ครม.สัญจรนัดแรก จ่อไฟเขียวงบฯตัดอ้อยสด 8,000 ล้าน เคาะแผนพัฒนาอีสานตอนบน1

ครม.สัญจรนัดแรก จ่อไฟเขียวงบฯตัดอ้อยสด 8,000 ล้าน เคาะแผนพัฒนาอีสานตอนบน1

"เศรษฐา" นั่งหัวโต๊ะประชุม ครม.สัญจรครั้งแรกในจ.หนองบัวลำภู จ่อเคาะงบฯ8พันล้าน หนุนตัดอ้อยสดต้นละ 120 บาท เตรียมรับฟังโครงการพ้ฒนาจังหวัดภาคเหนือตอนบน1 หนองบัวลำภู อุดรธานี เลย หนองคาย และบึงกาฬ เชื่อมโยงคมนาคมเพื่อนบ้าน พม.ชงเว้นค่าดอกเบี้ยโรงรับจำนำ 5,000 บาทแรก

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าวันนี้ (4 ธ.ค.) เวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี่ และรมว.คลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) จังหวัดหนองบัวลำภู ณ ห้องประชุมโรงแรมณัฐพงษ์ แกรนด์ หนองบัวลำภู ซึ่งถือว่าเป็นการประชุม ครม.สัญจรครั้งแรกของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

โดยก่อนการประชุมนายกรัฐมนตรีจะได้เยี่ยมชมนิทรรศการของพื้นที่จ.หนองบัวลำภู ในหัวข้อต่างๆได้แก่ ภาพรวมการดำเนินงานของจังหวัดหนองบัวลำภู เกษตรเพิ่มมูลค่า จังหวัดสีขาว เมืองผ้า น่าอยู่ น่าเที่ยว เทคโนโลยีระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการความร่วมมือพัฒนาระบบการให้ความรู้ทางการเงินและมาตรการแก้ปัญหาหนี้รายย่อย

ทั้งนี้ช่วงหนึ่งของการลงพื้นที่ตรวจราชการของนายกรัฐมนตรีวานนี้ (3ธ.ค.) นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า การลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดหนองบัวลำภู ได้นำคณะรัฐมนตรีมาประชุม ครม.สัญจรซึ่งเป็นครั้งแรกตั้งแต่เป็นรัฐบาล และเป็นความตั้งใจของตนเอง ว่าจะต้องมาจังหวัดหนองบัวลำภูเป็นจังหวัดแรก เพราะเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำที่สุด

ครม.สัญจรนัดแรก จ่อไฟเขียวงบฯตัดอ้อยสด 8,000 ล้าน เคาะแผนพัฒนาอีสานตอนบน1

“ยืนยันไม่ได้มาเพื่อเป็นการสร้างภาพ แต่ต้องการมาดูชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่มีความลำบาก ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหาเศรษฐกิจ และยาเสพติด จากที่ได้ไปดูมาหลาย ๆ ที่ เข้าใจและชื่นชมการทำงานอย่างเข้มแข็งของชุมชนบำบัด และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ได้ทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี สามารถใช้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมดูแลผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดให้หายกลับเข้าสู่สังคม ใช้ชีวิตอย่างปกติได้มีชีวิตอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เป็นบุคคลที่มีคุณค่าต่อสังคมต่อไป” นายกรัฐมนตรีย้ำ

สำหรับวาระการประชุม ครม.ที่สำคัญ ต้องจับตา ได้แก่

  • กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ที่อัตรา 120 บาทต่อตัน วงเงิน 8,000 ล้านบาท โดยจะเสนอของบกลางฯรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ.2566 พลางไปก่อนมาใช้จ่ายในส่วนนี้ให้กับเกษตรกร
  • สำนักงบประมาณเสนอ ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 เพื่อเป็นกรอบการจัดทำงบประมาณปี 2568 ให้กับหน่วยงานราชการที่จะเสนอของบประมาณ
  • กระทรวงพลังงานเสนอร่างกฎกระทรวงสถานที่เก็บรักษาน้ำมัน พ.ศ. ..
  • กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ร่างคำมั่นของประเทศไทยเนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
  • กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอมาตรการงดดอกเบี้ยโรงรับจำนำในส่วน 5,000 บาทแรก รวมทั้งเสนอสนับสนุนสวัสดิการศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ ใน 20 จังหวัดภาคอีสาน และนโยบายของขวัญปีใหม่จากกระทรวง ทั้งหมด 8 ด้าน

กลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน1ขนโครงการขอครม.

