'วิปวุฒิสภา' ปล่อยอิสระ 'สว.' ตอบคำถามประชามติแก้รธน.

'วิปวุฒิสภา' ปล่อยอิสระ 'สว.' ตอบคำถามประชามติแก้รธน.

"วันชัย" เผย วิปวุฒิสภา ไร้ใบสั่ง ให้ "สว." ตอบคำถามประชามติแก้รธน. ยันให้อิสระ ไม่ชี้นำ หรือกดดัน พร้อมมองเนื้อหาไม่ทำให้เกิดขัดแย้ง หนุนใช้ รัฐสภาเป็นคำตอบแก้รธน.

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความเคลื่อนไหวของวุฒิสภา ต่อประเด็นการตอบคำถามการรับฟังความเห็นเบื้องต้นของ สว. เกี่ยวกับแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560  ซึ่งคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็น ในกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ได้จัดส่งคำถามดังกล่าวให้ ดำเนินการตอบ ในระหว่างวันที่ 18 - 19 ธ.ค.นี้ ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ได้หารือเบื้องต้นว่าจะให้ สว. ให้ความร่วมมือแสดงความเห็นตอบคำถามอย่างอิสระ ไม่มีการชี้นำ หรือกดดัน

 

โดยนายวันชัย สอนศิริ สว. ฐานะเลขานุการวิปวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ว่าสำหรับคำถามประชามตินั้น เจ้าหน้าที่จะแจกให้สว. ที่บริเวณหน้าห้องประชุม ในวันที่ 18 ธ.ค. นี้ เพื่อให้ สว.ได้แสดงความเห็น ทั้งนี้ในที่ประชุมวิปวุฒิสภาได้หารือว่าจะให้สว.ให้ความร่วมือตอบแบบสอบถาม ระหว่างวันที่ 18 - 19 ธ.ค. จากนั้นจะรวบรวมความเห็นของสว. ส่งคืนไปยังกรรมการประชามติ

“การให้ความเห็นถือให้เป็นอิสระของแต่ละบุคคล ใครจะเห็นด้วยหรือไม่ หรือมีความเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร ถือเป็นอิสระไม่ไปก้าวล่วง ชี้นำ หรือกดดันใดๆ  ทั้งนี้ สว. เข้าใจและผ่านกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาหลายครั้ง  อีกทั้งในที่ประชุมวุฒิสภาจะไม่มีการตั้งประเด็นพิจารณาหรือหารือ มีเพียงแค่ประธานในที่ประชุมจะแจ้งให้ทราบว่าจะมีเอกสารแจกเพื่อขอความเห็น ขอให้ทุกคนให้ความเห็นตามอิสระ โดยไม่มีการเปิดอภิปราย” นายวันชัย กล่าว

\'วิปวุฒิสภา\' ปล่อยอิสระ \'สว.\' ตอบคำถามประชามติแก้รธน.

นายวันชัย ระบุด้วยว่าในการพิจารณาประเด็นดังกล่าวทางคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มี สว.เสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธานกมธ. ได้นัดประชุมในวันที่ 18 ธ.ค. เวลา 09.30 น. โดยมีวาระพิจารณาและประเด็นพูดคุยที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งจะให้ กมธ. ร่วมแสดงความเห็นเป็นอิสระ

เมื่อถามว่าคำถามที่ถูกส่งมามีรายละเอียดที่อาจทำให้เกิดปัญหาได้หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ตนเชื่อว่าไม่มีประเด็นให้เกิดปัญหา แม้ตามคำถามจะสอบถามถึงรายละเอียดว่าเห็นว่ามีเนื้อหาใดควรแก้ไข หรือจำนวนครั้งที่ทำประชามติ เพราะเป็นเพียงประเด็นที่นำไปประกอบการพิจารณาเท่านั้น แต่สาระต้องเป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ กับข้อเสนอไม่ต้องทำประชามติก่อนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้รัฐสภาพิจารณา  นายวันชัย กล่าวว่า  หากเป็นไปตามแนวเดิม คือ แก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือให้มี สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ต้องทำตามการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คือ ทำประชามติก่อน เว้นแต่ไม่แก้ไขทั้งฉบับ ซึ่งตนมองว่าหากไม่แก้ไขหมวด 1 และ หมวด 2 ถือว่าไม่ใช่แก้ทั้งฉบับ แต่หากต้องหาทางออกและตีความ ควรใช้เวทีของรัฐสภาพิจารณาให้ตกผลึกร่วมกัน เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน แลเเพื่อเป็นทางออกที่ลดความขัดแย้งในการแก้รัฐธรรมนูญ

“ผมมองว่ารัฐธรรมนุญนี้หากตัดความรู้สึกว่ามาจาก คสช. ไปได้  ไม่ต้องแก้ไข  แต่หากจะปรับปรุง คงมีแค่การแก้คำปรารภ ตัดคำว่ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติออก เพราะทั้ง 2 องค์กรมาจาก คสช. และปรับแก้ไขปรับปรุงคำระบุว่า โดย สส. ที่มาจากประชาชน แค่นั้นก็จบ ส่วนรายมาตราใดที่ไม่พอใจก็ปรับปรุงร่วมกัน ง่าย เร็ว สะดวก ไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลืองอะไร เพราะรัฐธรรมนูญนี้หากตัดเรื่องสว. โหวตนายกฯ จะได้ประชาธิปไตยเต็มใบ ผมอยู่ในท้องเรื่อง เข้าใจเรื่องนี้ดี” นายวันชัย กล่าว

นายวันชัย กล่าวตอบคำถามด้วยว่ากรณีการรับผิดชอบต่อมวลชนในการมีส่วนร่วมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั้น สามารถเปิดเวทีให้ประชาชนเข้ามาแสดงความเห็นด้วย แต่ตนมองว่าหากใช้กลไกของสภาฯ ที่เป็นตัวแทนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถทำได้ เพราะส.ส.ร.นั้นไม่มีทางรู้.