สส.ก้าวไกล ลุยสอบส่วยสติกเกอร์ นัด 13 พ.ย.พบ ผบ.ตร.-จี้ สน.พระโขนงตอบให้ได้

สส.ก้าวไกล ลุยสอบส่วยสติกเกอร์ นัด 13 พ.ย.พบ ผบ.ตร.-จี้ สน.พระโขนงตอบให้ได้

2 สส.ก้าวไกล ออกโรงซัดปม 'ส่วยสติกเกอร์' พร้อมลุยสอบทันที หลังรถบรรทุกน้ำหนักเกินขับตกท่อ 'โตโต้ ปิยรัฐ' เผย 13 พ.ย. กมธ.ความมั่นคงฯ เตรียมพบ ผบ.ตร.หารือแนวทางจัดการ 'วิโรจน์' จี้ ผกก.สน.พระโขนงตอบให้ได้ ซัดตลกอ้างไว้จำรถง่าย ชี้มูลค่าส่วยต่อปีกว่า 2 หมื่นล้าน

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2566 ที่รัฐสภา 2 สส.ก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีอุบัติเหตุรถบรรทุกดิน ตกท่อสายไฟฟ้าบริเวณ ถ.สุขุมวิท โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะบรรทุกน้ำหนักเกิน รวมถึงตั้งข้อสงสัยกรณีการติดสติกเกอร์รูปดาวสีเขียว ตัวอักษร B บริเวณกระจกหน้า อาจเกี่ยวข้องกับกรณีส่วยสติกเกอร์รถบรรทุกที่พรรคก้าวไกลนำมาเปิดเผยก่อนหน้านี้หรือไม่

โดยนายปิยรัฐ จงเทพ หรือ "โตโต้" สส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ผู้กำกับ สน.พระโขนง ยืนยันยังไม่ปรากฏการรับสินบนหรือส่วย แต่มีการตั้งคำถามว่าสติ๊กเกอร์ดาว B สีเขียว หมายความว่าอย่างไร ทั้งนี้ ผู้กำกับ สน. ให้ข้อมูลว่า ตัว B เป็นตัวย่อชื่อเล่นของเจ้าของบริษัทผู้รับเหมารถบรรทุก ที่ชื่อว่าบิ๊ก และสีเขียวคาดว่าเป็นสีที่ชอบ เบื้องต้นพบว่ามีรถบรรทุกประมาณ 4-5 คันเท่านั้นในพื้นที่พระโขนง ที่มีสติกเกอร์ดังกล่าว แต่ไม่ทราบว่าในเขตพื้นที่อื่น มีจำนวนเท่าใด

"สำหรับเหตุการณ์เมื่อวาน ผมพยายามติดตามเข้าไปในไซต์งานก่อสร้าง เจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นกระบวนการทยอยดิน หรือถ่ายดินออกจากที่เกิดเหตุใส่รถบรรทุกที่สำรองไว้เพื่อชั่งน้ำหนักพร้อมกัน แต่ท้ายสุดเจ้าหน้าที่พยายามขับรถไปที่ไซต์งานก่อสร้าง ผมพยายามตะโกนเรียกแล้ว แต่ไม่มีใครฟัง โชคดีว่าวิศวกรในไซต์งานรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล จึงยังพอเก็บตัวอย่างดินกลับมาได้ แต่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีการชั่งน้ำหนักดินดังกล่าว" นายปิยรัฐ กล่าว 

นายปิยรัฐ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ต้องมีการตรวจสอบจากทุกหน่วยงาน ว่ามีการใช้ดินจากตัวอย่างหรือไม่ เพราะมีลักษณะเป็นดินเลนที่อุ้มน้ำ ทำให้มีน้ำหนักมากกว่าดินปกติทั่วไป สามารถนำไปคำนวณตามหลักวิศวกรรม และวัดน้ำหนักรถปกติแล้วเป็นเท่าใด ซึ่งตามที่ปรากฏข้อมูล ก็พบว่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแน่นอน

สส.ก้าวไกล ลุยสอบส่วยสติกเกอร์ นัด 13 พ.ย.พบ ผบ.ตร.-จี้ สน.พระโขนงตอบให้ได้

ส่วนสาเหตุที่รถบรรทุกเข้ามาในเมืองได้โดยไม่ผ่านการตรวจสอบนั้น นายปิยรัฐ กล่าวว่า ไม่อยากปรักปรำเจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่มีหลักฐาน แต่เมื่อจุดเกิดเหตุ อยู่ห่างจากไซต์ก่อสร้างไม่มาก ไม่เกิน 300 เมตร จึงมีการว่าจ้างบริษัทรถบรรทุกมารับผิดชอบ แต่รถบรรทุกในเมือง จำเป็นต้องมีใบอนุญาตและห้ามวิ่งในเวลาห้ามวิ่ง รวมถึงน้ำหนักต้องไม่เกิน 15 ตัน อย่างไรก็ตาม กทม. อ้างว่าไม่มีตาชั่งสำหรับชั่งน้ำหนักรถบรรทุก จึงเป็นปัญหาและช่องโหว่ให้เกิดการลักลอบขนส่งน้ำหนักเกิน

