไทย ซึ่งก็คือในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ทั้งนี้จากการหารือกับสภาพัฒน์ จะเอาข้อมูลของในส่วนของปี 2565 ที่ทำเสร็จแล้วในช่วงเดือนมกราคม 2566 แต่จะต้องมีการหารือกับที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการของคณะกรรมการไตรภาคีชุดใหญ่ ว่าในส่วนนี้อาจจะไม่เอาของปี 2563-2564 มาลงเป็นตัวคำนวนอย่างแน่นอน  และจะนำข้อมูลของปี 2565 มาเป็นเกณฑ์ในการคำนวน และความจริงควรใช้ข้อมูลที่ถือว่าเป็นข้อมูลดิบในปี 2566 มาเป็นตัวชี้วัดอีกแนวทางหนึ่ง