สมศักดิ์ เล็งต่อยอด โมเดล 'ธนาคารน้ำใต้ดิน' อบต.เก่าขาม แก้ท่วม-แล้ง ได้100%

สมศักดิ์ เล็งต่อยอด โมเดล 'ธนาคารน้ำใต้ดิน' อบต.เก่าขาม แก้ท่วม-แล้ง ได้100%

“สมศักดิ์” ปลื้ม อบต.เก่าขาม ต้นแบบ "ธนาคารน้ำใต้ดิน" แก้น้ำท่วม-แล้ง 100% ใช้ งบประมาณ จุดละ 7.7 แสน ภาคเกษตรมีน้ำใช้ 500 ไร่ พร้อมต่อยอดพัฒนาพื้นที่อื่น

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังร่วมพิธีมอบรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประจำปี 2566 ว่า ตนได้เดินเยี่ยมชมบูธของหน่วยงานท้องถิ่นที่ได้รับรางวัล ซึ่งถือว่า มีประโยชน์เป็นอย่างมาก เพราะสามารถนำมาต่อยอดพัฒนาในพื้นที่อื่นได้ รวมถึงสามารถยกระดับโครงการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นโดยตนมีความสนใจหน่วยงานท้องถิ่น ที่แก้ปัญหาเรื่องน้ำเป็นพิเศษ เพราะตนกำกับดูแลสทนช. ซึ่งสามารถนำผลสำเร็จมาต่อยอดได้ในหลายเรื่อง 

“ผมได้เยี่ยมชมบูธ องค์การบริหารส่วนตำบลเก่าขาม อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำด้วยระบบธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยนายชาตรีศรีวิชาฐา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเก่าขาม ได้บรรยายให้ผมฟังถึงวิธีการแก้ปัญหาน้ำในพื้นที่ว่า จากเดิมตำบลเก่าขาม เป็นพื้นที่แห้งแล้ง และอยู่นอกเขตการบริหารจัดการน้ำด้วยระบบชลประทาน แต่เมื่อมีการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ก็สามารถทำให้พื้นที่กลับมามีความชุ่มชื้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น เพราะการเติมน้ำลงเก็บไว้ใต้ดิน ก็เปรียบเสมือนการฝากเงินไว้กับธนาคาร หากมีฝนตกน้ำท่วมระบบนี้ก็จะเติมน้ำลงใต้ดิน และหากถึงฤดูแล้ง ก็สามารถดูดน้ำขึ้นมาใช้ได้ ทาง อบต.เก่าขาม จึงตั้งชื่อโครงการว่า ธนาคารน้ำใต้ดินแบบพอเพียง” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ของ อบต.เก่าขาม ได้เริ่มทำตั้งแต่ปี 2558 เพราะในพื้นที่มีปัญหาแห้งแล้ง และน้ำท่วม เนื่องจากเป็นพื้นที่แอ่งกระทะ จึงมีการดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน โดยปัจจุบันมีธนาคารน้ำใต้ดินแบบเปิด จำนวน 10 แห่ง และระบบปิดสำหรับภาคการเกษตร จำนวน 80 แห่ง ทำให้สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในพื้นที่ได้100% ซึ่งเมื่อแก้ปัญหาได้แล้ว ก็มีการต่อยอด ด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ดูดน้ำขึ้นมาใส่ถัง 1 หมื่นลิตร เพื่อให้ประชาชน มีน้ำใช้อุปโภค บริโภค แทนประปาหมู่บ้าน โดยปัจจุบันมีถังเก็บน้ำแล้วรวม 40 ถัง รวมถึงมีแอปพลิเคชั่น ในการดูระดับน้ำทั้งใต้ดิน และบนดิน เพื่อจะได้สามารถบริหารจัดการได้อย่างแม่นยำ ซึ่งถือว่า เป็นโครงการที่มีประโยชน์ และใช้งบประมาณไม่สูง โดยการทำธนาคารน้ำใต้ดิน 1 จุด จะใช้งบประมาณ 470,000 บาท แต่ถ้าเพิ่มระบบดูดน้ำขึ้นมาใส่ถังดัวย จะเพิ่มเป็น 770,000 บาท แต่สามารถใช้น้ำในภาคการเกษตรได้ถึง 500 ไร่ ตนจึงมองว่า ควรนำไปพัฒนาต่อยอดในพื้นที่อื่นด้วย เพราะนี่เป็นตัวอย่างที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม