'ก้าวไกล' ไม่เชื่อ กก.ประชามติ เป็นตัวแทนจริง ขอ สภาฯ อย่าคว่ำญัตติ

'ก้าวไกล' ไม่เชื่อ กก.ประชามติ เป็นตัวแทนจริง ขอ สภาฯ อย่าคว่ำญัตติ

"ก้าวไกล" ย้ำจุดยืนต้องให้สภาฯ ขับเคลื่อนประชามติแก้รธน. วอน สส.อย่าคว่ำ ด้าน "เพื่อไทย" ได้โอกาส ย้ำจุดยืนแก้รธน. แต่ไม่เอาด้วยญัตติของก้าวไกล อ้างมีจุดด่างพร้อย- "สว."ไม่เห็นด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมสภาฯ ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่งเป็นประธานการประชุม เมื่อเวลา 10.50 น. ได้พิจารณา ญัตติขอให้สภาฯ พิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะ

ทั้งนี้นายพริษฐ์ เสนอญัตติดังกล่าวด้วยว่าการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความจำเป็นเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย โดยยอมรับว่าต้องเร่ิมจากการทำประชามติ เพื่อให้การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน ในกระบวนการของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% อย่างไรก็ดีในประเด็นดังกล่าวที่รัฐบาลดำเนินการ ตนมองว่าอาจถูกมองได้ ใน 3 ฉากทัศน์  คือ

1.อ่านใจรัฐบาลว่าเห็นด้วยกับพรรคก้าวไกล ในการทำและตั้งคำถามประชามติ ถือว่าการพิจารณาญัตตินั้นเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย และสส.รัฐบาลไม่ลำบากใจที่จะเห็นชอบเพื่อให้เกิดการทำงานคู่ขนานที่เป็นประโยชน์กับประชาชน 

2.รัฐบาลไม่แน่ใจว่าจะเดินหน้าทำประชามติอย่างไร หรือตั้งคำถามอย่างไร  กรณีที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการศึกษาการจัดทำประชามติ มีกรรมการ กว่า 30 คน ตนมองว่ายังไม่ใช่ และควรใช้สภาฯ ที่มาจากตัวแทนประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้งโดยตรงและมาจากหลากหลายชุดความคิดของสังคมเพื่อดำเนินการ

และ 3.รัฐบาลคิดต่างจากพรรคก้าวไกล ดังนั้นพรรคฝ่ายค้านต้องใช้กกลไกยื่นญัตติเพื่อให้เวทีรัฐสภาเป็นช่องทางที่ความเห็นได้รับการตอบสนองและความเห็นชอบที่ผ่านทั้งสภาฯ และวุฒิสภาตามกฎหมายประชามติ กำหนดว่า ครม.ต้องนำไปพิจารณา

นายพริษฐ์ กล่าวย้ำด้วยว่า ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% ส่วนข้อกังวลที่ห่วงว่าจะไม่มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ส.ส.ร.สามารถเปิดให้มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแนะนำ ให้คำปรึกษาได้ ขณะที่ข้อกังวลว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐและการปกครองนั้น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 255 ของรัฐธรรมนูญห้ามไว้ว่าการกระทำนั้นไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้พบว่ามีผู้ที่สนับสนุนญัตติดังกล่าว คือ สส.จากพรรคก้าวไกล ที่ย้ำว่ารัฐบาลควรรับฟังข้อเสนอจากสภาฯ ถึงการเดินหน้าทำประชามติ ที่ต้องเปิดกว้างในการรณรงค์ของประชาชนทุกฝ่าย รวมถึงไม่ปิดโอกาสแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะจะกระทบต่อความชอบธรรมในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

อาทิ นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนขอให้สภาฯ ทำสิ่งที่ถูกต้อง แม้บางคนจะไม่สามารถให้ความเห็นด้วยได้ แต่ขอให้งดออกเสียง อย่าคว่ำ หากจะคว่ำขอให้ไปคว่ำที่สว. เพื่อรักษาเกียรติของสส. ตัวแทนประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการอภิปรายของ สส.พรรคร่วมรัฐบาล นั้นแสดงความชัดเจนว่าไม่สนับสนุนญัตติของพรรคก้าวไกล เนื่องจากอาจสร้างจุดด่างพร้อยให้กับกระบวนการทำประชามติ เนื่องจากกลไกที่ใช้รัฐสภาต้องอาศัยความเห็นชอบของวุฒิสภาด้วย พร้อมเรียกร้องให้สังคมออนไลน์หยุดแปรความการลงมติไม่เห็นด้วยกับญัตติของพรรคก้าวไกล ว่า ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติหรือแก้รัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร.

โดย น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ด่างพร้อย เพราะต้องฟังเสียงของสว. ได้ กังวลว่า สว.ชุดปัจจุบันจะยอมให้ทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะมีที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2560 เห็นว่าควรทำประชามติด้วยวิธีการตามาตรา 9(2) ใช้มติของครม. เพราะเป็นกลไกไม่เห็นชอบของสว. และเป็นการย้ำว่าการทำประชามติจะเกิดขึ้นแน่นอน ส่วนคำถามที่พรรคก้าวไกลกำหนด ไม่ควรเสนอแต่ควรเสนอแนะ เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระ ไม่ชี้นำ

ทางด้านนายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปราย ว่าพรรคเพื่อไทยสนับสนุนการทำประชามติ และแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทั้งนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการฯ มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ เพื่อดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวขอเวลาทำงานถึงสิ้นปี และขณะนี้เหลืออีก 2 เดือน ซึ่งตนเชื่อว่าคณะทำงานไม่ต้องการซื้อเวลาแน่นอน  หวังว่าพรุ่งนี้จะไม่มีข่าวที่ระบุว่าพรรคร่วมรัฐบาลคว่ำญัตติเพื่อขวางการทำประชามติ

 

“พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนมั่นคงว่าจะไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นอาจจะแตกต่างในคำถามประชามติ ส่วนญัตติดังกล่าวที่จะประสบความสำเร็จต้องส่งให้วุฒิสภา และครม.ใช้ดุลยพินิจว่าจะเห็นชอบหรือไม่ ผมมองว่าความสำเร็จเกิดไม่มาก ดังนั้นควรรอการทำงานของคณะกรรมการประชาติ เพื่อให้โอกาสเกิดความสำเร็จของการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย โดยส.ส.ร. และยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยไม่บิดพริ้วสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนตอนหาเสียง” นายนพดล กล่าว

เช่นเดียวกับ สส.พรรคร่วมรัฐบาล อาทิ  นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ , นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ที่อภิปรายไม่เห็นด้วยเนื่องจากการเสนอญัตติดังกล่าว พร้อมระบุว่าอย่าแปรความว่าการไม่เห็นชอบญัตติดังกล่าวคือการขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญหรือ ออกเสียงประชามติ เพราะขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการ

 

อย่างไรก็ดีการอภิปรายของสส.ในญัตติดังกล่าวที่ลงชื่อไว้เบื้องต้นมีกว่า 40 คน.