นายปิยรัฐ กล่าวด้วยว่า รถบรรทุกมักจะบรรทุกน้ำหนักเกินเป็นเท่าตัว เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า ถ้ารถบรรทุกรับน้ำหนักได้ 25 ตัน ก็ต้องบรรทุก 30 - 40 ตันขึ้นไปอยู่แล้ว ซึ่งถนนไม่สามารถรองรับได้ ก่อให้เกิดผู้บาดเจ็บซ้ำซ้อน ตราบใดที่มีช่องโหว่ ผู้รับเหมาที่ยังเห็นแก่ตัว ปัญหาตกอยู่ที่เจ้าหน้าที่รัฐ ว่าจะมีมาตรการอย่างไรต่อไป เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นซ้ำในพื้นที่ กทม. อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงรถบรรทุก แต่รวมถึงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

"ผมย้ำว่า ต้องตรวจสอบทั้งรถบรรทุกน้ำหนักเกิน และแผ่นรองพื้นถนนที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะยังมีพื้นที่ในกรุงเทพ ลักษณะนี้อีกหลายแห่ง ต้องคอยจับตาดูและตรวจสอบว่า จะเกิดเหตุแบบนี้ซ้ำขึ้นอีกหรือไม่" นายปิยรัฐ กล่าว

ส่วนกรณีนี้จะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วยหรือไม่นั้น นายปิยรัฐ กล่าวว่า นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ สมาพันธ์รถบรรทุก ต่างยืนยันว่ามีมูล ดังนั้น ตนในฐานะผู้แทนเขตต้องตรวจสอบ แต่ส่วนตัวไม่มีข้อมูลเชิงลึก จึงต้องรอนายวิโรจน์ตอบเรื่องนี้ แต่ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง ก็ยังไม่ตอบเรื่องนี้อย่างชัดเจนนัก

สส.ก้าวไกล ลุยสอบส่วยสติกเกอร์ นัด 13 พ.ย.พบ ผบ.ตร.-จี้ สน.พระโขนงตอบให้ได้

ขณะเดียวกัน กรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร จะเดินทางเข้าไปพบผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในวันที่ 13 พ.ย. โดยถือโอกาสนี้สอบถามกรณีดังกล่าวโดยตรงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. รวมถึงคณะอนุกรรมการที่ศึกษาเรื่องส่วยทางหลวง จะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเพื่อหาคำตอบต่อไป และย้ำว่า ปัญหาเรื่องส่วยรถบรรทุก ทำให้เกิดเหตุอุกอาจระดับประเทศ ที่สังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจมาแล้วถึง 2 คนในอดีต

 

"วิโรจน์" จี้ ผกก.สน.พระโขนงตอบปม "ส่วยสติ๊กเกอร์" ให้ได้

วันเดียวกันที่รัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กรณีนี้ว่า จากข้อมูลของสมาพันธ์การขนส่งทางบก มีข้อสงสัยว่าอาจจะเป็นสติกเกอร์ส่วย อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.โอภาส หาญณรงค์ ผู้กำกับ สน.พระโขนง จะต้องตอบคำถามในประเด็นนี้ ตนเข้าใจว่าผู้กำกับการตำรวจนครบาลก็ได้ลงมากำกับด้วยตนเองแล้ว เพราะเป็นประเด็นที่ไม่ใช่แค่บรรทุกน้ำหนักเกินแล้ว นอกจากนี้ วิศวกรที่ดูแลบ่อที่จะนำสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวง คงไม่ได้ออกแบบแผ่นปูนปิดหน้างาน รองรับรถบรรทุกที่มีการสั่นสะเทือนด้วย ดังนั้นจึงกระทบผู้ใช้ยวดยานบนท้องถนนเป็นจำนวนมาก และหากเราติดตามข่าวจะพบว่าพื้นที่กรุงเทพฯ เริ่มมีข่าวทรุดตัวเป็นจำนวนมาก

