ไล่ล่า ‘แป้ง นาโหนด’ ปลุกอดีต ‘ภูบรรทัด’ เมืองหลวงคอมฯใต้

ไล่ล่า ‘แป้ง นาโหนด’  ปลุกอดีต ‘ภูบรรทัด’ เมืองหลวงคอมฯใต้

ไล่ล่า “เสี่ยแป้ง นาโหนด” ปลุกตำนาน “บ้านตระ” แห่งเทือกเขาบรรทัด โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.)ภาคใต้ ประกาศให้พื้นที่แห่งนี้ เป็น “เมืองหลวงคอมมิวนิสต์ภาคใต้”

ยุทธการไล่ล่า เชาวลิต ทองด้วง หรือ “แป้ง นาโหนด” ที่หลบหนีออกจากการควบคุมตัวใน รพ.มหาราช นครศรีธรรมราช ที่มีข้อมูลว่า ได้หลบซ่อนในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด บ้านตระ ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง พื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด (ตรัง พัทลุง และสตูล) ผ่านมาแล้ว 9 วัน ยังจับตัวไม่ได้
 แม้จะมีการระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสนธิกำลังกันหลายหน่วย เพื่อติดตามไล่ล่าเสี่ยแป้ง ก็ยังไร้ผล จนต้องขยายเวลาออกไปจนถึงวันที่ 30 พ.ย.นี้

ระหว่างการปิดป่าปิดเขาตามล่าเสี่ยแป้ง ได้มี “เรื่องเล่า” มาก มายเป็นสีสันของข่าวสาร รวมถึงตำนาน “บ้านตระ” แห่งเทือกเขาบรรทัด

จะว่าไปแล้ว ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจนับร้อยชีวิต พร้อมอาวุธครบมือ มี ฮ.บินวนหลายลำ เสียงดังสนั่นลั่นป่า ทำให้ชาวบ้านแถวนั้น นึกถึงเหตุการณ์เมื่อ 30-40 กว่าปีที่แล้ว

บ้านตระ บนเทือกเขาบรรทัด หรือภูบรรทัด ในอดีต ได้รับการบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อครั้งเปลวไฟสงครามประชาชนลุกโชนทั่วภาคใต้
 

ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.)ภาคใต้ ได้ประกาศให้บ้านตระ บนภูบรรทัด เป็น “เมืองหลวงคอมมิวนิสต์ภาคใต้”

ไล่ล่า ‘แป้ง นาโหนด’  ปลุกอดีต ‘ภูบรรทัด’ เมืองหลวงคอมฯใต้

จากข้อมูลเอกสารรายงานการศึกษาความสัมพันธ์ของภาวะโลกร้อน กรณีบ้านตระ โดย ทีมวิจัยชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ระบุว่า บ้านตระ เป็นชุมชนเก่าแก่มากว่า 300 ปี เป็นเส้นทางการค้าโบราณในยุคสมัยอยุธยาตอนกลาง เดิมมีชื่อเรียกว่า “บ้านสระ” และ “ในตระ” มีผู้ปกครองคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าเมืองปะเหลียน 

 ปี 2457 บ้านตระ มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ มูสา การะนิล มีชาว บ้านประมาณ 100 ครัวเรือน นับถือศาสนาอิสลาม การปกครอง จึงได้นำหลักการของศาสนามาใช้ในการปกครองด้วย

บ้านตระ ในยุคหลังมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมและสาธารณสุข มีการอพยพหนีโรคระบาด จนเหลือ 12 ครัวเรือนเมื่อปี 2513

 “บ้านตระ มีลักษณะเป็นที่ราบบนภูเขาสูงและเป็นแอ่งกระทะ ล้อมรอบไปด้วยเทือกเขาบรรทัด ระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 300 ฟุต พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่ง กำเนิดต้นน้ำ ลำธาร และเป็นแหล่งน้ำตกที่สวยงามในตำนานเทือกเขาบรรทัด” (หนังสือ บนเส้นทางภูบรรทัด ตำนานการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของประชาชน)

 ปี 2514 พคท.ภาคใต้ ได้ส่งสหายชุดหนึ่งมาบุกเบิกเขตงานใหม่ และจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ ในเขตรอยต่อ 3 จังหวัด ตรัง พัทลุง และสตูล

ไล่ล่า ‘แป้ง นาโหนด’  ปลุกอดีต ‘ภูบรรทัด’ เมืองหลวงคอมฯใต้

“ในช่วงที่การปฏิวัติขึ้นสู่กระแสสูง ฝ่ายนำตัดสินใจย้ายศูนย์การนำของภาคใต้ มาสร้าง ‘เมืองหลวงของภาค’ โดยใช้เวลาเดินทัพทางไกลประมาณ 45 วัน มาตั้งสำนักงานลับๆที่ในตระหรือบ้านตระ ระหว่างปี 2521-2523 เรียกว่าค่าย 842 ซึ่งเวลานั้น มีการทดลองตั้งสถานีวิทยุ และทำโรงไฟฟ้าพลังน้ำตก....”

 ผลสะเทือนจากเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 มีนักศึกษาปัญญาชนจำนวนมากหลั่งไหลเข้าร่วมการต่อสู้กับ พคท.ภาคใต้ โดยเฉพาะบนเทือกเขาบรรทัด กลายเป็นแหล่งชุมทางนักคิด-นักเขียน

ผลงานของนักศึกษาปัญญาชน ในเขตบ้านตระ ที่ได้รับการโจษขานทั่วภาคใต้คือ นสพ.ตะวันแดง ที่มีเนื้อหาข่าวสารการเมืองและศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้เป็นหลัก 

 กองบรรณาธิการ นสพ.ตะวันแดง เป็นผู้นำนักศึกษายุค 14 ตุลาหลายคน และที่มิตรสหายได้พูดถึงอยู่บ่อยๆคือ สหายประยูร หรือ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ปี 2519

 สหายประยูร หรือ อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านตระ 2 ปี ก็เดินทางขึ้นไปอยู่ที่ภูพยัคฆ์ เขตที่มั่นน่านเหนือ

ผู้เขียนหนังสือภูบรรทัด ได้สรุปไว้ว่า เทือกเขาบรรทัด ไม่ได้มีความหมายทางภูมิศาสตร์หรือนิเวศวิทยาเท่านั้น แต่ยังเป็นที่สร้างตำนานของบ้านเมืองมากมาย ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและการปกครอง

 “เขาบรรทัด เป็นที่ให้โอกาสแก่ผู้คนในการหักร้างถางพง ทำไร่ ทำสวน ทำนา จับสัตว์ป่ามาเลี้ยงและขาย ขณะเดียวกันกันก็ยังมีความหมายในแง่ของความมั่นคง และอิสรภาพให้แก่บรรดาผู้เป็นโจร และผู้ถูกทางการข่มเหงได้เล็ดลอดหลบซ่อนเจ้านาย และตั้งชุมโจรในอดีต รวมทั้งเป็นที่พึ่งแก่ผู้ที่ไม่สามารถจ่ายเงินรัชชูปการ ให้แก่รัฐส่วนกลางได้ในอดีตด้วย”

ทุกวันนี้ คนใต้รุ่นหลังในรอยต่อ 3 จังหวัด ตรัง พัทลุง และสตูล ยังไม่ลืมตำนานการต่อสู้ด้วยอาวุธของประชาชน ที่ธงปฏิวัติโบกสะบัดเหนือภูบรรทัด