'ก้าวไกล' จับตารัฐบาลทำงบปี 67 ชงเลื่อนวาระ 1 ไปอีกสัปดาห์ ให้ฝ่ายค้านศึกษา

'ก้าวไกล' จับตารัฐบาลทำงบปี 67 ชงเลื่อนวาระ 1 ไปอีกสัปดาห์ ให้ฝ่ายค้านศึกษา

'ก้าวไกล' ลุยจับตารัฐบาลทำงบประมาณปี 67 ชงเลื่อนพิจารณางบวาระ 1 ออกไป 1 สัปดาห์ เพิ่มเวลาฝ่ายค้าน-ประชาชนศึกษา เพื่อสังเกตการณ์การประชุม - จัดทำโปร่งใส กังขางบสร้างฝายเก็บน้ำแก้ภัยแล้งเอลนีโญ จ่อเสนอจัดทำงบมิติใหม่ เปิดเผยข้อมูลคำขอก่อนโดนตัด

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ที่อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.กทม. พรรคก้าวไกล แถลงข่าวจับตานโยบายรัฐบาล “ชำแหละปัญหา-เสนอทางแก้คอร์รัปชัน” เพื่อส่งสัญญาณไปสู่รัฐบาล เนื่องในโอกาสวันที่ 9 ธ.ค.นี้ เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล พร้อมเสนอมาตรการที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลสามารถจัดการปัญหาได้ทันที

โดยนายณัฐพงษ์ กล่าวว่าเป็นที่ทราบกันดีว่างบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้าออกไปเป็นเพราะบริบททางการเมืองในปีนี้ ที่มีการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลที่คาบเกี่ยวกับช่วงเวลาในการจัดทำงบประมาณ แต่ถึงจะมาช้าแต่ก็ไม่สายเกินไปที่นายกรัฐมนตรีจะทำให้การจัดทำงบประมาณปี 2567 เป็นงบประมาณที่มีความโปร่งใส และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้มากขึ้น

1) ไม่สายเกินไปที่จะให้เวลา ตามปฏิทินการจัดทำและพิจารณางบประมาณปี 2567 ของสำนักงบประมาณ มีการกำหนดว่าในวันที่ 26 ธันวาคม 2566 เป็นวันที่จะมีมติ ครม. รับรองร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือที่เรียกกันว่าเอกสารขาวคาดแดงส่งเข้าสภา แต่ก็เป็นช่วงเดียวกับวันหยุดปีใหม่ ซึ่งกว่าที่จะเข้าสภาจริงได้ก็คือวันที่ 3 มกราคม 2567 ไม่มีทางที่สำนักงบประมาณของรัฐสภา (PBO) สส. 500 คน สื่อมวลชน และประชาชนจะมีเวลามากพอในการศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณนี้

"ดังนั้น ในฐานะพรรคฝ่ายค้านที่มีเสียงข้างน้อยในสภา คงไม่สามารถผลักดันเรื่องนี้ได้ถ้ารัฐบาลไม่ให้ความร่วมมือด้วย สิ่งที่นายกรัฐมนตรีสามารถดำเนินการได้ คือการพูดคุยในพรรคร่วมรัฐบาลและกลไกวิปพรรคร่วมฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล นำเสนอประธานสภาผู้แทนราษฎรในการเลื่อนกำหนดวาระการประชุมงบประมาณวาระ 1 ออกไป 1 สัปดาห์ ซึ่งไม่ทำให้งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ล่าช้าออกไป และจะส่งผลสำคัญต่อการพิจารณา 3.48 ล้านล้านบาทในต้นปีหน้าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้" นายณัฐพงษ์ กล่าว

2) ไม่สายเกินไปที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วม ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเราไม่เคยเห็นประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกับการพิจารณางบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรเลย ทั้งที่ IBP หรือหน่วยงานสากลที่ทำผลสำรวจการจัดทำงบประมาณที่ครอบคลุม 120 ประเทศทั่วโลก เคยออกมาให้คำแนะนำประเทศไทย ที่นอกจากคะแนน IBP ไม่มีทีท่าจะดีขึ้นแล้ว ยังมีคะแนน IBP อยู่อันดับรั้งท้ายด้วย เช่น คะแนนการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้เพียง 11 จาก 100, คะแนนข้อมูลงบประมาณเห็นภาพรวม ได้ 59 จาก 100 และคะแนนความโปร่งใสของกระบวนการจัดทำงบประมาณ ได้ 58 จาก 100 ซึ่งอยู่ติดกับประเทศในกลุ่มประเทศโลกที่ 3 ทั้งสิ้น

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีสามารถทำได้ทันทีเช่นเดียวกัน คือการเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม รัฐสภาหลายประเทศเปิดให้ประชาชนเข้ามาสังเกตการณ์เป็นสักขีพยาน เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถทำได้ทันที และพิสูจน์ความจริงใจว่ารัฐบาลมีเจตจำนงที่จะทำงบประมาณให้มีความโปร่งใสและประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น

3) ไม่สายเกินไปที่จะทำให้การจัดทำงบประมาณมีความโปร่งใส จากการอภิปรายงบประมาณ “ชิดชอบบุรี” หรืองบประมาณซ่อมและสร้างถนนที่มีการกระจุกตัวอยู่ในบางจังหวัด ที่ สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายในสภาในงบปี 2566 ในงบประมาณปีนี้มีทีท่าว่าจะเกิดเหตุซ้ำรอย นั่นคืองบประมาณในการสร้างฝายเก็บน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งเอลนีโญ 

