ส่องจุดอ่อน '5 ป.ป.ช.ใหม่' ไร้มือเศรษฐกิจ ชี้ชะตา ‘งบฯแผ่นดิน’

ส่องจุดอ่อน '5 ป.ป.ช.ใหม่' ไร้มือเศรษฐกิจ ชี้ชะตา ‘งบฯแผ่นดิน’

หากในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลชุดต่อ ๆ ไปมีความพยายามผลักดันโครงการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเงินการคลังระดับชาติอีกเช่นนี้ จะหา “กรรมการ ป.ป.ช.” จากไหนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบได้อีก นอกจากเชิญ “ผู้ทรงคุณวุฒิ” มาจากภายนอก

ในรอบปี 2566 มิใช่แค่มีการเลือกตั้ง ผลัดเปลี่ยนขั้วอำนาจของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว

แต่บรรดาองค์กรอิสระก็มีการ “ถ่ายเลือดใหม่” เนื่องจาก “คนเก่า” เกษียณอายุราชการ หรืออยู่ครบวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว เพราะเมื่อราว 8-9 ปีก่อน ในช่วง “คสช.” เรืองอำนาจ มีการสรรหาบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเป็นจำนวนมากเช่นกัน

เช่นเดียวกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา มีกรรมการทยอยหมดวาระ-เกษียณอายุราชการไปแล้วอย่างน้อย 5 ราย แต่บางรายยังนั่ง “รักษาการ” เพื่อรอการสรรหาคนใหม่มาแทนอยู่

โดยกรรมการ ป.ป.ช. ที่หมดวาระ 5 ราย ได้แก่ สุภา ปิยะจิตติ (ยังรักษาการอยู่) พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง ณรงค์ รัฐอมฤต พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ และณัฐจักร ปัทมสิงห์

ส่วน “ว่าที่” กรรมการ ป.ป.ช.ใหม่มีทั้งหมด 5 คนเช่นกัน โดยที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภาแล้ว 3 คน ได้แก่ “แมนรัตน์ รัตนสุคนธ์” อดีตอธิบดีกรมการปกครอง แทนตำแหน่ง สุภา  ปิยะจิตติ “พศวัจณ์ กนกนาก” อดีตประธานศาลอุทธรณ์ แทน พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง และ “เอกวิทย์ วัชชวัลคุ” อดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 6 แทน ณรงค์ รัฐอมฤต อีกรายอยู่ระหว่างรอเสนอเรื่องต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ ได้แก่ “พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง” อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.)

ส่วนรายสุดท้ายเพิ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสรรหาฯ ด้วยคะแนน 3 เสียง คือ “ภัทรศักดิ์ วรรณแสง” ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญ และกฎหมายสิ่งแวดล้อม อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โดยขั้นตอนหลังจากนี้ จะนำเสนอที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

ทั้ง 5 รายดังกล่าว เห็นได้ว่ามีที่มาส่วนใหญ่จากศาล 3 ราย (พศวัจณ์ - เอกวิทย์ - ภัทรศักดิ์) จากตำรวจ 1 ราย (พล.ต.ท.ธิติ) และจากสายงานปกครอง 1 ราย (แมนรัตน์)

เมื่อรวมกับ 4 รายที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ขณะนี้ ได้แก่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. (สายตำรวจ อดีต ผบ.ตร.)  วิทยา อาคมพิทักษ์ (สายองค์กรอิสระ ลูกหม้อสำนักงาน ป.ป.ช. หลังเกษียณได้เป็นคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ก่อนกลับมาสมัครกรรมการ ป.ป.ช.อีกครั้ง)

สุวณา สุวรรณจูฑะ (สายการปกครอง อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ) สุชาติ ตระกูลเกษมสุข กรรมการ ป.ป.ช.หน้าใหม่ เพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯเมื่อปี 2563 (สายศาล อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี)

เท่ากับว่าจะมีสายศาลมากที่สุด 4 ราย (สุชาติ-พศวัจน์-เอกวิทย์-ภัทรศักดิ์) รองลงมาเป็นสายตำรวจ (พล.ต.อ.วัชรพล-พล.ต.ท.ธิติ) สายงานปกครอง (แมนรัตน์-สุวณา) และสายงานองค์กรอิสระ 1 ราย (วิทยา)

ทำให้ไม่มีกรรมการคนไหนมีที่มาจากสายงานด้าน “เศรษฐกิจ-การคลัง” เลยแม้แต่คนเดียว 

ขณะที่ ชุดก่อนหน้านี้มี “สุภา ปิยะจิตติ” ผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชี อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และมือขุดคุ้ยบัญชีรับจ่ายของโครงการรับจำนำข้าว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนนำไปสู่การตรวจสอบว่าขาดทุนมหาศาล และเป็นชนวนเหตุให้รัฐบาลต้องยุบสภาในเวลาต่อมา

ที่น่าสนใจ รัฐบาลปัจจุบันนำโดย “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งมีนโยบายสำคัญด้านการเงินการคลังคือ “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” ซึ่งต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างมากในการตรวจสอบ และพิจารณาโครงการนี้ว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ กับการใช้เงินงบประมาณของประเทศกว่า 5 แสนล้านบาทไปกับโครงการดังกล่าว

แม้ว่าสำนักงาน ป.ป.ช.จะมีการตั้ง “31 อรหันต์” คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาลไปแล้วเมื่อเดือน ต.ค. 2566 ก็ตาม โดยมี “สุภา” เป็นประธาน และ “สุวณา” เป็นรองประธาน

ทว่าหาก “สุภา” พ้นเก้าอี้ไปแล้ว ใครจะมารับไม้ต่อดูแล-ตรวจสอบโครงการใหญ่ระดับ “เมกะโปรเจ็กต์” ของรัฐบาลนี้ได้อีก เพราะอย่างที่เห็นข้างต้นว่า ไม่มีใครเชี่ยวชาญงานด้านการเงินการคลังระดับ “ถึงพริกถึงขิง” แล้ว

ที่สำคัญวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการ ป.ป.ช.หลังจากนี้มีวาระ 7 ปี หากในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลชุดต่อ ๆ ไปมีความพยายามผลักดันโครงการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเงินการคลังระดับชาติอีกเช่นนี้ จะหา “กรรมการ ป.ป.ช.” จากไหนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบได้อีก นอกจากเชิญ “ผู้ทรงคุณวุฒิ” มาจากภายนอก

แต่จุดอ่อนของ “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ภายนอกคือ ทำได้แค่ให้ข้อมูล แต่ไม่มีสิทธิ “ชี้ขาด” เรื่องดังกล่าวว่าเป็นอย่างไร เพราะเป็นหน้าที่ของ “9 อรหันต์” ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เท่านั้น

ยังไม่ต้องมองถึงอนาคต เอาแค่เรื่องเฉพาะหน้าตอนนี้คือกรณีการพิจารณาโครงการ “เงินดิจิทัล” ที่เป็น “เผือกร้อน” ในมือ ป.ป.ช.ในปัจจุบัน จะถูกพิจารณาอย่าง“ถ่องแท้”หรือไม่ คงต้องติดตามกัน