'หนี ซ่อน สู้' กลยุทธ์เอาตัวรอดเหตุกราดยิง 'ผบ.ตร.'ย้ำให้ความรู้ประชาชน

'หนี ซ่อน สู้' กลยุทธ์เอาตัวรอดเหตุกราดยิง 'ผบ.ตร.'ย้ำให้ความรู้ประชาชน

ผบ.ตร.ให้ความสำคัญเหตุกราดยิง เน้นถ่ายทอดความรู้ให้ประชาชน ทราบถึงทฤษฎี Active shooter วิธีการปฏิบัติ Run Hide Fight การหนี ซ่อน สู้

10 พ.ย.66 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (9 พ.ย.66) พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ร่วมให้เกียรติบรรยายในหัวข้อ "ยุทธวิธีและการบริหารเหตุวิกฤต" ให้กับบุคคลาการ สมาชิกจิตแพทย์, แพทย์ประจำบ้าน ในการประชุมวิชาการประจำปีจิตเวชศาสตร์ไทย ครั้งที่ 51 ประจำปี 2566 (51st Thai Annual Congress of Psychiatry,51st TACP) จัดโดย ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย,สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในระหว่างวันที่ 9-10 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร 

โดย ผบ.ตร.ได้สั่งการให้ทุกหน่วยเร่งดำเนินการสร้างความรู้ และการรับมือกับเหตุการณ์วิกฤต เน้นให้ความรู้ภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง ในการเอาชีวิตรอดจากกรณีเหตุกราดยิง เนื่องในปัจจุบันมีการก่อเหตุอาชญากรรมในลักษณะดังกล่าวหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่จังหวัดนครราชสีมา หรือจังหวัดหนองบัวลำภู ทำให้เกิดการสูญเสียในชีวิต และมีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก 

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์  เปิดเผยว่า ตร.ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก จึงจำเป็นที่จะต้องถ่ายทอดความรู้ในภาคประชาชน ให้ทราบถึง ทฤษฎี Active shooter สร้างแนวความคิด ทักษะ การวางแผนในการบริหารเหตุการณ์มือปืนยิงกราด และวิธีการปฏิบัติ Run Hide Fight (การหนี ซ่อน สู้) สำหรับประชาชนเมื่อเผชิญเหตุ 
     
นอกจากนี้ ยังห่วงใยถึงการดูแลร่างกาย จิตใจ และการใช้ชีวิตให้มีความสุข มีนโยบาย Fit Fair Fun โดย

Fit : คือ ดูแลสุขภาพตำรวจที่ทำงานหนักแต่ไม่มีใครมาดูแลเรื่องสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่เกิดความเครียดจากการปฏิบัติงาน,

Fair : คือ เบี้ยเลี้ยง เงินสวัสดิการจะต้องยุติธรรมลงไปถึงคนที่ทำงานจริง,

Fun : คือ ทำงานอย่างมีความสุข เมื่อผู้บังคับบัญชาดูแลทั้งสุขภาพและสวัสดิการ มีความสุขในการทำงานสิ่งที่สัมฤทธิ์ผลที่สุด คือ การบริการพี่น้องประชาชน 
     
รวมถึงยังมีนโยบาย Police HOME เป็นแนวคิดผู้บังคับบัญชาทุกคนให้อยู่กันเป็นบ้านที่มีความรักความผูกพัน จะลดกำแพงระหว่างผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชาลงให้มีความรู้สึกว่า เราคือครอบครัวเป็นพี่เป็นน้อง ด้วยแนวคิดกับตำรวจที่ว่า “เราดูแลคุณ เพื่อให้คุณดูแลประชาชน” ผู้บังคับบัญชาจะลงไปดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ดีเพื่อส่งถ่ายความสุขและความรักสู่พี่น้องประชาชน
     
ผบ.ตร.เปิดเผยอีกว่า ภายหลังได้นำสิ่งเคยเป็นปัญหา อุปสรรค และความต้องการของคนที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา จากประสบการณ์ทำงานได้สัมผัสใกล้ชิดลูกน้อง นำขึ้นมาวางให้เป็นนโยบายขับเคลื่อนในการปฏิบัติ เพื่อข้าราชการตำรวจ และครอบครัวทุกหน่วย ได้มีความสุข และปฏิบัติงานเพื่อดูแลความปลอดภัยพี่น้องประชาชนต่อไป