‘ภูมิธรรม’ นำทัพประกาศเจตจำนงวันต้านโกง เป็นรัฐโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไร้สินบน

‘ภูมิธรรม’ นำทัพประกาศเจตจำนงวันต้านโกง เป็นรัฐโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไร้สินบน

‘ภูมิธรรม’ นำทีมประกาศเจตจำนงวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ลั่นต้องสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยร้ายแรงการทุจริต ลดช่องว่างกฎหมาย เป็นรัฐที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ขจัดการให้สินบน

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ที่ฮอลล์ 4 อาคารศูนย์การประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบหมายนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตในงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ภายใต้แนวคิด “ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย ต้านโกง” โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ประธานกรรมการ ป.ป.ช.)  สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ประชาชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมภายในงาน รวมทั้งเข้าร่วมงานในรูปแบบออนไลน์ซึ่งมีการถ่ายทอดสดการจัดงานผ่านทาง Facebook สำนักงาน ป.ป.ช.

โดยเมื่อนายภูมิธรรม รองนายกรัฐมนตรี มาถึงบริเวณหน้างาน มีการแสดงวงโยธวาทิต บรรเลงพร้อมขับร้องเพลง “ความฝันอันสูงสุด” จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีรับชมวิดีทัศน์กิจกรรมวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ภายใต้แนวคิด “ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย ต้านโกง”

หลังจากนั้น พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวเปิดงานว่า วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day) ถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่ที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ (UN) มีมติเห็นชอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต พ.ศ. 2546 (United Nations Convention Against Corruption – UNCAC , 2003) อย่างเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 จากนั้นประเทศภาคีเครือข่ายสหประชาชาติจำนวน 191 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาฯ เมื่อปี 2546 ณ เมืองเมอริด้า ประเทศเม็กซิโก ด้วยเหตุนี้ องค์การสหประชาชาติ จึงประกาศให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า โดยปัญหาใหญ่ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่งในเวทีระหว่างประเทศ สิ่งที่ผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลก  เห็นพ้องต้องกัน คือ การต่อสู้กับคอร์รัปชันในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากการร่วมมือร่วมใจของนานาประเทศ ซึ่งจากผลดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกประเทศต้องเร่งแก้ไข มิเช่นนั้นจะทำให้ปัญหาอื่น ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่สำคัญมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพื่อขับเคลื่อนการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต โดยการแสดงพลังและเจตนารมณ์อย่างพร้อมเพรียงกัน ดังนั้นวันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี ทั่วโลกจึงได้จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากลขึ้น

ต่อมา นายภูมิธรรม ขึ้นกล่าวปาฐกถาว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันต่อต้านคอรัปชันสากล (ประเทศไทย) ซึ่งองค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันสำคัญเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาคมโลกถึงภัยร้ายแรงจากการทุจริต วิธีการต่อต้านทุจริตเพื่อผลิตเจตนารมณ์ร่วมกันในการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจังฉบับประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ รัฐบาลร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. องค์การต่อต้านคอร์รัปชัน และภาคีทั้งหลายภาคสังคม ได้ร่วมกันจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากลขึ้นเพื่อแสดงจุดยืนร่วมกันของคนไทยในทุกภาคส่วนที่ “ไม่ทำ ไม่ทน และไม่เฉยต่อการทุจริต” 

“ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศไทยเป็นปัญหาเรื้อรังที่สั่งสมมานานส่งผลเสียหายต่อประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง นำไปสู่ปัญหาการขาดความเชื่อมั่นในมุมมองของนานาชาติ โดยจากการศึกษาขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติให้ข้อเสนอแนะการแก้ไขการปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันว่าต้องให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพทางสังคมเพื่อเป็นพลังในการตรวจสอบการทุจริตความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง และการใช้จ่ายงบประมาณ ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งและความเป็นอิสระให้กับหน่วยงานตรวจสอบเพื่อให้การตรวจสอบสมดุล รวมถึงการร่วมมือกับปัญหาทุจริตข้ามชาติ ทั้งในเรื่องช่องว่างของกฎหมายเพื่อสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษและรับมือกับปัญหาการเรียกร้องรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ” นายภูมิธรรม กล่าว
 
นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะได้ฟื้นคืนความเชื่อมั่น ความโปร่งใสของการบริหารงานราชการทุกระดับ โดยการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม แนวทางที่สำคัญ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนค่านิยมในสังคม สังคมไทยจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงค่านิยมบางประการที่เอื้อต่อการทุจริต เช่น การให้สินบนเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ การปรับปรุงระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในการปราบปรามการทุจริตจำเป็นต้องมีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้สามารถเอาผิดกับผู้กระทำความผิดได้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่การส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริต ประชาชนทุกคนจำเป็นต้องตระหนักถึงความสำคัญของการต่อต้านการทุจริต และกล้าที่จะออกมามีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริต เช่น การแจ้งเบาะแสการทุจริต เป็นต้น
 
นายภูมิธรรม กล่าวย้ำว่า การต่อต้านการทุจริตเป็นภารกิจที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกคนที่จำเป็นต้องร่วมมืออย่างจริงจังเพื่อสร้างสังคมไทยที่ปราศจากการทุจริตและที่ผ่านมาได้มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การผนึกกำลังและบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหารและหน่วยงานตรวจสอบเพื่อให้กระบวนการตรวจสอบเชื่อมโยงไปทุกมิติอย่างไร้รอยต่อ การขับเคลื่อน พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชนเพื่อสร้างความโปร่งใสในการอนุมัติ อนุญาตเพื่อลดปัญหาทุจริตจากการเรียกรับสินบน การสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมเฝ้าระวังติดตามตรวจสอบการทุจริต การสร้างความเข้มแข็ง การพัฒนาช่องทาง การแจ้งเบาะแสให้มีความหลากหลายโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงง่าย รวมถึงการค้นหาเบาะแสข้อเท็จจริงและการแจ้งเบาะแสที่พบเห็นการกระทำทุจริต การสื่อสารหรือผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรมของประเทศไทยไปให้ถึงกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการประเมินดัชนีการรับรู้การทุจริตซึ่งส่งผลต่อการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตดังกล่าว
 
รองนายกฯ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามนับจากนี้ทิศทางการขับเคลื่อนประเทศภายใต้การนำของรัฐบาลจะยึดหลักนิติธรรมเพื่อให้ปัญหาทุจริตของประเทศไทยลดน้อยลงและมีความโปร่งใสเป็นธรรมและตรวจสอบได้มากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพทางสังคมเพื่อเป็นพลังในการตรวจสอบทุจริต ได้สร้างความโปร่งใสในระบบการจัดซื้อจัดจ้าง และการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐเพื่อป้องกันทุจริตและมีการเปิดเผยข้อมูลสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้เข้าร่วมตรวจสอบได้ตามแนวทาง Open Government การสร้างความเข้มแข็งและความเป็นอิสระให้กับหน่วยงานตรวจสอบเพื่อให้เกิดการตรวจสอบสมดุล การพัฒนาและส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเพื่อใช้ในขั้นตอนของกระบวนการต่าง ๆ ของภาครัฐ ทั้งการอนุมัติ อนุญาตเพื่อลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ สร้างความโปร่งใส และตรวจสอบได้รวมทั้งลดการเรียกสินบนซึ่งจะช่วยประชาชนให้รับบริการจากภาครัฐด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และรวดเร็ว 

นอกจากนี้ยังทำให้การลงทุนต่างชาติ นักลงทุนต่างชาติเกิดความมั่นใจในการมาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทยด้วย การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการตรวจสอบและลงโทษผู้กระทำความผิดให้เป็นไปอย่างรวดเร็วในประเทศไทย ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการสื่อสารถึงผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาการทุจริตที่จริงจัง เป็นรูปธรรมของประเทศไทยไปให้ถึงกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการประเมินดัชนีการรับรู้การทุจริตอย่างต่อเนื่องเพื่อให้นานาชาติเกิดความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการเรื่องการปกป้อง ป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศไทยต่อไป
 
หลังจากนั้น นายภูมิธรรม นำประกาศเจตจำนงในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากลว่า “ข้าพเจ้านายภูมิธรรม เวชยชัย ขอประกาศเจตจำนงว่าจะประพฤติปฏิบัติตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตไม่กระทำการทุจริตจะยึดมั่นในความยุติธรรม ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน จะปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยจิตอาสาพร้อมทำความดีด้วยหัวใจ” 

พร้อมกับวางมือบนแท่นพิธีเพื่อเปิดกิจกรรมงานต่อต้านคอร์รัปชันสากลประเทศไทย ประจำปี 2566 แล้ว ร่วมถ่ายภาพบนเวทีด้วยการทำมือแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการทุจริตด้วยการกำปั้นมือขวาแล้วทาบไปที่หน้าอกข้างซ้าย