นอกจากนั้นยังมีเรื่องที่จะเสนอโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) จังหวัดที่จะเสนอแผนการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1(บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี )  และข้อเสนอการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นภูกระดึง จ.เลย

ซึ่งก่อนหน้านี้ซึ่งเมื่อวานนี้ได้มีการเสนอให้กับรัฐบาลโดยต้องการผลักดันเป็น “ศูนย์การท่องเที่ยวของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ เกษตรอุตสาหกรรมมูลค่าสูง เมืองน่าอยู่” เพราะในกลุ่มจังหวัดนี้ มีศักยภาพแหล่งท่องเที่ยงจำนวนมาก รวมถึงมีเขตจังหวัดติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งยังสามารถพัฒนาได้อีกจำนวนมาก 

สำหรับข้อเสนอจากภาคเอกชน กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ที่จะนำเสนอต่อครม.ในครั้งนี้คือ

  1. ยกระดับการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ให้ไปสู่การท่องเที่ยวระดับนานาชาติ โดยใช้ Soft Power อัตลักษณ์ท้องถิ่น อาทิ ประเพณี วัฒนธรรม ภาษา อาหาร เส้นทางโรแมนติกรูท นาดีรูท และสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง
  2. เร่งรัดการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบของลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อรองรับภาคการเกษตร การบริโภค และการลงทุน
  3. ยกระดับโรงพยาบาลภาครัฐของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน 
  4. ศึกษาและวางแผนโลจิสติกส์กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 สู่ NeEC และเชื่อมโยงภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 
  5. จัดทำระบบขนส่งมวลชน เพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี ปี 2569
  6. ส่งเสริมการจัดงานมหกรรมผ้าทอมือภูมิภาคลุ่มน้ำโขง GMS Fabric Expo 
  7. ยกระดับรายได้เกษตรกรภายใต้การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น 
  8. เร่งรัดปรับปรุงผังเมืองรวมและผังเมืองรวมจังหวัด เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุน ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 
  9. แก้ไขปัญหาและยกระดับมูลค่าเพิ่มเกษตรอุตสาหกรรมพืชเศรษฐกิจ เช่น มันสำปะหลัง ไผ่ ยางพารา
  10. 10.เร่งรัดและผลักดันการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-ลาว ตามแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง (JTMH) 

โดยเมื่อแยกเป็นรายจังหวัด มีข้อเสนอของแต่ละจังหวัดดังนี้

จังหวัดบึงกาฬ เสนอ

  1. โครงการพัฒนาการค้าชายแดน และการท่องเที่ยว เพื่อรองรับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ)
  2. เร่งรัดโครงการบริหารจัดการแม่น้ำโขง-แม่น้ำสงคราม เพื่อการเกษตร ส่วนจังหวัดเลย ขอเร่งรัดการก่อสร้างรันเวย์ท่าอากาศยานเลย เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต

 จังหวัดหนองคาย เสนอ

  1. เร่งรัดลงทุนการสร้าง Container Yard ให้แล้วเสร็จ เพื่อการรองรับการขยายตัวการขนส่งสินค้าทางรางของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 และ EEC
  2. ขอจัดตั้งเขตเพื่อคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ จุดขาย (Tax Refund) ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน1(นำร่องในเขตท้องที่เทศบาลเมืองหนองคาย)
  3. ยกระดับมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย เป็นมหาวิทยาลัยหนองคาย หรือพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดให้มีความก้าวหน้าในระดับนานาชาติให้การยอมรับ
  4. จัดสร้างและพัฒนาศูนย์ Business Center เพื่อรองรับการเข้ามาลงทุน
  5. โครงการพัฒนายกระดับระบบการนำเข้า-ส่งออก ไทย-ลาว-จีน ในรูปแบบ Single Windows

จังหวัดหนองบัวลำภู

  1. ขอรับการสนับสนุนขนส่งระบบราง เชื่อมโยงอุดรธานี-หนองบัวลำภู-เลย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
  2. ผลักดันสะพานเฉลิมพระเกียรติ ระหว่างอำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู กับอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น
  3. ยกระดับวิทยาลัยชุมชน เพื่อเป็นสถาบันพัฒนาวิชาชีพเฉพาะทางในระดับปริญญาตรี
  4. พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกเฒ่าโต้ จังหวัดหนองบัวลำภู
  5. พัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผ้าทอธรรมชาติ จังหวัดหนองบัวลำภู
  6. โครงการหนองบัวลำภูเจ้าบ้านที่ดี เพื่อยกระดับการพัฒนาบุคลากรและแหล่งท่องเที่ยว
  7. โครงการศึกษาออกแบบทางเลี่ยงเมือง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู

ครม.สัญจรนัดแรก จ่อไฟเขียวงบฯตัดอ้อยสด 8,000 ล้าน เคาะแผนพัฒนาอีสานตอนบน1

และ จังหวัดอุดรธานี เสนอ

  1. เร่งรัดการจัดตั้งศูนย์ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) ให้แล้วเสร็จ ภายในปี 2567 เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าชายแดน/ผ่านแดน แบบครบวงจร ณ จังหวัดอุดรธานี
  2. ยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพในจังหวัดอุดรธานี ให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์ระดับนานาชาติ