'ธัญวัจน์' ยินดีร่าง 'สมรสเท่าเทียม' เข้าสภา 21 ธ.ค. เชื่อทุกพรรคผลักดัน

'ธัญวัจน์' ยินดีร่าง 'สมรสเท่าเทียม' เข้าสภา 21 ธ.ค. เชื่อทุกพรรคผลักดัน

'ธัญวัจน์' ยินดีร่างกฎหมาย 'สมรสเท่าเทียม' เข้าสภา 21 ธ.ค. ชี้ประเทศไทยจะไปสู่ก้าวใหม่แห่งความเท่าเทียม เชื่อเป็นวาระทุกพรรคร่วมผลักดัน เผย 3 ร่าง รัฐบาล-ภาคประชาชน-ก้าวไกล หลักการตรงกัน แต่รายละเอียดที่แตกต่าง หาข้อสรุปต่อได้ในชั้น กมธ.

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ ว่าจากจุดเริ่มต้นมาถึงวันนี้ รวม 1,281 วัน ที่สมรสเท่าเทียมจะพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ในวันนี้สังคมเข้าใจและเห็นร่วมกันแล้ว ว่าสิทธิสมรสเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนสมควรได้รับ แต่ที่ผ่านมากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกลับถูกพรากไป ดังนั้นวันนี้ถึงเวลาสมรสเท่าเทียม เท่านั้น ไม่ใช่คู่ชีวิต

นายธัญวัจน์ กล่าวอีกว่า ในการพิจารณาที่จะเกิดขึ้น มี 3 ร่างหลัก คือร่างของคณะรัฐมนตรี ร่างของภาคประชาชนกว่าหมื่นรายชื่อ และร่างของพรรคก้าวไกล ทั้งสามร่างมีหลักการเดียวกันคือการสมรสที่มีความเท่าเทียม เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เปลี่ยนจากการสมรสระหว่างชาย-หญิง เป็นการสมรสระหว่างบุคคล 2 คน อาจจะมีส่วนแตกต่างกันบ้าง เช่น เรื่องอายุสมรส เรื่องการเว้นระยะเวลาของผู้หญิงในกรณีหย่าจากคู่สมรสที่เป็นหญิงด้วยกัน เรื่องบุพการีและขอบเขตความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นๆ ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถหาความเห็นร่วมกันในขั้นคณะกรรมาธิการได้

นายธัญวัจน์ กล่าวด้วยว่า หากประเทศไทยมีเป้าหมายต้องการจัดเทศกาล WorldPride กุญแจสำคัญคือความภาคภูมิใจไปด้วยกัน ก้าวไปด้วยกัน การร่วมมือกันทำงานและทำให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านสภาโดยเร็วก่อนเดือนมิถุนายน 2567 เพราะหลายฝ่ายต่างเฝ้ารอ รวมถึงการเฉลิมฉลอง Pride2024 พวกเขารอมานานแล้ว ถึงเวลาที่ต้องได้รับสิทธิ์ที่ถูกพรากไป วันที่ 21 ธ.ค.นี้ ประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่ก้าวใหม่ ศักราชใหม่แห่งความเท่าเทียม ทัดเทียมนานาอารยประเทศ ด้วยความภาคภูมิใจของทุกคน