โฆษกรบ. เผย ไทยมุ่งขยายโอกาสการค้าและการลงทุนกับสหภาพยุโรป ผ่าน FTA ไทย-EU

โฆษกรบ. เผย ไทยมุ่งขยายโอกาสการค้าและการลงทุนกับสหภาพยุโรป ผ่าน FTA ไทย-EU

โฆษกรัฐบาล เผย ไทยมุ่งขยายโอกาสการค้าและการลงทุนกับสหภาพยุโรป ผ่าน FTA ไทย-EU พร้อมเตรียมปฏิบัติตามกฎระเบียบการค้าใหม่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านประมง และด้านการนำเข้าสินค้าเกษตร และปศุสัตว์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าไทยในตลาด EU

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยกระทรวงพาณิชย์เดินหน้าส่งเสริมความร่วมมือกับสหภาพยุโรปอย่างฉันมิตร ในฐานะที่สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยมาอย่างช้านาน ซึ่งในห้วงเดือนมกราคม-กันยายน  2566 การค้าระหว่างไทย-สหภาพยุโรปมีมูลค่า 31,762.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการค้ารวม 7.35% ของการค้าทั้งหมดของไทยกับนานาชาติ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลโดย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้พบหารือกับนายเดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ในประเด็นความร่วมมือทางการค้า ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องในการใช้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-อียู ที่อยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามมาตรฐานการนำเข้าสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการด้านประมง 

ทั้งนี้ ในการเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป ไทยเน้นย้ำถึงจุดยืนเรื่องความยืดหยุ่น ข้อเท็จจริง ระดับความแตกต่าง และระยะเวลาการปรับตัวของแต่ละประเทศต่อการปฏิบัติตามกฎระเบียบการค้าใหม่ ๆ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่า ควรมีความร่วมมือและให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับผลประโยชน์ที่ยั่งยืนร่วมกัน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สหภาพยุโรปถือเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ในขณะที่สินค้าที่ไทยนำเข้าจากสหภาพยุโรป ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบต่าง ๆ เป็นต้น

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางการค้ากับทุกพันธมิตร ซึ่งไทยและสหภาพยุโรปก็เป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นมายาวนาน รวมถึงสหภาพยุโรปเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกของต่างประเทศของไทยที่มีศักยภาพ สามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอีกมาก ซึ่งการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-EU จะเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการขยายโอกาสการส่งออกสินค้าของภาคเอกชนไทย พร้อมทั้งส่งเสริมศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าให้กับประเทศไทยในเวทีโลกอีกด้วย” นายชัย กล่าว