สองนครา ‘อุ๊งอิ๊ง-เศรษฐา’ วินวิน ‘นายกฯคนละครึ่ง’

สองนครา ‘อุ๊งอิ๊ง-เศรษฐา’   วินวิน ‘นายกฯคนละครึ่ง’

เมื่อถึงไทม์มิ่งที่กำหนดเอาไว้ การส่งมอบเก้าอี้นายกฯจาก “เศรษฐา” สู่ “แพทองธาร” ย่อมไม่มีสถานการณ์ต่อต้าน โดย “เศรษฐา” จำใจต้องยอมรับ และพร้อมเดินจากไปเอง

แม้ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ รมว.คลัง จะออกมาประกาศ “ประเทศไทยมีนายกฯคนเดียว” แต่คนการเมืองรับรู้สัญญาณจาก “นายใหญ่-นายหญิง” เตรียมส่งทายาทการเมือง ลูกสาวคนเล็ก “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นั่งเก้าอี้นายกฯ รอเพียงจังหวะเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น

การปรากฏตัวของ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ในงาน “แสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 9 เฉลิมพระเกียรติ” เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2566 ยิ่งเพิ่มพาวเวอร์ทางการเมืองให้ “แพทองธาร” เป็นเสมือนศูนย์กลางอำนาจ หน้าฉากของตระกูล “ชินวัตร”

โดยมีบรรดารัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลหลายคน เข้าร่วมงานดังกล่าวอย่างพร้อมเพียง แถมยังมีฉาก อนุทิน ชาญวีร กูล รองนายกฯ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ขอฝากเนื้อฝากตัว แม้ “แพทองธาร” จะแบ่งรับแบ่งสู้ แต่กลับทำให้ภาพของ “ว่าที่นายกฯหญิง” ปรากฏแจ่มชัด

สวนทางกับ “เศรษฐา” ที่ลุยตรวจงานพื้นที่ภาคอีสาน พร้อมเปิดงานบุญบั้งไฟพญานาค จ.หนองคาย โดยมี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ รมว.พาณิชย์ สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ปรากฏตัวอยู่ข้างกาย

เมื่อ “แพทองธาร-เศรษฐา” ออกงานวันเดียวกัน มี “รัฐมนตรี” เป็นแบ็คอัพ ในจำนวนที่แตกต่างกัน ย่อมถูกนำมาเปรียบเทียบ และถูกจับสัญญาณว่า “เศรษฐา” บนเก้าอี้นายกฯ อาจจะถึงวันนับถอยหลัง แม้จะรับตำแหน่งได้เพียง 3 เดือน

อย่างไรก็ตาม “เศรษฐา” รู้ดีว่า มีระยะเวลาในการทำงานที่จำกัด ถูกส่งมาขัดตาทัพ เพื่อเช็คท่าทีของ “อนุรักษนิยม” จะมาไม้ไหน หาก “หัวขบวนอนุรักษนิยม” ยังไม่ไว้วางใจ “ตระกูลชินวัตร” ย่อมเป็นเรื่องยากที่ “ทักษิณ-พจมาน” จะส่ง “แพทองธาร” ลงมาเสี่ยง

แต่เวลานี้ สัญญาณจาก “หัวขบวนอนุรักษนิยม” มีสัญญาณเชิงบวก ต้อนรับขับสู้ “ตระกูลชินวัตร” เป็นอย่างดี ข้อข้องใจที่เกรงว่าจะโดนหลอก ถูกลบเลือนไปแล้ว

ขณะเดียวกันภารกิจของ “เศรษฐา” คือการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทให้สำเร็จ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสามารถทำให้แล้วเสร็จได้ในช่วงกลางปี 2567 ซึ่งหากมีข้อผิดพลาดจนถูกตรวจสอบ “เศรษฐา” จะเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่ “แพทองธาร”

นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขของ 250 สว. ซึ่งจะสิ้นสุดวาระในช่วงเดือน พ.ค.2567 ยี่ห้อ “แพทองธาร” หากถูกเสนอชื่อโหวตนายกฯ คงไม่ต้องขอยืมเสียง 250 สว. ให้เสียชื่อ แค่รอจนกว่า สว.จะหมดวาระ และอาศัยเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล 314 เสียงโหวตให้ ย่อมสง่างามกว่า

ดังนั้น ไทม์ไลน์ “แพทองธาร” หากจะเข้ามานั่งเก้าอี้นายกฯ อาจจะอยู่ในช่วงกลางปี 2567 ไปแล้ว

ที่สำคัญตัวของ “เศรษฐา” ไม่อยู่ในสถานะที่จะต่อรอง หรือคิดจะสู้กับ “ตระกูลชินวัตร” ได้ สถานการณ์จึงแตกต่างจากยุคของ “สมัคร สุนทรเวช” อดีตนายกฯ เมื่อมีอำนาจก็อยากรักษาอำนาจเอาไว้ โดยกำเนิด “แก๊งออฟโฟร์” ประกอบด้วย สมัคร สุนทรเวช เนวิน ชิดชอบธีรพล นพรัมภา และ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

ในช่วงท้ายของ “รัฐบาลสมัคร” ก่อนถูกศาลรัฐธรรมนูญชี้มูลความผิดคดีจัดรายการชิมไปบ่นไป มีการรวบรวมกลุ่ม สส.เพื่อสร้างแรงต่อรองภายในพรรคพลังประชาชน เพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้มูลความผิดแล้ว แต่ สส.สามารถโหวตให้ “สมัคร” กลับมารับตำแหน่งนายกฯ เหมือนเดิมได้

ทว่า “ทักษิณ” ต้องการเปลี่ยนตัวนายกฯ โดยให้ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” เข้ามารับตำแหน่งแทน ทำให้ “สมัคร”โดนหักหลัง สส.กลุ่มเพื่อนเนวินโดนแบล็กลิสต์ ทำให้บรรยากาศภายในพรรคเกิดความแตกแยก ก่อนที่ “สมชาย”จะอยู่ได้ไม่นาน เนื่องจากโดนกดดันจากกลุ่มพันธมิตร กระทั่งพรรคพลังประชาชนจะโดนสั่งยุบพรรค

สถานการณ์ของ “สองนายกฯ” นอกตระกูลชินวัตรอย่าง “สมัคร” กับ “เศรษฐา” จึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง 

“สมัคร” มีกองกำลังให้สู้ ส่วน “เศรษฐา” หัวเดียวกระเทียมลีบ ไม่มีกองกำลัง-กองหนุน ช่วยชนกับ “ทักษิณ-ตระกูลชินวัตร”

ฉะนั้นเมื่อถึงไทม์มิ่งที่กำหนดเอาไว้ การส่งมอบเก้าอี้นายกฯจาก “เศรษฐา” สู่ “แพทองธาร” ย่อมไม่มีสถานการณ์ต่อต้าน โดย “เศรษฐา” จำใจต้องยอมรับ และพร้อมเดินจากไปเอง