'วันชัย' ค้าน 'ภูมิธรรม' จ่อชงศาลรธน. ตีความปมตั้ง ส.ส.ร.รื้อรธน.60

'วันชัย' ค้าน 'ภูมิธรรม' จ่อชงศาลรธน. ตีความปมตั้ง ส.ส.ร.รื้อรธน.60

"สว.วันชัย" ชี้เป็นเหตุผลทางการเมืองของ "รัฐบาล" ไม่รีบแก้รธน. ค้าน "ภูมิธรรม" จ่อชงสภาฯ ให้ทำเรื่องตีความศาลรธน. ปมตั้ง ส.ส.ร. รื้อรธน.60

ที่รัฐสภา สว.วันชัย สอนศิริ ฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นต่างเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 เตรียมเสนอให้สภาฯ ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กรณีให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า ตนมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะทำเรื่องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีประเด็นที่เคยส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ นายสมชาย แสวงการ สว. พร้อมคณะทำเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความมาแล้วและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า หากจะแก้รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย ส.ส.ร. หรือให้ ส.ส.ร.ทำหน้าที่รื้อรัฐธรรมนูญฉบับเดิมซึ่งมาจากอำนาจของประชาชน ต้องถามประชาชนก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่

นายวันชัย กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่รัฐบาลที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือยกเว้นหมวด 1 หรือ หมวด2 ตนมองว่าไม่จำเป็นที่ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความอีกเพราะเคยเกิดขึ้นแล้ว หรือหากรัฐบาลไม่ต้องการทำประชามติสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ เป็นรายมาตรา หรือตามเงื่อนไขของมาตา 256 ในรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้

นายวันชัย กล่าวด้วยว่าส่วนกรณีที่รัฐบาลมีความเห็นว่าจะสอบถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าควรทำประชามติกี่ครั้ง ส่วนตัวมองว่า อย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ไม่ควรเกิน 3 ครั้ง คือ ครั้งแรก ก่อนจะแก้รัฐธรรมนูญ ครั้งสอง คือ เมื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่กระทบต่อเงื่อนไขมาตรา 256 ซึ่งจะเป็นก่อนการลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่ในวาระสาม และครั้งสาม หลังจากที่ได้รับความเห็นชอบทั้งฉบับโดยรัฐสภาแล้ว

เมื่อถามว่าขณะนี้เหมือนรัฐบาลเพิ่มประเด็นเพิ่มเติมเรื่อยๆ ทั้งการแก้พ.ร.บ.ประชามติ และส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความนายวันชัย กล่าวว่า เป็นประเด็นของรัฐบาลที่ต้องตัดสินใจ เพราะการศึกษาแนวทางการทำประชามตินั้นเป็นอำนาจเต็มของรัฐบาลตามกฎหมาย แต่ที่รัฐบาลฟังพรรคการเมือง ประชาชน ถือเป็นวิธีปฏิบัติ หรือหาแนวร่วมทั้งที่ข้อเท้จจริงไม่ฟังก็ได้ ดังนั้นตนมองว่ารัฐบาลมีเหตุผลทางการเมือง ที่ไม่จำเป็นต้องรีบแก้รัฐธรรมนูญ.