'นายกฯ' เชิญ 'วงษ์สยาม-อีสต์วอเตอร์'จับมือไม่ขัดแย้งใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม 

'นายกฯ' เชิญ 'วงษ์สยาม-อีสต์วอเตอร์'จับมือไม่ขัดแย้งใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม 

“นายกฯ ตรวจอ่างหนองปลาไหล ย้ำ รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องน้ำ เชิญ “วงษ์สยาม-อีสต์วอเตอร์”จับมือโชว์ ไม่ขัดแย้งใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม 

วันที่ 4 พ.ย.2566 ที่อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ.ปลวกแดง จ.ระยอง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พร้อมคณะ เดินทางติดตามระบบการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำให้รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีนายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผวจ.ระยอง ต้อนรับ

รวมทั้งรับฟังบรรยายสรุปจากเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ถึงแผนพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่อีอีซี ระหว่างปี 2563-2580 จำนวน 38 โครงการ วงเงินกว่า 5.3 หมื่นล้านบาท ทำแล้ว 19 โครงการ ระหว่างดำเนินการ 7 โครงการ ส่วนโครงการที่เหลือจะเร่งดำเนินการ 

นายเศรษฐา กล่าวตอนหนึ่งว่า  ปัญหาเรื่องน้ำ มีอยู่แล้วในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ต่างจังหวัด บางจังหวัดน้ำท่วม​ บางจังหวัดขาดแคลนน้ำ​ ในภาคอุตสาหกรรม​ ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเรื่องน้ำ มีเหตุผลในการใช้อยู่ 4 อย่าง​ อุปโภค​ บริโภค รักษาระบบนิเวศ​ เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม 

"รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องน้ำที่เชื่อมต่อจากท่อส่งจ่ายทั้งหลาย เชื่อว่าศึกษามาดีแล้ว รัฐบาลที่เข้ามาบริหารจัดการในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาเรื่องที่เราให้ความสำคัญเรื่องหนึ่งคือการเชิญนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน"

ทั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะประเด็นน้ำ แต่รวมถึงพลังงานสะอาด และอีกหลายปัจจัย ที่จะเชิญนักลงทุน เรายอมรับไม่ได้ที่จะปล่อยให้มีเรื่องไม่ดีที่เกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำเกิดขึ้น เพราะเรื่องน้ำของประชาชนต้องใช้ ภาคอุตสาหกรรม ต้องใช้อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตรและอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศความต้องการน้ำในเขตนี้จะมีสูงกว่าในเขตพื้นที่อื่น ปัญหาความขัดแย้งของประชาชนที่เกิดขึ้นในการแย่งน้ำในการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมถือเป็นเรื่องสำคัญ ตรงนี้รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก  ถ้าตรงไหนมีปัญหาเกิดขึ้นขอให้แจ้งมาได้เลย

นายเศรษฐา กล่าวว่า ได้รับฟังข้อสรุปในหลายอย่าง เชื่อว่าทุกคนได้ทำการศึกษามาอย่างดีแล้วอย่างไรก็ตามการที่รัฐบาลนี้ได้เข้ามาดำเนินการเรื่องที่ความสำคัญมากที่สุด คือการเชิญนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศ ซึ่งจะเป็นการลงทุนที่สูง

ดังนั้นไม่ใช่แค่เรื่องน้ำอย่างเดียว มีเรื่องพลังงานสะอาดและมีอีกหลายเรื่องที่จะเป็นสิ่งสำคัญในการใช้นักลงทุนเข้ามา เรายอมไม่ได้ที่จะมีเรื่องการขาดแคลนน้ำ 

ดังนั้นฝ่ายปกครอง สทนช.กรมชลประทาน กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ต้องเร่งขับเคลื่อน การมีแผนงานเป็นเรื่องดีและไม่อยากให้ล่าช้า

"ถ้ามีปัญาตรงไหนรัฐบาลพร้อมบริหารจัดการ และอยากสื่อสารให้ดี และความขัดแย้งระหว่างภาคอุตสาหกรรม กับภาคเกษตรกรรม มีปัญหาให้แจ้งได้เลย  ถ้าไม่ทำตรงนี้จะไม่สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน จะไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้"

ทั้งนี้ รัฐบาล เอกชน รัฐวิสาหกิจ ต้องให้ความสำคัญและอีก 60 วัน จะกลับมาดูเรื่องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ยืนยันรัฐบาลนี้จะทำงานอย่างรวดเร็ว สนองตอบความต้องการของประชาชน จะทำงานอย่างรวดเร็วฉับพลัน และตอบโจทย์กับพี่น้องประชาชนนักลงทุนต่างชาติมากที่สุด

จากนั้น นายเศรษฐา รับฟังบรรยายสรุประบบท่อส่งน้ำในภาคตะวันออก ของพื้นที่ จ.ชลบุรี จ.ระยอง และ จ.จันทบุรี รวมทั้งเยี่ยมชมสถานีสูบน้ำหนองปลาไหล มีนายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน รายงาน สถานการณ์น้ำในพื้นที่

ก่อนที่ นายกรัฐมนตรี ผู้บริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก 2 ราย มาจับมือเพื่อยืนยันความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน เพื่อให้สื่อได้บันทึกภาพ ประกอบด้วย 

  • นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์
  • นายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาที่มีในอดีตก็มีการตกลงกันเรียบร้อยทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม มั่นใจได้ว่าปัญหาจะไม่เกิดขึ้น แหล่งน้ำเป็นเรื่องสำคัญ ในอดีตรัฐบาลมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำที่จะเพียงพอต่อภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เราเดินทางไปเจราจากับต่างประเทศในเรื่องไฟฟ้าและความเพียงพอในการมีน้ำใช้ของภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามีปัญหาในการปั๊มน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ และเรื่องของการจัดส่งน้ำที่ภาคเอกชนอาจจะมีความเข้าใจผิดกันเกิดขึ้น แต่ได้แก้ไขปัญหาให้เรียบร้อยแล้ว

รวมทั้งวันนี้จึงเป็นศักดิ์ขีพยานว่า ได้ข้อยุติในความร่วมมือทั้งสองฝ่ายและจบลงแล้วโดยทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะทำงานร่วมมือกันที่จะก้าวข้ามปัญหาในการขัดแย้งเรื่องน้ำ นี่เป็นภาพประวัติศาสตร์ระหว่างรัฐบาลและภาคเอกชน เพื่อให้ความมั่นใจกับนักลงทุน และปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นอีกอนาคต 

“ขอขอบคุณทุกท่านที่เห็นประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นหลัก เรื่องเล็กๆ น้อยๆให้ลืมไปทุกคนมาร่วมกันช่วยพัฒนาประเทศไปข้างหน้า ผมขอขอบคุณในนามรัฐบาลไทยไว้ด้วย” นายกฯ กล่าว