'สภา' ตีตก ญัตติก้าวไกล เสนอ ครม. ทำประชามติแก้รธน.

'สภา' ตีตก ญัตติก้าวไกล เสนอ ครม. ทำประชามติแก้รธน.

มติสภาฯ 262:162 ไม่เห็นด้วยกับ ญัตติ "ก้าวไกล" ชง "ครม." ทำประชามติแก้รธน. ด้าน "จาตุรนต์" กังวลทำประชามติแก้รธน. แต่แก้รธน.ไม่ได้ ควรแก้พ.ร.บ.ประชามติก่อน

ในการประชุมสภาฯ วาระพิจารณาญัตติของพรรคก้าวไกล ที่เสนอให้สภาฯพิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตอนหนึ่งในการอภิปรายของนายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ในการประชุมสส.พรรคเพื่อไทย เมื่อ 24 ต.ค. มีมติให้ส่งเสริมให้พิจารณาญัตติดังกล่าวในสภาฯ เพราะมีความสำคัญและสภาฯไม่จำเป็นต้องขัดขวางหรือทำให้ญัตติดังกล่าวไม่ได้รับการพิจารณา เพราะการแก้รัฐธรรมนูญต้องการความร่วมมือของทุกฝ่าย หากไม่มีฝ่ายค้านสนับสนุนอาจไม่สำเร็จ

 

นายจาตุรนต์ อภิปรายด้วยว่าการทำประชามติตามที่เสนอญัตติดังกล่าวเป็นความเข้าใจร่วมกัน เพราะเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากยกร่างใหม่ต้องทำประชามติ ปัญหาต้องพิจารณาคือ การตีความไม่ตรงกัน เรื่อง ทำประชามติ ในขั้นตอนใด หรือกี่ขั้นตอน หรือกี่ครั้ง อย่างไรก็ดีในประเด็นที่เสนอให้ทำประชามตินั้น มีคถามที่เกิดขึ้นคือ จะมีต่อการแก้รัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญต้องมีเจ้าของเรื่องคือรัฐสภา หากรัฐสภาไม่มีมติ การแสดงความต้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การทำประชามติจะมีผลได้อย่างไร

นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่ากระบวนการทำประชามติ ตามกฎหมาย คือ ทำประชามติที่ใช้กติกาแตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ที่ใช้เสียงข้างมากเท่านั้น แต่ปัจจุบันมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ประชามติให้ถือเกณฑ์ผ่านคือ การออกเสียงต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ คือ ต้องมีคนมาลงคะแนนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์

 

“การทำประชามติด้วยกติกาดังกล่าว ทำให้รัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติได้ยาก ทำให้ผู้ที่มีสิทธิไม่ออกมาใช้สิทธิเพื่อไม่ให้จำนวนผู้มาใช้สิทธิถึงจำนวนกึ่งหนึ่ง เท่ากับการทำประชามติจะไม่ผ่าน ดังนั้นผมเห็นว่าหากทำประชามติไม่แก้กฎหมายประชามติก่อนเป็นความเสี่ยงอย่างสูงให้ประชามติไม่ผ่าน เนื่องจากกติกาพิศดารไปกว่ารัฐธรรมนูญ 50 และรัฐธรรมนูญ 60 และมีปัญหาในกระบวนการและความสำเร็จในการจัดทำรัฐธรรมนูญ และกลายเป็นข้ออ้างของคนที่ไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ เท่ากับปิดโอกาสแก้ไขรัฐธรรมนูญ” นายจาตุรนต์ กล่าว

ทางด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชี่รายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายปิดญัตติตอนหนึ่งว่า พรรคก้าวไกลไม่กังวลว่าคณะกรรมการศึกษาประชามติของรัฐบาล จะใช้เวลาเท่าไร แต่กังวลว่าจะมีความเห็นต่างหรือเหมือนกับคำถามประชามติที่พรรคก้าวไกลเสนออย่างไร ทั้งนี้กรณีที่พบว่ามีการปรับเปลี่ยนกรรมการเพราะไม่ให้ สส.เข้าไปเป็นกรรมการศึกษา ดังนั้นหากจะให้ สส.ก้าวไกลแสดงความเห็นต่อรัฐบาล จำเป็นต้องใช้เวทีสภาฯ และถือเป็นการใช้เวทีทางแจ้งที่จะดำเนินการ

 

อย่างไรก็ดีหลังจากที่สส.อภิปรายครบถ้วนและรวมเวลาพิจารณากว่า 4 ชั่วโมง สภาฯ ได้ลงมติผลปรากฎว่า เสียงข้างมาก 262 เสียงไม่เห็นชอบ ต่อ 162 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง ถือว่าญัตติดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