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับส่วยนั้น มีการชี้แจงว่าเป็นสัญลักษณ์ของบริษัทรับเหมา ซึ่งตนว่าฟังไม่ขึ้นเรื่องเมื่อสักครู่ตนได้ฟังคำสัมภาษณ์และสอบถามของผู้กำกับ สน.พระโขนง ระบุว่า สติกเกอร์ติดเพื่อให้คนขับแยกรถได้ออก ว่าจอดตรงไหน ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าปกติคนขับรถสามารถจำรถตัวเองได้อยู่แล้ว หากจะออกแบบก็ควรออกเป็นสติกเกอร์คาดกันแดดได้ดีกว่า แต่ออกเป็นรูปดาว B กลางกระจก รบกวนทัศนวิสัยการขับขี่ด้วยซ้ำ ตนเชื่อว่าเจตนาเอาไว้ให้ใครสักคนที่เตี๊ยมเอาไว้มองเห็นได้ง่าย จึงตั้งคำถามกับผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 5 และ สน.พระโขนง ว่าคนที่เตี๊ยมกันเป็นข้าราชการตำรวจหรือไม่ ระดับไหน มีการจ่ายส่วยหรือไม่

"ถ้าติดเพื่อให้จำรถตัวเองได้ง่าย ผมว่ามันตลกมาก ประชาชนก็รับไม่ได้ รู้อยู่แก่ใจ รู้อยู่เต็มอก ขึ้นอยู่กับว่าจะสอบหรือไม่แค่นั้น" นายวิโรจน์ กล่าว

ส่วนการที่ตำรวจออกมาชี้แจงแทน สามารถตั้งข้อสงสัยได้หรือไม่ว่าตำรวจอุ้ม นายวิโรจน์ กล่าวว่า แม้เจ้าของจะอ้างว่า B ย่อมาจากชื่อ เสี่ยบิ๊ก แต่ตนคิดว่าตำรวจก็ต้องตั้งคำถามว่าเสี่ยบิ้ก คือใคร มีการจ่ายผลประโยชน์หรือไม่ แต่ส่วนตัวเห็นว่ามีการตัดตอนคำตอบเร็วเกินไป จึงมองเป็นอย่างอื่นได้ลำบาก ขณะเดียวกัน เข้าใจว่ามีการบ่ายเบี่ยงของคนขับรถที่ไม่ยอมชั่งน้ำหนักของตัวรถและดินที่ขน จึงตั้งคำถามว่าหากเป็นตำรวจระดับผู้กำกับและผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 หากไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริง และรักษาพยานวัตถุสำคัญที่จะพิสูจน์ ว่าบรรทุกน้ำหนักเกินหรือไม่ เชื่อว่าทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็ต้องพิจารณาว่าต้องหาบุคคลเหมาะสมมาทำงานแทนหรือไม่

"ขนาดยังไม่ไปจับใคร แค่ปกป้องพยานวัตถุสำคัญ หลายคนก็ตั้งคำถามว่าปล่อยให้เขาขนดิน แล้วไปเทในไซต์งานได้อย่างไร มันคือของกลาง ควรเก็บพิทักษ์รักษา แต่ไม่ใช่ให้เขาไปขนและทิ้งในไซต์งาน" นายวิโรจน์ กล่าว

สส.ก้าวไกล ลุยสอบส่วยสติกเกอร์ นัด 13 พ.ย.พบ ผบ.ตร.-จี้ สน.พระโขนงตอบให้ได้

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังระบุข้อมูลว่ามีรถขนดินอีก 2 คันพยามขนดินเข้าไปในซอยสุขุมวิท 64/2  พอมีประชาชนร้องไปเสียงเซ็งแซ่ ถึงเข้าไปดู รถขนดินทั้ง 2 คันที่ขนดินก็มีสติกเกอร์ดาว B สีเขียวทั้ง 2 คัน จึงฟังไม่ขึ้นว่าสติกเกอร์มีไว้สำหรับจัดลำดับรถบรรทุก เพราะหากจะดลำดับต้องมีเลข เช่น B01 B02 B03 แต่ว่ามีสติกเกอร์ตัว B ที่พยามส่งสัญลักษณ์ถึงใคร ตนย้ำว่าตำรวจจะทิ้งประเด็นนี้ไม่ได้ อย่างน้อยต้องสอบตำรวจหน้างานปล่อยคนมายุ่งเกี่ยวหลักฐานได้อย่างไง ย้ำว่า เรื่องส่วยเป็นเรื่องใหญ่และน่าเศร้ามาก เพราะมีตำรวจเสียชีวิตแล้ว 2 คน หากตำรวจมีเรื่องส่วน ถือว่าไม่รักศักดิ์ศรีตำรวจ