"กรณีดังกล่าวมีความน่าสงสัย คือมีการตั้ง ชง อนุมัติ และจบภายใน 20 กว่าวัน เป็นการสร้างฝาย 4 พันแห่ง ด้วยงบประมาณ 2 พันล้านบาท โดยใช้เงินอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย คำถามคือฝาย 4 พันแห่งพิจารณาจบภายใน 20 กว่าวันสามารถพิจารณาได้ถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่" นายณัฐพงษ์ กล่าว 

\'ก้าวไกล\' จับตารัฐบาลทำงบปี 67 ชงเลื่อนวาระ 1 ไปอีกสัปดาห์ ให้ฝ่ายค้านศึกษา

นายณัฐพงษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ทั้ง สทนช. และ สสน. และหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศ เคยให้ความเห็นว่าฝายไม่ได้มีความเหมาะสมในการจัดการปัญหาภัยแล้งในทุกพื้นที่ และไม่เคยมีส่วนร่วมในการพิจารณาโครงการสร้างฝ่ายทั้ง 4 พันแห่งนี้ ดังนั้นสิ่งที่น่าตั้งข้อสงสัยต่อไป คือการที่งบประมาณในการสร้างฝายต่อแห่งเฉลี่ยอยู่ที่ราว 5 แสนบาท ซึ่งอยู่ในกรอบที่ไม่ต้องทำ e-bidding นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรต้องทำให้เกิดความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลงบประมาณออกมา ว่างบประมาณในการดำเนินโครงการเหล่านี้ ถูกจัดสรรลงไปในพื้นที่ใดบ้าง

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่พรรคก้าวไกลมีความตั้งใจที่จะทำให้การจัดทำงบประมาณมีมิติใหม่เกิดขึ้น นั่นคือการเปิดเผยข้อมูลคำของบประมาณ 5.8 ล้านล้านบาท ก่อนถูกตัดลงมาเหลือ 3.48 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่หน่วยรับงบประมาณ ส่งข้อมูลความต้องการงบประมาณไปที่สำนักงบประมาณ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการตัดและจัดสรรงบประมาณ 

ทั้งนี้ สำนักงานประมาณไม่เคยให้ข้อมูลนี้กับใคร หรือชี้แจงถึงเกณฑ์ในการจัดสรร การตัด หรือการเลือกพื้นที่ลงงบประมาณกับใคร ทางกรรมาธิการการศึกษาการจัดทำและติดตามงบประมาณ ได้พยายามทำหนังสือขอข้อมูลไปที่สำนักงบประมาณแล้ว แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าการจัดสรรงบประมาณยังไม่ผ่านมติ ครม. ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ 

"นี่จึงเป็นที่มาที่ กมธ.ติดตามงบฯ ได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทำหนังสือขอข้อมูลโดยตรงไปยังหน่วยรับงบประมาณ 464 ฉบับ ได้ข้อมูลคำของบประมาณมาแล้ว 18 จาก 20 กระทรวง กลายเป็นคำถามว่าทำไมกระทรวงถึงให้ข้อมูลเราได้แต่สำนักงบประมาณให้ข้อมูลเราไม่ได้" นายณัฐพงษ์ กล่าว

ต่อมาเป็นเรื่องที่ต้องถามโดยตรงไปยังนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลสำนักงบประมาณโดยตรง ว่านายกรัฐมนตรีสามารถให้ข้อมูลนี้แก่ กมธ. ได้หรือไม่ เรื่องนี้ถ้านายกรัฐมนตรีมีความจริงใจ ไม่อยากปกปิด สามารถสั่งการให้สำนักงบประมาณส่งข้อมูลไปยังสภาผ่าน กมธ.ติดตามงบฯ เพื่อจะได้มีภาพรวมคำของบประมาณอย่างสมบูรณ์ จะได้วิเคราะห์ต่อไปว่าการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลมีความเหมาะสม มีการกระจายตัวหรือกระจุกตัวในพื้นที่ใดบ้าง นี่ต่างหากที่จะเป็นการลงมือพิสูจน์ให้เห็นว่ารัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาการทุจริต

สุดท้าย นอกจากการเปิดเผยการจัดทำงบประมาณแล้ว การใช้งบประมาณก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งที่ผ่านมามีการประกาศจากรัฐบาลชุดที่แล้วตั้งแต่ปี 2558 ว่าประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกความร่วมมือเพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (OGP) ซึ่งมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีการเปิดเผยการใช้งบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างในรูปแบบที่ผ่านเกณฑ์ แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

เมื่อวานนี้ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้เข้าไปชี้แจงคำของบประมาณใน กมธ. ว่าในงบประมาณปี 2567 กรมบัญชีกลางได้ตั้งโครงการเพื่อจัดทำระบบการเปิดเผยการจัดซื้อจัดจ้างแบบเรียลไทม์ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่น่าสงสัยให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบได้

"แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานในระดับปฏิบัติการพร้อมแล้ว ที่จะทำให้เกิดระบบการเปิดเผยข้อมูลการใช้งบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งหากเกิดขึ้นเมื่อไร ประเทศไทยจะได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นและเข้าร่วม OGP ได้ ขาดแต่เพียงการออกมาประกาศเจตจำนงที่ชัดเจนของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น" นายณัฐพงษ์ กล่าว
.
“ผมขอส่งเสียงเรียกร้องว่าวันพรุ่งนี้ เมื่อนายกรัฐมนตรีเข้าพบกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน อยากให้ท่านประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ว่ารัฐบาลชุดนี้จะเข้าเป็นสมาชิก OGP ให้ได้ภายใน 2 ปี ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าภายใต้บริบทของประเทศในปัจจุบัน เราสามารถทำได้” ณัฐพงษ์กล่าว