กมธ.พัฒนาการเมือง ถกอนุฯประชามติ 2 พ.ย. ชงเสนอระบบเลือกตั้ง สสร.

กมธ.พัฒนาการเมือง ถกอนุฯประชามติ 2 พ.ย. ชงเสนอระบบเลือกตั้ง สสร.

กมธ.พัฒนาการเมืองฯ คุยอนุฯรับฟังความเห็นประชามติรัฐธรรมนูญ 2 พ.ย. นี้ พร้อมตั้งอนุฯจัดทำข้อเสนอระบบเลือกตั้ง สสร. เสนอรัฐบาลภายในสิ้นปี ดึงนักวิชาการ–ภาคประชาชนร่วม  

เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2566 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดเผยว่า สัปดาห์นี้ กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ สภาผู้แทนราษฎร มี 2 ภารกิจเกี่ยวข้องกับวาระการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ภารกิจแรก คือการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ ของคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ ที่ถูกตั้งโดยรัฐบาล หลังจากที่อนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ ติดต่อมาที่ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ เพื่อขอนัดหารือ ทางเราได้มีมติในการเชิญอนุกรรมการฯ มาประชุมร่วมกันในวันพฤหัสที่ 2 พฤศจิกายน เวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา

"โดยวาระหลักที่อนุกรรมการฯ จะมาหารือคือการออกแบบคำถามในแบบสอบถาม (questionnaire) ที่จะส่งต่อให้สมาชิกรัฐสภา ทั้ง สส. และ สว. เพื่อรับฟังความเห็นในประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการจัดประชามติ ทั้งนี้ ทาง กมธ. จะมีการถ่ายทอดสดการประชุม เหมือนกับการประชุม กมธ. ประจำสัปดาห์ในทุกๆ ครั้ง เพื่อให้ประชาชนที่สนใจสามารถรับฟังไปพร้อมๆ กันได้" นายพริษฐ์ กล่าว

ภารกิจที่สอง คืออนุกรรมาธิการจัดทำข้อเสนอเรื่องระบบเลือกตั้งและแนวทางการทำงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง เนื่องจากประเด็นหนึ่งที่เป็นที่ถกเถียงกันพอควรในการประชุมสภาฯ เกี่ยวกับการจัดประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญเมื่อวันพุธ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา คือประเด็นที่ว่า สสร. ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า แม้ สส. จากซีกรัฐบาลบางคนได้อภิปรายด้วยความกังวลว่า สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด อาจขาดพื้นที่สำหรับผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย หรือขาดความหลากหลายในเชิงกลุ่มวิชาชีพหรือกลุ่มสังคม แต่ตนได้ยืนยันกลับไปในการอภิปรายสรุปญัตติ ว่าการมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยการสูญเสียความเชี่ยวชาญหรือความหลากหลายดังกล่าว หากเราออกแบบ “ระบบเลือกตั้ง” และ “รูปแบบการทำงาน” ของ สสร. ให้ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ที่เราต้องการ

"เพื่อให้ สส. รัฐบาล และ ครม. เห็นภาพชัดขึ้น ตนและ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ จึงมีมติในการตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อจัดทำข้อเสนอและทางเลือกต่างๆ ว่าหาก สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เราสามารถออกแบบระบบเลือกตั้ง และรูปแบบการทำงานต่างๆ ของ สสร. อย่างไรได้บ้าง เพื่อคลายข้อกังวลที่ยังคงมีควบคู่กับการคงความชอบธรรมทางประชาธิปไตยของ สสร. ที่ยังมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด" นายพริษฐ์ กล่าว

นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า อนุกรรมาธิการดังกล่าว ตั้งเป้าหมายในการใช้เวลาทำงาน 6 สัปดาห์ข้างหน้านี้ในช่วงปิดสมัยประชุมสภาฯ โดยจะจัดทำรายงานและยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลภายในสิ้นปีเพื่อให้รัฐบาลรับไปพิจารณาก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจเรื่องรูปแบบ สสร. โดยส่วนตัว ตนหวังว่าเมื่อรัฐบาลเห็นทางเลือกต่างๆที่เป็นไปได้แล้ว รัฐบาลจะพร้อมยืนยันหลักการว่า สสร. ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

โดยคณะอนุกรรมาธิการ 10 คน ที่จะมีการประชุมนัดแรกในวันศุกร์ที่ 3 พ.ย. 2566 เวลา 13.00 น. ประกอบไปด้วยตัวแทนฝ่ายการเมือง ภาควิชาการ และภาคประชาชน ดังต่อไปนี้

  1. พริษฐ์ วัชรสินธุ [ตัวแทน กมธ. ฝ่ายค้าน]
  2. ปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ [ตัวแทน กมธ. ฝ่ายค้าน]
  3. (ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย) [ตัวแทน กมธ. ฝ่ายรัฐบาล]
  4. ณัฐนันท์ กัลยาศิริ [ตัวแทน กมธ. ฝ่ายรัฐบาล]
  5. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี [ภาควิชาการ]
  6. เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง [ภาควิชาการ]
  7. ปกป้อง จันวิทย์ [ภาควิชาการ]
  8. เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช [ภาคประชาชน - ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย (ภรป.)]
  9. ณัชปกร นามเมือง [ภาคประชาชน - เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL)]
  10. นันทวัฒน์ ศักดิ์สกุลคุณากร [ภาคประชาชน - คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.)]