"ปีหนึ่งส่วยมีมูลค่า 2 หมื่นล้าน แสดงว่าตำรวจไม่ได้เรียนรู้บทเรียนเลย ถ้ายังมีเรื่องส่วยอยู่ ก็แสดงว่าไม่ได้รักศักดิ์ศรีของตำรวจจริง ๆ เลย ดังนั้นเรื่องนี้จะต้องสอบให้สิ้นข้อสงสัย" นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า ล่าสุดมีข้อมูลว่าเจ้าของรถ ยังไม่ยอมให้ชั่งน้ำหนักดิน แต่ส่วนตัวเชื่อว่าสามารถคาดคะเนได้ในเบื้องต้นว่าน้ำหนักอาจจะเกิน  คำนวณคร่าวๆ ได้ว่ารถที่ขนดินมาอยู่เราราว 30-40 ตัน ยังไม่รวมตัวรถที่มีน้ำหนักประมาณ 9-11 ตัน เชื่อว่ามีโอกาสสูงมากที่น้ำหนักจะเกิน และตัวรถอาจมีการดัดแปลงเพื่อบรรทุกน้ำหนักเกินอีก จากที่กฎหมายกำหนดไว้ 25 ตัน โดยขณะนี้ตำรวจ สน.พระโขนง เปิดเผยว่า ยังไม่ได้มีการจับกุมเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกินแต่อย่างใด แต่ประชาชนก็เห็นรถบรรทุกคลุมผ้าใบเข้ามาในพื้นที่ โดยเข้าใจว่ามีการเร่งรัดการก่อสร้างหลังสถานการณ์โควิด-19 ผู้ว่าฯ กทม. จะต้องกำชับว่ากันปล่อยรถบรรทุกที่เกินน้ำหนักเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพมหานครจนมีหลุม ที่มีสายไฟฟ้าลงกิน 700 กว่าแห่ง พร้อมจะทรุดตัวได้ตลอด หากเกิดตกลงไปก็เสียชีวิตแน่นอน และเป็นเรื่องที่เสียใจที่เจ้าของรถแท็กซี่ที่ขับตามมารถชน แผ่นคอนกรีตได้รับความเสียหาย เพลาหน้าขาด แล้วใครจะรับผิดชอบ จึงเรียกร้องให้การไฟฟ้านครหลวงมารับผิดชอบก่อน และไปตามไล่บี้กับบริษัทรถบรรทุก หากพบว่าน้ำหนักเกิน

ส่วนการคาดการณ์ว่าจะมีการจ่ายส่วยในหน่อยงานใดบ้างนั้น นายวิโรจน์ กล่าวว่า มีหลายหน่วยงานเยอะไปหมด เช่น เจ้าหน้าที่ด่านชั่งบางคนบางราย ตำรวจทางหลวงบางคนบางนาย หรือเจ้าหน้าที่ของ กทม. บางคนบางนายด้วย ตำรวจท้องที่ ตำรวจจราจรกลาง ตนไม่ได้เหมารวมทั้งองค์กร แต่จะต้องมีการสอบสวนหรือสังคายนากันยกใหญ่เพราะมีหลายหน่วยที่เกี่ยวข้อง พร้อมเสนอแนะว่าควรตั้งด่านชั่งบนถนนทางหลวงก่อนที่จะเข้ามายังกรุงเทพมหานคร และหวังว่าจะมีการดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมา  

"เวลากวดขันก็ดำเนินคดีกับคนที่สุจริตแต่ฟังพลาดในการดำเนินตามกฏหมาย แต่รายใหญ่ที่ขนเกิน 20 ตัน 30 ตันปล่อยฉลุย ซึ่งโดยสามารถของตำรวจหากเห็นสภาพรถ สภาพหิน สภาพทรายก็จะรับรู้ อยู่แก่ใจว่ารถต้องสงสัยเป็นคันไหน แต่ไปจับรถที่ผิดผิดเผลอดำเนินคดีก็จะเกิดการลักลั่นและยังเกิดปัญหาการเรียกตบทรัพย์อีก" นายวิโรจน์ กล่าว 

นายวิโรจน์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นภัยต่อสาธารณะมองว่าเรื่องนี้ควรเป็นวาระสำคัญ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกิน แต่เป็นความจำเป็นที่ต้องปฏิรูปตำรวจด้วย โดยขอส่งสารไปถึงนายกรัฐมนตรี ว่าการจะรักษาโรคอะไรได้ จุดเริ่มต้นจะต้องยอมรับว่าป่วยเป็นโรคนั้นจริงๆ และไปหาหมอให้ถูกโรค ซึ่งวันนี้ไม่ใช่เพียงปัญหาบรรทุกน้ำหนักเกินแต่ยังเป็นปัญหาในแวดวงตำรวจ และการตั้งข้อสงสัยขาดความไว้ใจจากประชาชน ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยสาธารณะ และเรียกร้องไปยังการไฟฟ้านครหลวงที่ก็ต้องตรวจสอบโครงสร้างท่อ 700 จุด มีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน